TipsWebsite

Avatar

Nutn0n February 26, 2019

ตอบคำถามเว็บ EP.2 – ค่าใช้จ่าย, Host, Domain คืออะไร, จ้างทำหรือทำเองดี

ตอนนี้สืบเนื่องมาจากที่เราคุยกันไปในตอนแรกใน ตอบทุกคำถามของคนอยากมีเว็บ EP.1 – มีเว็บไปทำไม เว็บมีแบบไหนบ้าง จะทำเว็บซักเว็บต้องใช้อะไร ว่า การจะทำเว็บนั้นต้องรู้วัตถุประสงค์ก่อนว่าทำไปทำไม ซึ่งจะช่วยให้เราออกแบบและเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ใครที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองทำเว็บไปเพื่ออะไรแนะนำให้กลับไปอ่านตอนแรกก่อน แต่ถ้าใครพร้อมจะมีเว็บไซต์แล้ว เราก็จะมาดูกันว่า แล้วค่าใช้จ่ายในการทำเว็บไซต์นั้นมีอะไรบ้าง

อย่างแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าเว็บไซต์ 1 เว็บนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มาจากท้องพ่อท้องแม่หรือเปล่า

ทำความเข้าใจ Host และ Domain

นึกภาพเว็บไซต์ของเราก็เหมือนบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งการจะมีบ้านได้ต้องมีที่เสียก่อน ที่นั้นไม่ได้ให้กันได้ฟรี ