Case Study

Avatar

miss arisa March 18, 2019

 ส่องการหาเสียงออนไลน์ โค้งสุดท้ายก่อน เลือกตั้ง 62

การเลือกตั้งปี 62 นับเป็นครั้งแรกที่มีการหาเสียงโดยใช้สื่อโซเชียลและช่องทางออนไลน์เลยก็ว่าได้ ตามกฏเดิมของกกต.จะไม่อนุญาตให้ซื้อสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการหาเสียง เมื่อเริ่มมีข่าวการเลือกตั้งประเด็นการหาเสียงออนไลน์ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบันสื่อโซเชียลก็มีผลกับผู้คนเท่าๆกับวิทยุโทรทัศน์ไปแล้ว

ซึ่งในการหาเสียงครั้งนี้ กกต.อนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ได้ โดยมีระเบียบการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญอยู่ 2 ข้อดังนี้

วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ ๗ ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด แล้วแต่กรณี สามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง หรือมอบหรือว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคล ดำเนินการแทนได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้ (๑) เว็บไ ซต์ (๒) โซเซียลมีเดีย (๓) ยูทูป (๔) แอปพลิเคชัน (๕) อีเมล์ (๖) เอสเอ็มเอส (๗) สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท

ข้อ ๘ การหาเสียงเลือกตั้งตามข้อ ๗ ให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด แล้วแต่กรณี สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของ พรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้ อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าด้วย [ อ้างอิง ]

ก่อนการ Boost Post แต่ละครั้งจะต้องแจ้งช่องทางและจำนวนเงินที่ใช้ต่อกกต.ก่อน เพื่อให้สอดคล้องคลองกับระเบียบ กกต. ที่กำหนดว่าผู้สมัคร ส.ส. เขตสามารถใช้งบหาเสียงได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อคน รวมทั้งพรรคการเมืองไม่เกิน 35 ล้านบาทต่อพรรค อาจจะดูเหมือนเป็นจำนวนเงินที่เยอะ แต่อย่าลืมว่านอกจากสื่อออนไลน์ ยังมีป้ายหาเสียง รถหาเสียง การจัดเวทีปราศัยทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละกิจกรรมใช้เงินไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าภายใต้งบอันจำกัดนี้ แต่พรรคเลือกคอนเทนต์แบบใดเอามาโปรโมทในช่องทางออนไลน์โดยเฉพะา Facebook กันบ้าง

*บทความนี้ไม่ได้สนับสนุนพรรคใดและอาจไม่ได้นำเสนอครบทุกพรรคเนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ การเรียงลำดับ จัดเรียงตามตัวอักษร

พรรคชาติไทยพัฒนา

สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนาด้วยตัวนโยบายหลักเน้นไปที่การเกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างในเวทีดีเบตของ The Standard คุณวราวุธ ศิลปอาชา ก็ได้มีการพูดถึงและเน้นย้ำเกี่ยวกับนโยบายหลายข้อที่จะช่วยส่งเสริมเกษตรและนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญหาพื้นบ้าน ตัววิดีโอที่ใช้หาเสียงก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมโดยกล่าวถึงนโยบายการเกษตรที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆขอเกษตรในแต่ละภูมิภาค การสื่อสารก็ไปในโทนที่มีความเป็นมิตรและอบอุ่น ส่วนคอนเทนต์อื่นๆในเพจก็ไปในทิศทางเดียวกัน


พรรคชาติพัฒนา

พรรคชาติพัฒนามีการลงวิดีโอครั้งละประมาณ 2-3 ตัว โดยใช้ระยะเวลาการบูสต์โพสที่ค่อนข้างยาว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์บ่อย เนื้อหาของวิดีโอเป็นบรรยากาศการหาเสียงด้วยกันทั้งคู่ จุดโฟกัสยังคงอยู่ที่ตัวหัวหน้าพรรคคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พร้อมชูสโลวแกนของอดีตนายกพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ No Problem อย่างสม่ำเสมอ และเน้นสื่อสารกับฐานเสียงเดิมที่จังหวัดราชบุรี


