ทำไม Apple ถึงทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านเหรียญสร้างคอนเทนต์หนังและซีรี่ส์เป็นของตัวเอง

Apple บริษัทที่เรารู้จักดีนในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์อย่าง iPhone, iPad และบริการออนไลน์ ออฟไลน์ต่าง ๆ Apple นั้นแน่นอนว่าเป็นบริษัทที่ใส่ใจในความรู้สึกของผู้ใช้งานและพยายามที่จะควบคุมทุกประสบการณ์การใช้งาน ตั้งแต่ตัวสินค้า จนไปถึงร้านค้าและบริการหลังการขาย แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นผลงานชิ้นใหม่ของ Apple ก็คือ Apple มีแผนที่จะทำตัวเองให้กลายเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์

เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า Apple เริ่มก้าวออกจาก comfort zone ของตัวเอง (ในสายการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ และประสบการณ์แบรนด์) มาทำคอนเทนต์มากขึ้น ตั้งแต่ ซีรี่ส์ Planet of the Apps ที่เป็นรายการ Reality แข่งกันพัฒนาแอพและสตาร์ทอัพ หรือ Carpool Karaoke ที่ดึงเอาดารานักแสดงต่าง ๆ มาร่วมกันมากมาย

Eddie Cue หนึ่งในผู้บริหารของ Apple ได้กล่าวในงาน SXSW ว่า “เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำโทรทัศน์เลย เรารู้ว่าจะทำแอพยังไง จะกระจายสินค้ายังไง จะทำการลาดยังไง แต่เราไม่รู้เลยว่าจะทำ TV Show ยังไง”

บทความจาก New York Times ได้รายงานว่า Apple มีแผนที่จะทุ่มเงินกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญ สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ในปี 2019 นี้ และเราจะเห็นรายการที่ผลิตโดย Apple เองมากกว่า 12 รายการ ซึ่ง Apple ได้เริ่มทำไปบางส่วนแล้ว

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น Apple ถึงกับซื้อพื้นที่กว่า 128,000 ตารางฟุต ใน Culver City แคลิฟอร์เนีย ให้เป็นออฟฟิศในฝั่ง Content Creation พร้อมกับซื้อตัวผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคอนเทนต์บนทีวี มาเสริมทัพ

Apple ล้วนดึงเอาตัวท็อปในวงการมาเสริมทัพ

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ Apple จ้างมา (ในช่วงทำ Planet of the App) ก็ได้แก่ Gwyneth Paltrow และ Ben Silverman (อดีตประธานฝ่ายบันเทิงของ NBC) รวมถึง Zack Van Amburg และ Jamie Erlicht สองผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซีรี่ส์ยอดฮิต Breaking Bad และ The Crown

Apple ตั้งเป้าที่จะผลิตคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบตั้งแต่ ละครดราม่า, รายการสำหรับเด็ก, รายการเจาะกลุ่มละตินอเมริกา และรูปแบบอื่น ๆ อีกว่า 12 ตัว ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคอนเทนต์หลากคน Steven Spielberg ก็เป็นหนึ่งในนั้น

รวมถึง Apple ยังมีความพยายามที่จะดึงตัวผู้กำกับภาพยนตร์หลายเจ้า รวมถึงภาพยนตร์เจ้าของรางวัลจากหลายสำนักอย่าง La La Land ด้วย

Original และ Exclusive Content ตัววัดแพ้ชนะของช่องทางเสพสื่อ

ถ้าจะมองดูแล้วการกระทำของ Apple นี้ก็เหมือนกับที่ Netflix ประกาศทำ Original Content เป็นของตัวเอง Apple กับ Netflix คล้ายกันตรงที่เป็นเจ้าของช่องทางเสพสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและทั้งคู่ก็ต่างเปลี่ยนวิธีการบริโภคสื่อให้กับโลกมาแล้ว (ดังเช่นการริเริ่ม iTunes, iTunes Movie ที่เปิดให้เช่าหนังออนไลน์ และ Apple Music)

อาจจะมองได้ว่าในเมื่อ Apple มองเห็นโอกาสในช่องทางเหล่านี้ในการทำเงิน ซึ่งเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลมากที่เจ้าของช่องทางจะมาอยากทำคอนเทนต์เสียเอง (เพราะถ้ารู้ว่าไม่ดี ก็คงไม่ทำ) และหากมองในประเทศไทย LINE TV แพลตฟอร์มวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงมาก ๆ ณ ตอนนี้ก็พยายามทำ Original Content เช่นกัน (อ้างอิงจากงาน LINE TV Open House)

จะเห็นว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ให้บริการช่องทางเสพคอนเทนต์แทบทุกรายพยายามมาทำคอนเทนต์ของตัวเอง สิ่งนี้บอกอะไรเราได้บ้าง หรือว่าตลาดของการขาย service จะไม่สามารถดีไปกว่านี่ได้แล้ว หลายเจ้าจึงต้องมาแข่งกันทำคอนเทนต์เพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน

ถ้าบริการเอาแต่ซื้อลิขสิทธิ์มาฉาย สุดท้ายคอนเทนต์ก็จะเหมือน ๆ กันหมด

มีประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า เรามักจะชินกับบริการอย่าง Iflix, Primetime หรือ Hollywood HD ที่มีเนื้อหา (หนัง, ซีรี่ส์) เหมือน ๆ กันหมด เพราะแค่ซื้อลิขสิทธิ์มา หรือการแข่งกัน ก็มีเพียงแค่ ใครได้ซีรี่ส์ไหนมาก่อน หรือหนังเรื่องไหนไม่มีในอะไร ซึ่งไม่ได้เป็นการตัดสินจากคุณภาพ แต่ตัดสินจากคอนเทนต์บนบริการมากกว่า สุดท้ายแล้วแข่งกันไป ๆ มา ๆ แบบนี้กลายเป็นว่าไม่มีใครเป็นผู้ชนะ สิ่งที่อาจจะสามารถตัดสินว่าช่องทางไหนมีคุณภาพดีกว่ากัน อาจจะเป็นเรื่องของ Original Content หรือ Exclusive Content

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี Tim Cook เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาต้องการที่จะเปลี่ยนวิธีการดูทีวีในแบบเดิม ๆ ตามมาด้วยการเปิดตัว Apple TV รุ่นใหม่ที่ลงแอพได้ แต่นั้นก็ไม่ได้สร้างความว้าวให้กับตลาดมากนัก หรือการมาทำคอนเทนต์เองนี้ จะเป็นหนึ่งในแผนสงครามห้องนั่งเล่นที่ถูกประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อนก็เป็นได้

เมื่อรู้ว่าทำเงินได้แล้วทำไมจะไม่ทำ

สำหรับ Business Model ที่ทำเงินให้กับ Apple ได้มากที่สุดก็คือ Subscribtion หรือ Pay Wall ที่ผู้ชมจะต้องทำการสมัครสมาชิคหรือเสียเงินเพื่อทำการชมคอนเทนต์นั้น ๆ ตามที่ปรากฏมาแล้วในซีรี่ส์ Planet of the App ที่ฉายอยู่บนบริการ Apple Music ของ Apple ซึ่ง Apple อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพิ่มเติมให้ทันสมัยมากขึ้น (ปัจจุบัน Apple ยังมีหนังให้เช่าและซื้อดูผ่านทาง iTunes Movie Store)

จะเห็นว่าแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley นั้น ยังมีความพยายามที่จะฝ่าฝันไปในวงการที่ใหญ่กว่าอย่าง Hollywood ซึ่งก็นับว่าเทรนด์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ Entertainment จะเติบโตขึ้นอีกมาก หรือแม้กระทั่งในไทยด้วยเช่นกัน รายงานล่าสุดจากงาน Zocial Award ได้บอกว่า บนโลกออนไลน์คนพูดถึงเรื่อง Entertainment มากกว่าในฝั่ง Busniuss มากนับสิบ ๆ เท่า

ไม่ว่า Apple จะมีเหตุผลว่าอยากเติบโตในฝั่ง Media หรือเพียงแค่ต้องการทำเงินจากช่องทางที่เห็น ๆ อยู่ว่าทำเงินได้แน่ ๆ (ก็แน่หล่ะ ตัวเองเป็นเจ้าของช่องทางเอง) ในปีไม่นาน ตลาดการแข่งขันในฝั่งคอนเทนต์จะต้องดุเดือดมากแน่ ๆ

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save