เทคนิคการพูดให้ชัดจากนักพูด สำหรับ Blogger, YouTuber และข้อผิดพลาดที่เราทำบ่อย

นอกจากจะเรื่องวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งที่ผู้เขียนเรียนก็คือเรื่องของการสื่อสารและการพูด (วาทวิทยา) จากคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจความสำคัญของการพูดให้ชัด ซึ่งต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าเมื่อก่อน คนที่จะพูดออกสื่อก็คือคนที่ผ่านการเรียนอะไรแนว ๆ นี้มาเยอะมาก เพราะเมื่อก่อนคนจะเป็นพิธีกร เป็นโฆษก ออกทีวีออกวิทยุนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ ในขณะที่ทุกวันนี้ถ้าเราจะเป็น YouTuber หรือ Blogger หรือแม้กระทั่ง Live ผ่านหน้า Facebook ต่าง ๆ ไม่จำเป็นจะต้องทำงานเป็นพิธีกรโทรทัศน์ แต่แค่มีโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายวิดีโอ เราก็สามารถสื่อสารให้กับคนจำนวนมากได้

ผู้เขียนได้เรียนกับอาจารย์โอ๋ หรือ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ ซึ่งเป็นนักพูดที่เก่งมาก ๆ คนหนึ่งที่ผู้เขียนเคยรู้จัก พูดชื่อหลายคนอาจจะนึกไม่ออก แต่ถ้าใครที่ดูเลือดข้นคนจาง อาจารย์โอ๋คือคนที่รับบทนักข่าวในฉากสัมภาษณ์ภัสสร ซึ่งก็เป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์ว่าทำไมเล่นได้สมบทบาทและวิธีการพูดดูน่าชื่นชมมาก

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่พูดไม่ชัดและชอบลืมตัวออกเสียง ร ล ไม่ถูกต้องบ่อยครั้ง (ขนาดพูด TEDx ยังพูดว่า ดาวเคาะห์ แทนที่จะเป็นดาวเคราะห์) แต่หลังจากที่ฟังเทคนิคกับอาจารย์เพียงแค่ 15 นาที สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือผู้เขียนพูดชัดขึ้นและสามารถออกทีวี และให้สัมภาษณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เพราะพูดชัด เท่ ดูฉลาด และมีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือขึ้นมาทันที

แล้วการพูดชัดสำคัญอย่างไร

หลายคนอาจจะรู้สึกว่าการพูดไม่ชัดเป็นสิ่งที่ก็ไม่น่ากังวลอะไร แต่จริง ๆ แล้วการพูดให้ชัดนั้นทำให้เราดูเป็น Profressional มากขึ้น และดูแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เวลาเราพูดออกกล้องในช่องทาง YouTube, Vlog, Blog ของเราเอง หรือแม้กระทั่งเวลาทำแล้วดัง ต้องไปออกทีวี ต้องไปเสวนา หรือไปให้สัมภาษณ์ในที่ต่าง ๆ การพูดชัดก็เป็นสิ่งที่ทำให้ ซึ่งรูปแบบของการพูดไม่ชัดเท่าที่ได้ฟังอาจารย์อธิบายมานั้นมีหลายรูปแบบแต่สิ่งที่คนมักจะพลาดบ่อยที่สุดก็คือ พูดเสียงเบา (อันนี้เกิดจากการไม่ Project เสียง พูดในลำคอ) และพูด ร และ ล ไม่ชัด ออกเสียงคำควบกล้ำไม่ได้ ซึ่งทำให้เวลาเราพูด เสียงจะออกมาแนว ๆ “สะ-หวัด-ดี-คลับ วัน-นี้-เลา-จะ-มา-รี-วิว-โท-ละ-สับ-ลุ่น-ใหม่”

จริง ๆ แล้วการพูดไม่ชัดก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะเราไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์มา ไม่ได้เป็นผู้ประกาศข่าว โลกทุกวันนี้มันทำให้เราสามารถลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์ ทำคลิปจากสิ่งที่เราสนใจจริง ๆ แน่นอนน่าเราทำมันได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ถ้าเรารู้เคล็ดลับการพูดชัดขึ้นมามันก็จะทำให้เรา นอกจากจะมีความรู้เฉพาะทางแล้ว เรายังจะมีวิธีการสื่อสารด้วยเสียงและบุคลิกภาพที่ดีขึ้น แล้วทำไมเราจะไม่อยากมาเรียนรู้วิธีพูดให้ชัดกัน

อะไรบ้างที่ทำให้เราพูดไม่ชัด ข้อผิดพลาดที่เราทำบ่อย

สิ่งที่ทำให้เราพูดไม่ชัดมีได้หลายอย่าง แต่เทคนิคที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มาก็คือ

  • การพูดไปยิ้มไป อันนี้หลายคนชอบทำ แต่จริง ๆ แล้วการพูดไปยิ้มไปจะทำให้เราใช้ส่วนต่าง ๆ ของ ปาก ลิ้น ลำคอ จมูก ไม่ครบ ทำให้ Rage ของเสียงจะค่อนข้างแคบ พูดแล้วไม่ Dynamic ดังนั้นไม่ควรพูดไปยิ้มไปหรือเกร็งกล้ามเนื้อส่วนอื่นบนหน้าที่ไม่เกี่ยวกับการพูด ให้เราลองพูดแบบยิ้มไปกับพูดแบบทำหน้าปกติเราจะพบว่าการพูดแบบทำหน้าปกติทำให้เราออกเสียงได้กว้างและหลายรูปแบบกว่า
  • วิธีการด้านบนไม่ใช่เพราะว่ายิ้มแล้วผิดหรืออะไร แต่การพูดปากควรจะอยู่หน้าสุด วิธีการคือให้เราลองเอานิ้วมือวางไว้ที่ปลายปากตอนปกติแล้วห้ามขยับนิ้วจากตำแหน่งนั้น จากนั้นลองพูดดู ถ้าปากของเราเขยิบถอยหลังห่างจากนิ้วมาเรื่อย ๆ แปลว่าเราเริ่มหลุดแล้ว เริ่มปล่อยตัวเองให้พูดไม่ชัด พยายามรักษาระดับของปากให้อยู่หน้าตลอด (เป็นสาเหตุว่าทำไมเวลายิ้มเราถึงพูดไม่ชัด เพราะปากจะขยับถอยหลังลงมา)

อีกอย่างนึงก็คือเราต้องรู้ไว้ว่า การพูดนั้นเสียงมันไม่ได้เปล่งมาจากจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่ตามหลัก Phonetics เสียงแต่ละตัวจะมาจากตำแหน่งของมัน เวลาเราพูดจึงต้องไม่เกร็งและปล่อยไปตามธรรมชาติ

และสิ่งหนึ่งที่เป็นเทคนิคที่ผู้เขียนใช้ประจำก็คือ หัดฟังให้เยอะและพูดตาม ฟังนี่ไม่ใช่ว่าฟังอะไรก็ได้ แต่ฟังคนที่พูดชัด ฟังการออกเสียงที่ถูกต้องแล้วลองพูดตาม จนเราชินกับการออกเสียงที่ถูกต้อง ตัวอย่างของการพูดชัดที่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเหมาะแก่การหัดฟังมากที่สุดก็คือข่าวในพระราชสำนัก ซึ่งโทนของเสียงจะค่อนข้างนิ่งทำให้เราจับเสียงได้ง่าย และการอ่านที่ชัดเจน การออกเสียง ร ล คำควบกล้ำ ต่าง ๆ และความเร็วที่เหมาะ ทำถ้าเราลองพูดตามอ่านตามได้ ก็จะทำให้เราชินกับการออกเสียงที่ถูกต้องมากขึ้น

อีกอันนึงที่หลายคนพลาดที่อาจารย์กล่าวถึงก็คือ เสียงหายที่ท้ายประโยค จะสังเกตว่าบางคนเวลาพูดไปจะพูดด้วยเสียงปกติแต่พอท้ายประโยคจะค่อย ๆ เบาลง จนคำสุดท้ายของประโยคนั้น (ส่วนมากจะเป็นหางเสียง ครับ ค่ะ) จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ได้ยิน หรือบางทีออกมาแต่ลมเสียงไม่ออก อันนี้แก้ได้ด้วยการหัดอย่างเดียว หัดพูดให้จบประโยค ยังไม่ลดแรงที่ใช้ในการพูดจนกว่าจะจบคำสุดท้ายของแต่ละประโยค

และสุดท้ายที่ห้ามลืมเลยก็คือ ยิ่งเรามีคลังศัพท์อยู่ในหัวเยอะเราก็จะสามารถเปล่งเสียงนั้นออกมาได้อย่างถูกต้องเพราะเราชินกับมัน ในเมื่อเราอ่าน ร กับ ล ของคำนี้ถูกมาตลอด จะมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เราพูดมันไม่ถูก ยกเว้นว่าเราจะเจอคำใหม่ ๆ ที่ยังไม่คุ้นกับวิธีการออกเสียง ทำให้ข้อนี้จะไปสนับสนุนเทคนิคด้านบนก็คือ หัดฟังให้เยอะ พูดบ่อย ๆ พูดเยอะ ๆ พูดเล่น ๆ เวลาเจอหนังสือก็อ่านออกเสียง จะทำให้เราพูดชัดขึ้นแน่ ๆ

สุดท้ายแล้ว อย่าลืมว่าหากเรายังต้องใช้เสียงในการสื่อสาร การพูดให้ชัดก็ไม่ต่างจากการพิมพ์ให้ถูกต้องสำหรับการใช้ตัวอักษรในการสื่อสาร การพูดที่ออกเสียงถูกต้องนั้นนอกจากจะทำให้เราดูน่าเชื่อถือแล้วยังเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นสภาพแวดล้อมที่พอคนมาฟังเราเขาก็จะติดวิธีการอ่านที่ถูกต้องไปใช้ต่ออีก

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save