พรรคประชาธิปัตย์

พอขยับมาที่พรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์จะเห็นว่า มีเพจแยกค่อนข้างเยอะ ทั้งแพจ Official ของพรรค เพจของหัวหน้าพรรค คุณอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ (เพจ Like 2.2 ล้าน มีจำนวนเยอะกว่าเพจของพรรค) เพจประชาธิปัตย์ New Dem รวมความเคลื่อนไหวของสส.รุ่นใหม่ และเพจส่วนตัวของสส.แต่ละเขต คอนเทนต์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรูปแบบของวิดีโอ แต่ใจความที่ใช้สื่อสารของประชาธิปัตย์จะแบ่งเป็น 3 แนวทางดังนี้

  1. เพจ Official จะเน้นสื่อสารนโยบายพรรค โครงการที่เป็นรูปธรรม
  2. เพจผู้สมัครเป็นอดีตสส. เนื้อหาของวิดีโอจะเป็นแนวการลงพื้นที่ บอกเล่าโครงการในอดีตที่เคยทำมา ความผูกพันธ์กับพื้นที่ที่เคยดูแล
  3. เพจผู้สม้ครหน้าใหม่ เน้นปูพื้นหลัง การศึกษา ปณิธานในการทำงาน และนโยบายในด้านที่ตนเองจะเข้าไปดูแล โดยเฉพาะกลุ่ม New Dem จะมีการผลิตสื่อที่มีความครีเอทีฟเพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่

การบูทส์โพตส์เรื่องของความถี่จะเน้นหนักที่ตัวคุณอภิสิทธ์มากกว่าเพจพรรค มีการรันวิดีโอสม่ำเสมอ ครั้งละไม่ต่ำว่า 3 ตัว ซึ่งในเพจของผู้สมัครเขตใหญ่ๆก็มีจำนวนบูสต์พอๆกัน จะต่างกันก็เพียงแค่ Mood&Tone อย่างที่เราได้ตั้งข้อสังเกตไป


พรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่ได้มีซีนในการออกดีเบตหรือไปให้สัมภาษณ์ในช่องทางออนไลน์มากนัก แต่การวางแผนทำการสื่อสารออนไลน์ก็ดูมีลำดับมีขั้นมีตอนของตัวเอง โดยในช่วงต้นเดือนมีนาคมจะยังเห็นวิดีโอที่ใช้หาเสียงของพรรคพลังประชารัฐเป็นแนวการนั่งพูดคุยถึงนโยบายพรรค โดยมี Mood&Tone ไปในทางเดียวกันทั้งหมด และปล่อยออกมาพร้อมๆกันเป็นชุด

ส่วนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านที่พรรคพลังประชารัฐทัวร์ปราศัยในหลายๆจังหวัดอย่างที่เราเห็นในข่าว ก็เริ่มมีการปล่อยวิดีโอหาเสียงที่เป็นภาพบรรยากาศการปราศรัย แคปชั่นมีการดึงโควตจากเวทีขึ้นมาเน้นย้ำ และมีการสื่อสารเรื่องนโยบายเรื่องปากท้อง จะว่าไปพลังประชารัฐก็มีการคุมโทนการหาเสียงภาพรวมของพรรคให้ออกมาในทิศทางเดียวกันได้ดี นอกจากนี้ยังมีการเปิดเพจแยกเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐอีกหลายเพจ อาทิ เพจหลานลุงตู่+ FC, ลุงตู่ตูน ที่พบมีการบูสต์โพสต์คอนเทนต์หาเสียงของพรรคพลังประชารัฐอยู่หลายโพสต์ไม่แพ้เพจหลักของพรรคเลยทีเดียว


พรรคเพื่อไทย

เท่าที่เราเก็บข้อมูลการบูสต์โพสต์ Facebook พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะมีจำนวนคอนเทนต์ที่บูสต์สูงสุดในทุกพรรค โดยเน้นหนักไปที่เพจของพรรค และเพจของคุณหญิงสุดารัตน์ จำนวนโพตส์ที่บูสต์พร้อมๆกันอยู่ที่ 8-11 ตัว ที่สำคัญคือมีการสื่อสารที่หลากลายรูปแบบ ทั้งโพสต์ที่เป็นอัลบัมภาพ ภาพโควตเดี่ยวๆ infographic และวิดีโอ ส่วนมากจะเป็นคอนเทนต์ชิ้นเดิมแต่กระจายบูสต์ทั้ง 2 เพจเท่าๆ

อีกจุดสังเกตคือพรรคเพื่อไทยที่ส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ แต่มีเพียงเพจของคุณหญิงสุดารัตน์เท่านั้นที่มีการบูสต์โพสต์สื่อของพรรค โดยอีก 2 ท่าน คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์และคุณชัยเกษม นิติสิริ มีปรากฏเข้ามาในสื่อการหาเสียงของพรรค แต่ไม่มีการบูสต์โพสต์ส่วนตัวทั้งที่ เพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีเพจไลค์ถึง 6.9 แสน มากกว่าเพจของคุณหญิงสุดารัตน์ด้วยซ้ำไป

ส่วนรูปแบบของการทำคอนเทนต์ถ้าใครพอจะจำได้ว่าเป็นรูปแบบที่พรรคเพื่อไทยใช้มาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทยแล้วก็คือ เน้นเลือกคำที่สามารถฮุกคนอ่านได้ ขยายออกมาเป็นตัวใหญ่ๆ ถ้าเป็นป้ายหาเสียงตามท้องถนนก็จะเป็นพื้นหลังสีน้ำเงินเด่น ชัดเจน กับสื่อออนไลน์เองก็ยังคงทำแบบเดิมอยู่ คำไหนเด็ด คำไหนโดนจะต้องเน้นออกมาเป็นตัวหนังสือใหญ่ๆ แม้คนที่ไม่เปิดดูวิดีโอก็จะเห็นได้เพียงแค่เลื่อนผ่าน


พรรคภูมิใจไทย

สำหรับพรรคภูมิใจไทยหลายๆคนอาจจะจำนโยบายได้ก่อนชื่อพรรคหรือผู้สมัครด้วยซ้ำไป ด้วยนโยบายที่ค่อนข้างเอาใจคนรุ่นใหม่ สื่อต่างๆที่ออกมาก็ดูมีความทันสมัย วิดีโอหาเสียงที่พูดถึงนโยบายหลักของพรรคทั้งเรื่องกัญชาเสรี, Grab ถูกกฏหมาย, การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งวิดีโอตัวนี้ก็เป็นตัวหลักที่ใช้บูสต์ยาวตลอดการหาเสียง

ส่วนกลุ่มคนในต่างจังหวัดที่อาจจะไม่ได้อินกับนโยบายที่กล่าวไปแล้ว ภูมิใจไทยก็เน้นนำเสนอตัวหัวหน้าพรรค คุณอนุทิน ชาญวีรกูล กับกิจกรรมการลงพื้นที่หาเสียง กิจกรรม CSR เรื่องโรคหัวใจที่พรรคทำต่อเนื่องมา

สัดส่วนการบูสต์โพสต์จะอยู่ที่ 2 เพจหลักๆได้แก่เพจคนภูมิใจไทย คอนเทนต์ที่บูสต์จะเป็นนโยบายพรรคกับวิดีโอบรรยากาศการปราศัย กับ เพจอนุทิน ชาญวีรกูล คอนเทนต์จะเกี่ยวกับวิศัยทัศน์ของคุณอนุทิน ส่วนเพจพรรคภูมิใจไทยถึงแม้จะเปิดมาก่อนเพจคนภูมิใจไทยแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก พรรคจึงใช้เพจคนภูมิใจไทยในการสื่อสารเป็นหลักแทน


พรรคเศรษฐกิจใหม่

ลุงมิ่งกำลังมาแรงสุดๆจนพรรคเศรษฐกิจใหม่สร้าง เพจลุงมิ่ง FC ขึ้นมาเพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารอีกเพจ หลังจากไปออกดีเบตของช่อง ONE31 ชื่อของคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และนโยบายของเขาก็เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง คนอายุ 30+ ยังคงจำผลงานของเขาได้ และรับรู้ถึงความสามารถของหัวหน้าพรรคท่านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนพอได้ยินนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถแก้ปัญหาหลายๆอย่างในปัจจุบันได้ก็ช่วยกันเชียร์อัพ ทำให้ชื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่เป็นที่จดจำในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างที่เล่าไปว่านโยบายเกือบทั้งหมดนั้นคิดริเริ่มโดยคุณมิ่งขวัญเป้าความสนใจโดยรวมของพรรคจึงมาอยู่ที่คุณมิ่งขวัญเป็นหลักด้วย ซึ่งเมื่อพรรคจับจุดแข็งตรงนี้ได้ก็เน้นบูสต์โพสต์หาเสียงไปที่ 2 เพจที่เกี่ยวกับคุณมิ่งขวัญคือ เพจมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ เพจลุงมิ่ง FC แน่นอนว่าเพจ Official ก็จะมีความเป็นทางการกว่า เน้นแผนนโยบาย

ส่วนเพจลุงมิ่ง FC จะสื่อสารอย่างเป็นกันเองกว่า เน้นให้เกิด Viral ดึงฟุตเทจจากรายการที่คุณมิ่งขวัญไปออกมาเป็นคอนเทนต์ที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ถ้ามองอีกด้านพรรคเศรษฐกิจใหม่นั้นส่งสส.เขตลงสมัครถึง 340 เขต ซึ่งไม่น้อยเลยทีเดียวแต่การสื่อสารนั้นแทบจะไม่ได้เอ่ยถึงตัวผู้สมัครสส.แต่ละเขตเท่าไหร่ นั่นก็เป็นไปได้ว่าพรรคเศรษกิจใหม่อาจจะฝากความหวังไว้กับจำนวนเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์เสียมากกว่า


พรรคเสรีรวมไทย

พรรคเสรีรวมไทยเป็นอีกพรรคที่เรียกได้ว่าชูหัวหน้าพรรคมากกว่านโยบายและผู้สมัครสส.เขต แต่ถ้ามองกันจริงๆแล้วเสรีรวมไทยมีผู้สมัคร สส.เขตที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุ 30 ต้นๆ อยู่หลายคนทีเดียว จึงน่าเสียดายที่พรรคไปเน้นที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์โดยไม่ได้กระจายให้ความสำคัญกับผู้สมัครคนอื่นๆเท่าที่ควร

อย่างสื่อที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่ก็เป็นคลิปให้สัมภาษณ์พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ที่ดุเดือดและดุดัน จะมีเห็นผู้สมัครในเขตต่างๆทำสื่อเกี่ยวกับนโยบายลงเพจของตนเองบ้างประปราย จริงๆแล้วถ้าพวกเขาได้มีเวทีหรือพื้นที่สื่อทีวีหรือออนไลน์มากกว่านี้ก็น่าจะเรียกความสนใจจากคนรุ่นใหม่ได้เพิ่มขึ้นอีกส่วน


พรรคอนาคตใหม่

พรรคอนาคตใหม่เริ่มออกสื่อและเปิดตัวคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่ราวๆเดือนกันยายน หลังได้รับอนุมัติจากกกต.รับรองการจัดตั้งพรรคการเมือง เนื่องจากเป็นพรรคที่รวมคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว พรรคจึงใช้สื่อโซเชียลในการสื่อสารมาตั้งแต่แรกเริ่ม และเป็นพื้นที่หลักตลอดการหาเสียง แต่อย่างที่ทราบกันว่าแค่สื่อออนไลน์นั้นยังไม่เพียงพอต่อการสร้างชื่อพรรคให้เป็นที่รู้จัก คุณธนาธรตระเวนออกรายการโทรทัศน์เพื่อให้สัมภาษณ์เยอะมาก ส่วนสื่อโซเชียลแทบจะปล่อยให้รันด้วยตัวเนื้อหา คอนเทนต์ที่ต่อยอดมาจากรายการเหล่านั้นเอง โดยมีการบูสต์โพสต์ผ่านเพจของพรรคและเพจธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจค่อนข้างน้อย

คอนเทนต์ที่พรรคเลือกขึ้นมาบูสต์โพสต์อย่างเป็นจริงเป็นจังจึงเป็นวิดีโอที่พรรคผลิตขึ้นมาใหม่ เพื่ออธิยายนโยบายหลักให้เห็นภาพมากขึ้น อย่างตัวล่าสุดที่เป็นวิดีโอที่นำเสนอทางออกเรื่องการศึกษาและปัญหาจราจร ซึ่งยิงบูสต์ยาวประมาณ 1 สัปดาห์ พร้อมๆกับไปกับช่องทางใน YouTube ความเปลี่ยนแปลงของการสื่อสารของอนาคตใหม่ในช่วงก่อนประกาศเลือกวันเลือกตั้งและหลังมีจุดที่พอสังเกตได้คือ คอนเทนต์ช่วงหลังจะเน้นสื่อสารนโยบายมากขึ้น เปิดตัวผู้สมัครในปาร์ตี้ลิสต์คนอื่นๆให้มีบทบาทมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น คุณช่อ พรรณิการ์,ดร.สุรเชษฐ์ เป็นต้น

ฝั่งการสื่อสารของผู้สมัครสส.เขตนั้น ถ้าเราเสิร์ชใน Facebook ด้วยคำว่า อนาคตใหม่ จะเจอเพจอนาคตใหม่จังหวัดต่างๆเกือบทุกภูมิภาค ซึ่งแต่ละเพจก็มีการบูสต์โพสต์หาเสียงในเพจของตนเองบ้าง ส่วนมากจะเป็นคอนเทนต์แนะนำตัวและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนั้นๆ และนอกจากคอนเทนต์ที่พรรคผลิตออกมาเพื่อหาเสียง ยังมีคอนเทนต์ที่เหล่าฟ้าทำเพื่อมาซับพอร์ตพ่อของพวกเธออีกมากมาย จนคุณตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ เคยกล่าวใน podcast ของ The Standard ว่าอนาคตใหม่เหมือนมีดาวน์ไลน์ที่ช่วยพรรคหาเสียงอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้ก็เป็นผลพวงมาจากผู้ติดตามที่ใช้โซเชียลในการสื่อสารเป็นหลักอยู่แล้ว เราจึงเห็นการแชร์ต่อ การชักจูงโดยกองเชียร์อนาคตใหม่บนฟีดได้มากกว่าพรรคอื่นๆ


นี่เป็นเพียงข้อมูลเราที่รวบรวมได้จาก Faccebook Info & Ads เป็นหลักก็ยังเห็นได้ถึงความตื่นตัวในการใช้สื่อโซเชียลของทุกพรรคการเมือง จริงๆแล้วการสื่อสารออนไลน์ช่องทางอื่นๆไม่ว่าจะเป็น YouTube, Twitter ก็พบเห็นคอนเทนต์หาเสียงมาสม่ำเสมอเช่นกัน เท่านี้ก็น่าจะพอให้เห็นกลยุทธ์ในการสื่อสารของแต่ละพรรคกันบ้างแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งนี้การหารเสียงออนไลน์อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ทั้งสำหรับนักการเมือง ประชาชน และแม้แต่ตัวแพลตฟอร์มเองก็ตาม แต่ต่อไปการเมืองจะยิ่งขาดจากโซเชียลมีเดียไปไม่ได้แน่นอน และเราก็เชื่อว่าขั้นต่อไปจากการหาเสียง ก็คือการลงคะแนนโหวตออนไลน์ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินความเป็นจริงอีกต่อไป.

เรียบเรียงโดย RAiNMaker

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save