ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ลุกลามไปจนถึงโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อโซเชียลมีเดีย ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวปลอม หรือข้อมูลผิด ๆ ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีมานานพร้อมกับการเริ่มต้นของยุคโซเชียล แต่ตอนนี้เริ่มรุ่นแรงขึ้นและมีอิทธิพลมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อเรื่องราวในระดับการบริหารประเทศได้เลย จากกรณีล่าสุดของอเมริกาและรัสเซีย
สำหรับคำว่าข่าวปลอมนี้ รวมไปถึงข้อมูลผิด ๆ ในโลกโซเชียลด้วย ไม่ได้อยู่แค่ประเด็นหรือเนื้อหาทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าแหล่งที่เราพบข่าวปลอมมากที่สุดก็คือ Facebook ซึ่งเป็นโซเชียลอันดับหนึ่งของโลก แต่อย่างไรก็ตามผลวิจัยล่าสุดจาก MIT’s Laboratory for Social Machines ได้ออกมาเผยผลการวิจัยจากการเก็บข้อมูลในช่วงปี 2006 – 2017 ที่ผ่านมานี้ว่า Twitter นั้นเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คที่แพร่กระจายข่าวปลอมได้อย่างรวดเร็วที่สุด
ทาง MIT ได้ใช้เครื่องมือจาก 6 หน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวบนโลกออนไลน์ ซึ่งดักข้อความทวีตกว่า 4.5 ล้านทวีต ใน 126,000 หัวข้อที่แตกต่างกัน
ข้อมูลปรากฏว่า ข้อความที่เป็นเรื่องเท็จถูกรีทวีตมากกว่าข้อมูลจริงเสียอีก
- ข่าวปลอมนั้นเข้าถึงคนจำนวนประมาณ 1,500 คน ภายในเวลาอันรวดเร็วถึง 6 เท่าของข่าวจริง
- เพียงแค่ 0.1% ของข่าวจริงเท่านั้นที่ถูกรีทวีตโดยคนมากกว่า 1,000 คน
- ข่าวปลอม 1% ของโลกทวิตนั้น ถูกรีทวีตตั้งแต่ 1,000 – 100,000 คน
ซึ่งผลที่ได้นั้นก็ไม่ค่อยน่าแปลกใจในมุมมองของพฤติกรรม แต่น่าตกใจในมุมของตัวเลขมากกว่า อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายคนเคยบอกว่า จริง ๆ แล้วพฤติกรรมการใช้งาน Twitter นั้นไม่สามารถนำมาเทียบกับ Facebook ได้ เนื่องจาก action ที่ Twitter ออกแบบไว้คือการ Retweet ซึ่งไม่จำเป็นว่าเราจะต้องรู้สึกเห็นด้วยหรือเห็นดีเห็นงามกับเรื่งอราวเหล่านั้น (แชร์ไปประจานก็มี)
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าการรีทวีตจะไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยนั้น แต่การที่มีข้อมูลข่าวปลอมกระจายอยู่เต็มโลกโซเชียลนั้นไม่ใช่เรื่องดีเลย ซึ่งหากผู้เสพข่าวสารไม่มีการคิดและไตร่ตรองถึงความเชื่อถือได้ก็นำไปสู่การส่งต่อ สร้างปัญหาข่าวปลอมกระจายไปทั่วอีก
อ้างอิง