เชื่อว่าคนทำคอนเทนต์หลาย ๆ คนอาจจะเคยมี Moment ที่ว่า เบื่อ, ไม่รู้ทำไปเพื่ออะไร หรืออยู่ในภาวะเขียนคอนเทนต์ให้มีลงไปวัน ๆ ซึ่งภาวะแบบนี้ไม่ได้เป็นผลดีเลย เพราะจำให้เราทำงานไปส่ง ๆ เท่านั้น เราอาจจะคิดว่าภาวะนี้เกิดจากการขี้เกียจ หรือเบื่อ หรือหมด Passion อะไรก็ว่าไป แต่จริง ๆ แล้วถ้าเรามาลองนึกดูเราอาจจะพบว่าปัญหานี้เกิดจาก เรากำลังสับสนว่าเรากำลังทำเพื่ออะไรอยู่
เวลาที่เราเริ่มต้นทำคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็น Blog, YouTube, Instagram หรืออะไรก็ตาม อย่าคิดว่าเรากำลังจะอัดคลิป ถ่ายรูป หรือเขียนบทความ ให้คิดถึงโจทย์บางอย่างเช่น คนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งมากขึ้น, เราจะแก้ปัญหาสังคมเรื่องนี่ได้อย่างไร
วิธีคิดแบบนี้จะช่วยให้การทำสื่อของเรามีเป้าหมาย และไม่แค่ทำคอนเทนต์ไปวัน ๆ โดยเฉพาะเวลาที่มีทีม ไม่ใช่แค่เราคนเดียว การที่ทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกันก็จะช่วยให้การทำคอนเทนต์ประสบความสำเร็จมากขึ้น
การทำคอนเทนต์โดยมีเป้าหมายข้อดีอีกอย่างคือการช่วยให้เราไม่หลงกับเรื่องของยอด Like, Share, Comment หรือ Subscribe โดยที่มองมันแค่เปลือกว่ายิ่งเยอะยิ่งดี เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสื่อบางเจ้ายอดเหล่านี้ไม่ได้เยอะ แต่ก็ดูประสบความสำเร็จดี
แยกระหว่าง Goal กับ Direction
มีสองคำที่อาจจะสับสนคือคำว่า Goal หรือจุดหมาย กับ Direction หรือทิศทาง แนวทาง ถ้าเราทำงานแต่อาศัย Direction หรือทิศทางเราจะไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ตรงไหนและต้องทำอะไรต่อ (ตัวอย่างของการคิดแค่ Direction คือ วันนี้จะเขียนบทความ 1 บทความ อัดคลิป 1 เรื่อง) ส่วนคำว่า Goal คือเป้าหมายในเชิงวัตถุประสงค์ (Objective) เช่น อยากให้คนรู้จักสินค้าตัวนี้, อยากให้คนมีภูมิคุ้มกันต่อ Fake News, ต้องการให้คนมองว่าเราคือผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง อันนี้คือวัตถุประสงค์ ซึ่งวัตถุประสงค์จะไม่สามารถบรรลุได้หากไม่มีการลงมือทำ และการลงมือทำก็คือการตั้ง Direction หรือทิศทางนั่นเองว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น จะต้องทำคลิปอย่างไร ต้องลงคอนเทนต์กี่ตัว ข้อดีของการคิดแบบนี้คือเราสามารถดูได้ว่าการกระทำของเราช่วยให้บรรลุผลหรือไม่ ถ้าไม่เราจะปรับเปลี่ยนอย่างไร แล้วจะไม่เกิดภาวะที่ว่า “ก็เหนื่อย แต่ทำไมไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย”
ตัวอย่างเป้าหมายของการทำคอนเทนต์เช่น
- การเปลี่ยนความคิดของคน
- การกระตุ้นยอดขาย ของสินค้าหรือบริการ
- การสร้าง Personal Branding
- การทำให้สังคมดีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง
- อื่น ๆ อีกมากมาย
อธิบายก็คือ เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยการว่าอยากทำคอนเทนต์ก็เลยมาทำ แต่เราต้องมีโจทย์บางอย่าง แล้วใช้การทำคอนเทนต์นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือที่จะทำให้เราไปถึงจุดหรือภาวะนั้นได้นั่นเอง
วิธีคิดแบบนี้จะทำให้เราสามารถสร้าง Cycle ของการทำคอนเทนต์ที่ยั่งยืนได้ และสามารถย้อนกลับมาตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าวิธีการไหนที่ได้ผล ไม่ได้ผล อย่าลืมว่าเราทำคอนเทนต์เพื่อทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ทำคอนเทนต์เพื่อแค่ให้มีคอนเทนต์
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMaker