1 ทศวรรษแห่งโซเชียลมีเดีย โลกเปลี่ยนไปอย่างไร และเทรนที่จะมาในอีก 10 ปีนี้

ช่วงเปลี่ยนผ่านสหสวรรษหรือ Millennium นั้นโลกได้สร้างหนึ่งในเครื่องมือที่เปลี่ยนวิธีที่เราติดต่อสื่อสารกันไปตลอดกาล สิ่งนั้นคืออินเทอร์เน็ตและ World Wide Web เทคโนโลยีนี้ทำให้การติดต่อสื่อสารจากเป็นเดือน เป็นวัน เหลืออยู่แค่ในเสี้ยววินาทีเท่านั้น พัฒนาการของอินเทอร์เน็ตนั้นสร้างสิ่งใหม่ ๆ มาตลอด เราได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Google, Ebay และบริการต่าง ๆ ที่ย้ายโลกแห่งความเป็นจริงขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ หากแต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษแรกของยุค 2000s สิ่งนั้นก็คือ Social Network เทคโนโลยีเว็บ 3.0 ได้เกิดขึ้นแล้ว

MySpace, Facebook และ YouTube กลายเป็น Platform ที่คนเข้ามาพูดคุยกันโดยไอเดียของมันคือการที่เราสามารถรับรู้ความเป็นมาเป็นไปของคนที่เราเป็นเพื่อนบนโลกออนไลน์ได้ แนวคิดนี้จะแตกต่างจาก Website แบบ 2.0 หรือบรรดา Blog, Webboard ทั้งหลาย เพราะว่าทุกคนเมื่อเปิดหน้า Social Network ของตัวเองขึ้นมาจะไม่เหมือนกันเลย เหมือนแต่ละคนมีโลกของตัวเอง มุมของตัวเอง เพียงแต่ว่ามันถูกยกขึ้นไปอยู่บนออนไลน์เท่านั้น

เมื่อปี 2007 Steve Jobs ขึ้นเวทีเปิดตัว iPhone เขาบอกว่า iPhone จะเปลี่ยนวิธีการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล ซึ่งนั่นก็เป็นความจริง เพียงแค่ 3 ปี โลกก็ได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Instagram

ถามว่าทำไม Instagram ถึงกลายเป็น Social Network ที่เปลี่ยนมุมมองของ Social Network ทุกตัว อย่างแรกต้องบอกว่า Instagram ถูกพัฒนาให้เล่นได้บน Platform แบบบ Mobile Only ประกอบกับหลาย ๆ ปัจจัยที่พัฒนาขึ้นมาตามความก้าวกระโดดของเทคโนโลยี กล้องที่ดีขึ้น เทคโนโลยี 3G และ 4G ทำให้การเล่น Social Network บนมือถือเกิดขึ้นได้จริง

2010 – 2019 ยุคแห่ง Social Media และความเปลี่ยนแปลงที่ประกอบสร้างจากสังคม

แม้ว่า Facebook และ YouTube เองจะถูกสร้างขึ้นมาในยุคของคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ Mobile แต่หลังจากปี 2010 เป็นต้นมา อุปกรณ์ Mobile นั้นยอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตพุ่งแซงทะลุ Desktop ไปเรียบร้อยในปี 2016 โดยอ้างอิงสถิติจาก StatCounter Global Stats

สิ่งนี้ทำให้เกิด Trend หลาย ๆ อย่างขึ้นได้แก่

  • Application อันนี้ชัดเจนอยู่แล้ว หลังจากการเปิดตัว App Store และ Play Store ทำให้เราได้รู้จักกับแอพมากมาย เช่น LINE, Whatsapp, Instagram
  • เว็บเป็น Mobile First และ Responsive ออกแบบเว็บไซต์ให้รองรับมือถือเป็นอันดับแรก
  • Instant Messaging คือการส่งข้อความผ่านอินเทอร์เน็ตทันที ไม่เหมือนกับ MSN ที่ส่งกันผ่านคอมพิวเตอร์

ดังนั้นสรุปได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น อินเทอร์เน็ตได้ย้ายจากบน Desktop เข้าไปมีอิทธิพลบนมือถือเรา ด้วยปัจจัยสำคัญเช่น อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น 3G, 4G ที่ครอบคลุม, กล้องมือถือที่ชัดมาก ทำให้เกิดแอพแนว Instant Photograph เช่น Instagram รวมไปถึงการถ่ายวิดีโอสั้น ๆ เช่น Snapchat ภายหลังเกิดมาเป็น Story, กล้องหน้ามือถือที่ทำให้เกิดการ FaceTime และการส่งข้อความแบบ Instant Message ผ่านอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เกิด LINE, Messenger, Whatsapp

ในแง่ของเทคโนโลยีนั้นอย่างที่เห็นว่ามันได้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา แต่ถ้ามองในแง่ของสังคม เรามาลองดูกันว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างจากการเข้ามาของเทคโนโลยีพวกนี้ โดยเราจะแบ่งประเด็นสำคัญ ๆ ออกได้ดังนี้

  • สื่อที่ไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Media)
  • ภาพสะท้อนของโลกความจริงบนออนไลน์ (Social monitoring)
  • การมีอิทธิพล (Influencing)
  • ข่าวปลอม (Fake News)
  • การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน (Immersive Data Privacy)

สำหรับเรื่องของสื่อที่ไร้ศูนย์กลาง ที่บอกแบบนี้ก็เพราะว่าโมเดลของ Soical Media ที่ใช้การเชื่อมต่อในลักษณะของ Graph ทำให้เราไม่สามารถระบุได้ว่าประเด็นนี้มาจากใคร แห่งไหน แต่เราสามารถบอกในเชิงของปริมาณได้ว่า มีคนกำลังพูดถึงประเด็นนี้กี่คน Impact แค่ไหน และด้วยความรวดเร็วของมันทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ สามารถสะท้อนโลกของความเป็นจริงออกมาได้ หนึ่งในเคสที่ยกขึ้นมาเล่าให้ฟังบ่อยก็คือการประท้วงแบบไร้ศูนย์กลาง เช่น การประท้วง Arab Spring และการประท้วงในฮ่องกง (รวมถึง Trend หลาย ๆ อย่างในไทย) ที่เคยนำมาเล่าในบทความทำไมโซเชียลมีเดียถึงเผยด้านลบของเราได้ง่ายกว่าด้านดี และวิธีทำคอนเทนต์ให้โลกดีขึ้น

พอพูดแบบนี้อาจจะไกลตัว เรามาลองนึกดูบ้างว่า Decentralized Media และ Social monitoring สัมพันธ์กับเรามากแค่ไหน ให้ลองนึกถึงวันสำคัญ ๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม (2011), รัฐประหาร (2014), เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ (2015), ในหลวง ร. 9 สวรรคต (2016), การเลือกตั้ง (2019) เราจะเห็นว่าหนึ่งในภาพจำของเรา จะมีเรื่องที่เกิดขึ้นบน Social Media อยู่ด้วย หรือบางครั้งเรารู้เหตุการณ์พวกนี้มาจาก Social Media ก่อนหน้าทีวีเสียอีก ในต่างประเทศกรณีเช่นนี้ก็คล้าย ๆ กัน บุคคลแรกที่รายงานข่าวการลอบสังหารบินลาเดน ไม่ใช่นักข่าว แต่เป็นผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนหนึ่งที่ทวีตบอกว่า ได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ในกรุงจาลาลาบัด

อีกสิ่งที่ต้องยกมาพูดกันเลยก็คือเรื่องของการมีอิทธิพล เมื่อก่อนยุค Social Media การที่เราจะมีอิทธิพลในเชิงสื่อได้ เราอาจจะต้องเป็นนักข่าว เป็นเจ้าของช่อง เป็นดารา ซึ่งต้องใช้ต้นทุนมหาศาล แต่ ณ ตอนนี้ ถ้าเราคิดว่าคอนเทนต์เราดีจริง แค่เดินไปเปิดเพจ Facebook หรือช่อง YouTube ใช้เงิน 0 บาท แต่เราสามารถมีอิทธิพลได้ในระดับที่มากกว่าทีวีเสียอีก และด้วยจากเหตุผลด้านบน ใครจะทำสื่อก็ได้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Fake News หรือข่าวปลอมขึ้นมาด้วยนั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดจากการเข้ามาของ Social Media และ Application ก็คือประเด็นถกเถียงด้านความเป็นส่วนตัว เราจะเห็นว่าบทสนทนาพวกนี้ใกล้ตัวเราขึ้นมาทุกที ไม่ว่าจะเป็นกรณีระหว่าง Facebook และ Cambridge Analytica การร่างกฏหมาย GDPR

แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า สังคมจะถูกผลักให้เดินไปในทางไหน

ถ้ามองตอนนี้ เทคโนโลยีที่บอกได้เลยว่ามาแน่ ๆ ก็ได้แก่

  • Machine Learning การเรียนรู้เพื่อหา Pattern ของคอมพิวเตอร์จะแม่นยำขึ้น ทำให้การเขียนโปรแกรมด้วยอัลกอริทึมแบบเดิม ๆ เพื่อเป็นฟีเจอร์ให้กับ Soical Media หรือการทำคอนเทนต์อาจจะมีบทบาทน้อยลง
  • Immersive Data collection การเก็บข้อมูลในระดับที่ไม่ใช่แค่เชิง Demographic แต่ในระดับของพฤติกรรม
  • Wearable Device และ Augmented reality การที่สื่อจะเข้ามามีบทบาทในระดับที่อยู่บนร่างกายของเรา ซึ่งเวลา 10 ปี อาจจะมีอิทธิพลไปจนถึงขั้น Programmable Hallucination คือการนำคอนเทนต์เข้าสู่ระบบประสาทรับรู้ของเราโดยตรง
  • 5G อันนี้มาแน่ ๆ พร้อมกับเทคโนโลยีที่เป็น super low latency คือมีการหน่วงของสัญญาณน้อยมาก ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีการสูญเสียของสัญญาณต่ำมาก ๆ เราอาจจะคอนโทรล Hardware ที่ซับซ้อนผ่านระบบ 5G ได้ เช่น Self-driving car
  • Space Society มนุษย์สำรวจพรมแดนและใช้ชีวิตได้อยู่แทบจะทุกมุมโลกแล้ว อีกดินแดนที่เราจะได้สัมผัสกันจริง ๆ เลยก็คืออวกาศ การ Commercialize Space จะเป็นสิ่งที่ผลักให้เทคโนโลยีของเราไปอย่างก้าวกระโดด เราจะ FaceTime กับคนที่อยู่นอกโลกอย่างไร สมมติเราจะพิมพ์ Message คุยกับคนบนดาวอังคารเราจะทำอย่างไร

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เราสามารถคิดแบบเร็ว ๆ ได้ว่า ในอนาคตเราจะไม่มีนิยามว่าอะไรคือโลกออนไลน์และโลกแห่งความจริงอีกแล้ว เพราะทุกอย่างจะรวมกลายเป็นโลกเดียวกัน ในสัมผัสการรับรู้เดียวกันในระดับที่ลึกกว่าในทศวรรษที่ผ่านมา เอาแบบ Dystopia สุด ๆ เลยก็คือ เราฆ่าคนออนไลน์ได้ (ซึ่งทุกวันนี้ก็ทำได้แล้ว ด้วย Cyber Bullying, Fake News และ Soical Engineering) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตจะล้ำลึกไปกว่านั้น

ดังนั้นทักษะที่ทำให้เราอยู่รอดในทุกวันนี้ เช่น การเข้าใจเทคโนโลยี Literacy ต่าง ๆ จึงเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต เด็กที่เกิดในยุค 2010s เป็นต้นมาจะไม่เข้าใจอีกแล้วว่ามนุษย์ใช้ชีวิตโดยที่ไม่มี Social Media ได้อย่างไร เหมือนกับที่เด็กที่เกิดในยุค 2000s ตั้งคำถามว่ามนุษย์ใช้ชีวิตในโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร ดังนั้นถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน เด็กที่เกิดในยุค 2020s อาจจะตั้งคำถามด้วยซ้ำ ว่ามนุษย์ใช้ชีวิตโดยที่ไม่มี Wearable Device, Machine Learning, AR และ 5G ได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องเรียนรู้และปรับตัวที่สำคัญคือ ทำความเข้าใจ เพราะเราคือคนทำคอนเทนต์ การเข้าใจพฤติกรรมและเทคโนโลยที่เปลี่ยนไปจะช่วยให้เราสามารถรู้เท่าทันและออกแบบ “โลก” ที่มันควรรจะเป็นได้อย่างรอบคอบ เพื่อทั้งความอยู่รอดของตัวเรา และสังคมต่อไป

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

 

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save