แม้ปีนี้จะเป็นปีแห่ง AI ที่เริ่มมีบทบาททั้งทางเครื่องมือ และช่วยให้ประหยัดเวลามากขึ้น จนถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์การประกวด “เขียนดีมีรางวัล” หัวข้อเรื่อง “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” ที่ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ คุรุสภาด้วย
โดยมีเกณฑ์แนะนำให้ใช้ Generative AI เป็นเครื่องมือ และตัวช่วยในการเขียนบทความ ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Google Bard และ Microsoft Bing เป็นต้น ซึ่งบทความมีความยาว 850-900 คำ
ซึ่งโลกโซเชียลที่ได้เห็นก็แห่มาวิจารณ์หนักทันที เพราะแต่เดิมแล้วการเขียนบทความ คือการฝึกเขียน และเพิ่มทักษะให้การใช้ภาษามีประสิทธิภาพมาตลอด โดยวัดจากการเรียบเรียงเรื่องราว และภาษาที่สละสลวยเป็นหลัก แต่การใช้ AI จะทำให้การพัฒนา และกระบวนการคิดในส่วนนี้ลดลง
หรือไม่ก็แทบไม่ได้คิด และพิมพ์ตั้งต้นไอเดีย หรือหัวข้อก็ได้บทความแบบสำเร็จรูปในเวลาไม่ถึงชั่วโมงแล้ว หรือต่อให้ใช้ AI เป็นเครื่องมือเพื่อหาแนวทาง แล้วไปเรียบเรียงเอง ก็เหมือนกับการมีสูตรไว้เพื่อให้เขียนตาม และดัดแปลงเป็นฉบับตัวเองเท่านั้น
แต่ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือข้อมูล และการเรียบเรียงที่ AI อาจจะรวบรวมมาจากแหล่งอื่น ๆ ที่มีลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องมากเพียงพอ การได้รับรางวัลเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ก็อาจไม่เหมาะสม และไม่ได้น่าภูมิใจนัก
โดยฝั่งโซเชียลมองว่าการประกวดในครั้งนี้เหมาะเป็นการประกวดเขียนพรอมพ์มากกว่าที่จะเขียนบทความ เพราะการจะได้คำตอบที่ดี และตรงจุด ต้องมาจากการเขียนพรอมพ์ที่ดีก่อน ซึ่งฝั่งคุรุสภาอาจจะมองว่าเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเรียนการสอน แต่อาจจะลืมช่องโหว่ที่การใช้ AI ยังมีอยู่ไป
และหากในอนาคตเริ่มมีการประหวด หรืองานไหนที่ตัดสิน และวัดจากการใช้ AI อีก ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้มนุษย์ที่ต้องฝึกคิด และฝึกทักษะมาตั้งแต่เกิดมีการคิด วิเคราะห์ และวิจารณ์น้อยลง อาจถึงขั้นแยกแยะข้อเท็จจริงไม่ได้เลยก็เป็นได้
ทั้งนี้ ก็คงเป็นบทเรียนที่น่าจับตามองต่อไปว่าการประกวดเขียนบทความจะดำเนินต่อจนได้ผู้ชนะ หรือตระหนักถึงช่องโหว่และหยุดเพียงเท่านี้
ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=756010456554701&id=100064372614031