คนทำคอนเทนต์หลายวงการ โดยเฉพาะ Blogger เริ่มหันมามองการทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์มากขึ้น ด้วยหลายปัจจัยของบรรดา Social Media ที่เราควบคุมไม่ได้ จึงมาสร้างบ้านไว้ในที่ของตัวเองดีกว่า
ถึงแม้สมัยนี้จะมีเว็บไซต์สำเร็จรูปให้เลือกใช้งานมากมาย หรืออย่าง WordPress ที่เป็น CMS ยอดนิยมสำหรับเว็บคอนเทนต์ตั้งแต่สเกลเล็กไปยันสำนักข่าวระดับโลก
แต่การที่จะเริ่มทำเองก็ยังมี learning curve ที่สูง และถ้าจะให้สวยงามถูกใจนั่นยิ่งต้องมีสกิลในการทำเว็บและประสบการณ์หลายด้าน เป็นเหตุผลที่หลายคนมักจะจ้างผู้เชี่ยวชาญทำเว็บไซต์ให้
ในบทความนี้เราจะมาคุยกันว่า ถ้าเราเป็น Blogger หรือแบรนด์ SME ที่อยากได้เว็บสเกลเล็กมาใช้งาน เป็น Checklist เบื้องต้นที่จำเป็นต้องรู้ก่อนที่จะไปจ้างใครสักคนทำเว็บไซต์ จะได้ไม่ blank นะเออ
เรื่องของ Theme หน้าตาของเว็บไซต์
เรื่องแรกที่นำมาคุยกันเป็นในส่วนของการออกแบบ เพราะเป็นเรื่องที่คนจ้างมักเป็นกังเวลและอยากได้หลายสิ่งไปหมด เหมือนผู้หญิงเลือกซื้อเสื้อผ้าให้เข้ากับชุดประมาณนั้น
เบื้องต้นให้คุณลองหา theme ที่ชอบในใจเก็บไว้จาก themeforest สัก 3-4 ชิ้น โดยดูในเรื่องของ layout ที่ชอบเป็นหลัก รองลงมาคือสี และฟีเจอร์ต่างๆ พร้อมกันกับให้หา reference ของเว็บไซต์ที่เราถูกใจ สัก 3-4 เว็บเอาไว้ ในส่วนนี้จะทำให้เริ่มต้นคุยกันเบื้องต้นกับผู้รับจ้างได้เร็วและง่ายขึ้นมาก
อีกหนึ่งสิ่งเรื่องใหญ่มากที่คุณต้องรู้คือการขึ้น theme หลักของเว็บไซต์นั้นเบื้องต้นแบ่งเป็นสองรูปแบบดังนี้ :
ซื้อ theme จาก store มา modify
ให้ผู้รับจ้าง เลือกหยิบ theme จากรูปแบบและฟีเจอร์ตามที่เราอยากได้ โดยเค้าจะนำ theme มาติดตั้งและ modify จนได้อย่างที่เราต้องการ
ข้อดี : มีความสำเร็จรูปค่อนข้างมากต้นทุนในการทำเว็บไซต์จะไม่สูง และใช้เวลาในการพัฒนาน้อย (ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการ modify เยอะแค่ไหน) รวมไปถึงเว็บไซต์ของผู้ขาย theme เอง จะคอยหมั่นอัปเดตอยู่ตลอด
ทำให้เมื่อ WordPress มีการอัปเดต เราก็สามารถกดอัปเดต theme ตามได้ทันที และได้การ support จากผู้พัฒนาด้วย
ข้อเสีย : เว็บไซต์อาจจะช้าเกินความจำเป็น เนื่องจากจะมีฟีเจอร์หลายส่วนของ theme ที่เค้ายัดมาแล้วเราอาจจะไม่ได้ใช้ แต่ยังต้องโหลดในส่วนนั้นขึ้นมาอยู่ดี และการ modify นั้นมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อาจจะไม่ได้สามารถแก้ไขทุกอย่างได้ตามใจนึก
สร้าง theme ขึ้นมาใหม่
ให้ผู้รับจ้างออกแบบ theme ใหม่ตั้งแต่แรก จะมี process ของการออกแบบเว็บไซต์เพิ่มขึ้นมา ผู้รับจ้างจะต้องออกแบบหน้าเว็บมาให้เราดู จากนั้นถึงจะเริ่มเขียน theme ขึ้นมา
ข้อดี : ได้เว็บไซต์ที่มีความ unique สูงมาก เนื่องจากเราสามารถเลือกออกแบบได้ดั่งใจ คล้ายกับการตัดสูทใส่เอง และเว็บไซต์ของเราจะโหลดเฉพาะส่วนที่จำเป็นต้องโหลด ทำให้มันเบาและเร็ว
ข้อเสีย : การมี process ในเรื่องของการออกแบบเพิ่มมา และการเริ่มพัฒนา theme ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่แรกทำให้ใช้เวลาในการพัฒนาเว็บไซต์นานมากขึ้น แน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นด้วย
เรื่องของฟีเจอร์ต่างๆ และท่ายากบนเว็บไซต์
หลายครั้งที่เราไปเจอฟีเจอร์เจ๋งๆ บนเว็บคอนเทนต์ที่เราชอบแล้วอยากให้มีบนเว็บของเราบ้าง เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราต้องคุยให้จบในครั้งแรก หรือในขั้นตออนที่เราประกาศหาคนทำเว็บเลยด้วยซ้ำ
เนื่องจากผู้พัฒนาหรือบริษัทที่รับทำเว็บอาจจะเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน และมี solution สำหรับการทำเว็บที่ถนัดต่างกัน ถ้าคุณหาคนทำเว็บไซต์โดยแจ้งฟีเจอร์ที่คุณอยากได้ตั้งแต่ตอนประกาศ จะทำให้คุณมีโอกาสได้คนทำเว็บที่ถนัดกับสิ่งที่คุณต้องการ ซึ่งมีแนวโน้มที่งานจะราบรื่นสุดๆ
แต่ถ้าคุยกันจนจะจบผู้พัฒนาพร้อมที่ทำเว็บแล้ว อยู่ๆ คุณบอกว่า อยากให้เว็บไซต์มีขายของออนไลน์ด้วย คุณอาจจะวูบลงไปตรงนั้นเลยก็เป็นได้ เนื่องจากเว็บ e-commerce เป็นสเกลที่ค่อนข้างใหญ่ และใช้เวลาคุยนานมาก อาจจะต้องกลับมาวางแผนกันใหม่ตั้งแต่แรกเลยทีเดียว
เรื่องของ hosting และ domain
ในการทำเว็บไซต์จะมีอยู่สองชื่อที่ทำให้คุณงง คือ hosting และ domain อธิบายสั้นๆ ดังนี้
hosting ในที่นี้คือสถานที่ของ harddisk ที่เราจะนำข้อมูลบนเว็บไซต์ของเราไปวางไว้ เปรียบเสมือนพื้นที่ของบ้าน สามารถโยกย้ายข้อมูลไปที่ไหนก็ได้ ถ้าวันหนึ่งคุณอย่างเปลี่ยนที่เช่าของ harddisk ก็สามารถทำได้ เหมือนถ้าคุณอยากย้ายบ้านก็จ้างเฮอลิคอปเตอร์มายกบ้านคุณไปวางในพื้นที่ใหม่
domain ชื่อของเว็บไซต์ของคุณ ที่คุณต้องไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งที่ให้บริการจด domain ระบุชื่อของบ้านคุณ และจะไม่มีทางซ้ำกับชื่อของเว็บอื่นในโลก
ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อที่จะบอกว่าคุณ ***ควรจด hosting และ domian ด้วยชื่อและอีเมลของคุณเอง*** ตรงนี้สำคัญมากที่สุด เพราะชื่อและอีเมลจะใช้แสดงความเป็นเจ้าของ เพราะหลังจากทำเว็บไซต์เสร็จหรือเปลี่ยนคนทำเว็บไซต์ อย่างน้อยคุณก็มีข้อมูลและหลักฐานว่าเว็บนี้เป็นของคุณ
คล้ายกับคุณไปจ้างคนอื่นวิ่งจดบริษัทให้หน่อย คุณอาจจะให้คนอื่นช่วยลงทะเบียนให้ก็ได้ แต่ต้องย้ำไปเลยว่าต้องใช้ชื่อและอีเมลของคุณเท่านั้น
เรื่องของการดูแลรักษาหลังจากได้เว็บไซต์มาแล้ว
การดูแลรักษาหลังจากคุณจ้างทำเว็บไซต์แล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยเช่นกัน เนื่องจากเทคโลยีมีการอัปเดตตลอด ทั้ง plugin และ core ของ WordPress เองก็มีเวอร์ชั่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ รวมทั้งเราอาจจะเผลอไปทำท่าพิศดารจนเว็บเกิดพังขึ้นมาได้
มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นกับนักเขียนของ RAiNMaker : ทำไมเราจึงควรลงแต่ Plug-in WordPress ที่น่าเชื่อถือ เล่าประสบการณ์โดน Redirect ไปเว็บโป๊
โดยทั่วไปแล้วผู้รับจ้างทำเว็บไซต์จะมีแถมการ support เว็บไซต์ด้วย ประมาณ 3-6 เดือน แล้วแต่ตกลง ซึ่งหลังจากนั้นคุณอาจจะไม่ได้ซื้อ support ต่อก็ได้ แต่คุณต้อง make sure ว่าสามารถดูแลเว็บไซต์และทำการอัปเดตต่อเองได้ในขณะที่หมดหน้าที่ของผู้พัฒนาแล้ว
ถ้าคุณคิดว่าตัวเองไม่ได้มี sense ในเรื่องของเทคโนโลยีมาก หรือไม่ต้องการเสียเวลาลองผิดลองถูก ก็แนะนำให้ซื้อ support จากผู้พัฒนาเพื่อให้เค้าดูแลให้เมื่อเกิดปัญหา ซึ่งราคาของการดูแลก็แล้วแต่สเกลของเว็บไซต์
ถ้าคุณแน่ใจว่าเว็บจะไม่ได้เกิดปัญหาบ่อยหรือพอที่จะดูแลเองได้ ก็ไว้ค่อยจ้าง maintenance ในคราวที่จำเป็นก็ได้ครับ เช่น การเปลี่ยนรุ่นครั้งใหญ่ของ WordPress หรือเว็บไซต์ติดไวรัส เป็นต้น
เรื่องของการใช้งานให้ถูกต้อง
ถึงแม้ว่า WordPress จะเป็น CMS ที่ใช้งานง่าย และ friendly ต่อคนทำคอนเทนต์สุดๆ แต่ก็จะยังมีบางเรื่องที่มีความจุกจิกในฐานะ admin ของเว็บไซต์ และอาจจะมีฟีเจอร์บางอย่างเฉพาะบนเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งตรงนี้ถ้าคุณไม่ได้มีประสบการณ์กับการเป็น admin ของเว็บไซต์ จำเป็นต้องให้ผู้พัฒนาสอนการใช้งานอย่างถูกต้องให้คุณด้วย
ข้อมูลเบื้องต้นที่คุณควรจัดการเป็น
- การจัดการ role ของ user
- การใช้ภาพ, ขนาดภาพ, การตั้งชื่อภาพ
- ทุกอย่างที่ทำให้เว็บของคุณ SEO ดี
- การสร้าง post และ page บนเว็บไซต์
- การเขียนบทความ
- การอัปเดตเวอร์ชั่นใหม่ของ WordPress, Theme และ Plugin
และถ้าคุณมีนักเขียนในทีมที่ใช้เว็บไซต์เดียวกันหลายคน ควรทำหน้า guide ขึ้นมาสำหรับนักเขียน เพื่อที่จะได้ใช้งานอย่างถูกต้องและไปในทางเดียวกัน