เราควรจะทำอย่างไร เมื่อเทคโนโลยี AI ที่กำลังมาแรงมากในขณะนี้ กลับสร้างข้อกังวลหลายประการว่าจะกระทบกับอาชีพ Content Creator และ Freelancer สายผลิต!
ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) มีผลกระทบอย่างมากต่อตลาดงานสร้างสรรค์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้แต่วงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์เองก็ไม่มีข้อยกเว้น ตั้งแต่บทความข่าว บล็อกโพสต์ ไปจนถึงการอัปเดตข้อมูลลงโซเชียล และการสร้างสรรค์งานออกแบบ แต่งเพลงและตัดต่อวิดีโอ เราจะเห็นได้ว่า AI ก็ทำได้ไม่ต่างจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์เลย
ตอนนี้ AI ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการสร้างคอนเทนต์เพื่อช่วยทุ่นแรงสายผลิตและเพื่อความสะดวกสบาย แต่ประเด็นนี้ก็ได้สร้างข้อสงสัยต่อสายงานสร้างสรรค์ว่า AI จะเข้ามาแทนที่ครีเอเตอร์เหล่านี้หรือไม่? หรือจะนำไปสู่ทางเลือกใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีที่ดีขึ้น?
เราจะมาลองสำรวจกันดีกว่าว่า AI จะส่งผลกระทบต่อสายงานครีเอทีฟมากขนาดไหน และต่อไปในระยะยาวนั้น อุตสาหกรรมสายผลิตจะเป็นอย่างไรถ้า AI เข้ามามีบทบาทหลักแทนสายผลิตอย่างเรา ๆ
5 ข้อกังวลของ AI
ก่อนจะไปดูว่า AI สร้างผลกระทบอะไรกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์บ้าง เราลองมาดูกันก่อนว่า AI จะสร้างปัญหาอะไรให้กับสังคมบ้างนะ?
- ส่งต่อข้อมูลที่ผิด
ลองนึกเวลาคุณเลื่อนดูฟีดโซเชียลแล้วสะดุดตากับวิดีโอของไอดอลที่คุณชอบ ทำหน้าทำตาประหลาด ๆ ทั้งที่ปกติไม่ใช่คนอย่างนั้น แต่เป็นเพราะใช้มีคนใช้โปรแกรม AI Deepfake ในการตัดต่อหน้าเนียนเสียเหลือเกิน จนต้องแอบคิดในใจว่าสรุปมันเป็นของจริงหรือของปลอมกันแน่นะ?
‘ข้อมูลที่ผิด’ (Misinformation) จึงเป็นคำที่เราได้ยินบ่อยสุด ๆ และเริ่มเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเมื่อหลายคนได้ใช้ Generative AI เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่สมจริง แต่จริง ๆ ข้อมูลเหล่านั้นมันคือการปลอมแปลงข้อมูลที่ผิดจนสร้างความเชื่อผิด ๆ ให้เราได้
- ขาดความน่าเชื่อถือ
การเพิ่มขึ้นจำนวนของเฟคนิวส์และข้อมูลที่ผิดได้ทำลายความไว้ใจในข้อมูลที่เราเสพทุกวัน เพราะอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ AI ให้คนหลงเชื่อข้อมูลที่ผิด มันก็อาจทำให้เรารู้สึกไม่ไว้ใจข้อมูลบนโลกโซเชียลมากขึ้น จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อถือเนื้อหาที่สร้างโดย AI หรือแย่กว่านั้นคือคนอ่านไม่กล้าเชื่อข้อมูลบนโลกโซเชียลเลย นี่แหละจะกระทบกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์แน่นอน
- สร้างอคติและความเกลียดชัง
อคติใน AI สามารถแสดงออกได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น การตีความบริบทที่ผิดไปจากเดิมหากใช้โปรแกรม AI ในการแปลภาษาหรือสืบค้นข้อมูล เนื่องจากระบบ AI ส่วนใหญ่ถูกออกแบบโดยมนุษย์และสะท้อนพฤติกรรมของผู้วางโปรแกรม บางที AI จึงอาจรับเอาอคติและทัศนคติแง่ลบบางอย่างเข้ามาได้
- ละเมิดความเป็นส่วนตัว
ประเด็นนี้เป็นความท้าทายที่น่าจับตามองของเทคโนโลยี Generative AI ที่จะต้องอาศัยการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับวิธีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของ AI ซึ่งอาจกระทบกับข้อมูลส่วนตัวของเราได้
การใช้เทคโนโลยี AI รูปแบบต่าง ๆ เช่น การจดจำใบหน้า และ Deepfake อย่างไม่มีกฎหมายควบคุมก็อาจนำไปสู่การสอดแนมข้อมูลที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว และจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลและเจ้าของใบหน้าที่แท้จริงได้เหมือนกัน
- ปัญหาเจ้าของลิขสิทธิ์
ในช่วงนี้เรามักได้เห็นผลงานศิลปะที่ถูกสร้างโดย AI มักเป็นกระแสยอดไลค์เป็นหมื่นเป็นแสนหลายต่อหลายรูป งานพวกนี้มักได้รับความสนใจเพราะ AI นั้นทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบจนเราแทบจะคาดไม่ถึงว่า AI จะเป็นเจ้าของ แต่มันก็นำมาสู่การตั้งคำถามว่าเราควรให้เครดิตคนที่อยู่เบื้องหลังระบบ AI หรือไม่? แล้วใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงกันล่ะ ในเมื่อ AI นั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง อีกทั้งยังพบได้ว่า AI มีการนำข้อมูลของสายผลิตต่าง ๆ มายำรวมกันแล้วประมวลผลข้อมูลออกมาเป็นผลงานของ Generative AI เสียเอง อย่างนั้นไม่เรียกว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูลต้นฉบับอย่างนั้นหรือ?
ประเภทของ AI สายผลิต
อย่างที่บอกไปว่า AI นั้นก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่างพอ ๆ กับสายผลิตผลงานครีเอทีฟ ดังนั้นเราลองมาดูกันว่าหลัก ๆ แล้ว AI สายครีเอทีฟจะแบ่งแยกออกมาได้เป็นอะไรกันบ้างนะ
- สายออกแบบ
พลาดไปไม่ได้กับ Generative AI ที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ คือ AI นักวาดที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานวาดเก๋ ๆ ในแบบที่คุณต้องการ อาทิ Midjourney AI, Stable Diffusion เพียงแค่กรอกข้อมูลคำสั่งวิธีใช้งานกับ AI คุณก็จะได้รูปตามบรีฟที่ต้องการได้
- สายคอนเทนต์
หลังจากที่เป็นกระแสในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ChatGPT ก็ยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถช่วยลดเวลาเราในการหาข้อมูล แปลภาษา หรือถ้านึกคอนเทนต์อะไรไม่ออกก็เพียงแค่พิมพ์แชทพูดคุยกับ AI ได้ เจ้าบอตโปรแกรมนี้ก็จะตอบคำถามทุกปัญหาที่คุณสงสัย นอกจากนี้ก็ยังมี Generative AI อื่น ๆ อีก เช่น AISEO, Rytr.me, และ Jasper.ai เป็นต้น
- สายตัดต่อ
เราไม่จำเป็นต้องมานั่งดูว่าจะต้องเรียงวิดีโอที่ถ่ายยังไงเวลาจะตัดต่อ เพราะ AI สามารถช่วยเราจัดเรียงคลิปต่าง ๆ และตัดต่ออย่างสมบูรณ์แบบได้ในเวลาอันรวดเร็วและง่ายดายยิ่งขึ้น เช่น โปรแกรม Rephrase.ai, Synthesia หรือ pictory
นอกจากนี้ยังมี ‘Deepfake’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ AI จะตรวจจับใบหน้าของคนเข้ามาแล้วทำการแทนที่ใบหน้าของคนที่เราเลือกเข้ามาแทน อย่างที่เราจะเคยเห็นคลิปวิดีโอที่แสดงใบหน้าและท่าทางของคนดังระดับโลกที่แสดงท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะว่าเป็นการตัดต่อวิดีโอด้วย AI ไม่ใช่คนจริง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์
- สายโปรดิวเซอร์
หากคุณใฝ่ฝันที่จะได้ยินคนที่คุณสนใจร้องเพลงที่คุณชอบ Generative AI สายโปรดิวเซอร์เพลงสามารถช่วยคุณได้ อย่างที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิตใน TikTok ตอนนี้กับคอนเทนต์ดัดเสียงนักร้องของเพลงให้เป็นเสียงของคนอื่นผ่านโปรแกรม AI เช่น Revoicer, Amper Music, หรือ Moises AI และถ้าหากอยากให้ช่วยแต่งเนื้อร้องหรือแต่งทำนองเพลง AI ก็ทำได้เหมือนกันนะ
Big Impact ต่อวงการครีเอเตอร์
- Content creator ตกงาน?
คนในวงการครีเอเตอร์ได้เริ่มมีความรู้สึกที่ไม่มั่นคงทางอาชีพขึ้นพอมี AI ที่สามารถทำงานได้ทุกอย่างที่ครีเอเตอร์ทำ สายผลิตก็อาจกลัวว่าพวกเขาจะถูก AI เข้ามาแทนที่อย่างแน่นอน ในมุมมองของนักธุรกิจก็อาจมีความคิดผุดขึ้นมาว่าการซื้อโปรแกรม AI อาจเป็นผลดีต่อการลดค่าใช้จ่ายที่จะจ้างครีเอเตอร์มานั่งทำคอนเทนต์ให้ เพื่อให้ได้งานที่เร็วกว่าแถมอาจช่วยลด Human Error ได้ด้วย
แต่ถ้าคุณคิดอย่างนั้น บอกเลยว่าผิด! ยังไงซะแม้ว่า AI จะฉลาดขึ้นแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถแทนที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ตัวเป็น ๆ ได้หรอก เพราะการทำคอนเทนต์ที่ดีก็ต้องใช้หัวสมองทางความคิดสร้างสรรค์และไหวพริบของมนุษย์อยู่ดี ใครจะไปรู้ว่าคำง่าย ๆ อย่าง ‘ตัวแม่’ ‘ตัวตึง’ จะกลายเป็นคำฮิตติดลมบนที่ใคร ๆ ก็ต้องพูดในปีนี้ การคิดสร้างสรรค์ให้ทันกระแสอะไรแบบนี้ AI ไม่มีทางสู้มนุษย์อย่างเรา ๆ ที่หาทำคอนเทนต์แปลกใหม่ได้ทุกวันอย่างแน่นอน
- ลิขสิทธิ์เป็นของใคร?
ปัญหาเรื่อง AI ละเมิดลิขสิทธิ์ครีเอเตอร์จากการเก็บข้อมูลแล้วนำไปพัฒนาเป็นผลงานของ Generative AI นั้นยังไม่สามารถหาวิธีรองรับปัญหาได้อย่างเหมาะสม จากข้อกังวลจากครีเอเตอร์นักวาดเมื่อระบบ AI นั้นได้มีการเก็บข้อมูลรูปภาพ ลายเส้น วิธีวาดของนักวาดแล้วนำมาดัดแปลงรวมกันจนกลายเป็นผลงานของ AI เสียเอง นี่แหละจะกระทบกับครีเอเตอร์สุด ๆ เพราะเราจะไม่รู้เลยว่า AI จะหยิบจับผลงานเราไปดัดแปลงเมื่อไหร่ แล้วจะไปโผล่ตรงไหนของโซเชียล แต่ที่สำคัญ คนก็จะไม่รู้สิว่าเราเป็นเจ้าของลายเส้นนั้นไม่ใช่ AI !
แต่ในเมื่อเรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผลงานที่เข้มแข็งจริง ๆ ดังนั้น AI อาจหยิบจับงานเรามาดัดแปลงซ้ำได้ทุกเมื่อ เพราะโดยหลักแล้วลิขสิทธิ์นั้นจะคุ้มครองเฉพาะ ‘ผลของแรงงานทางปัญญา (Fruits of Intellectual Labor)’ ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยจิตใจของมนุษย์ งานสร้างสรรค์ที่ดัดแปลงขึ้นด้วยฝีมือของ AI นั้นไม่มีความเป็นต้นฉบับมากเท่าภาพฝีมือมนุษย์ จึงไม่สามารถใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองผลงานของ AI ได้ ในที่สุดครีเอเตอร์ก็ต้องเผชิญกับปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์จาก AI ซึ่งไม่มีใครช่วยรองรับความเสี่ยงนี้ได้เลย
How To ป้องกัน AI ยึดพื้นที่
ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้าเรามีการผลักดันกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงานจาก AI รวมไปถึงผลงาน ‘ทุกประเภท’ ของอาชีพครีเอเตอร์อย่างจริงจัง เพราะในไทยเรายังไม่มีกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างโดย AI เพื่อป้องกันการผลิตซ้ำไว้ชัดเจน ในส่วนของผลงานครีเอเตอร์นั้นแม้จะมีการคุ้มครองผลงานทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว แต่เห็นได้ชัดว่ายังคงมีความหละหลวมอยู่พอสมควร เพราะทุกวันนี้ชาวครีเอเตอร์ก็ยังประสบปัญหาคอนเทนต์ต่าง ๆ ถูกนำไปดัดแปลงซ้ำโดยละเมิดความเป็นเจ้าของอยู่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น คงจะดีถ้าเราให้การสนับสนุนแก่ชาวคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โดยมองว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องได้รับความมั่นคงทางอาชีพที่จะต้องไม่ถูกหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีใด ๆ เข้ามาแย่งพื้นที่การทำงานหลักของพวกเขา
เพื่อไม่ให้ AI เข้ามาแย่งพื้นที่ของชาวคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไปมากกว่านี้ เรามาร่วมส่งแรงสนับสนุนให้ครีเอเตอร์เป็นอาชีพที่มีพื้นที่บนโซเชียลมีเดียได้อย่างอิสระ และเป็นที่รับรู้ให้มากขึ้นกันเถอะ ยังไงซะครีเอเตอร์ไทยมีความสามารถไม่แพ้ AI อยู่แล้ว!
ที่มา: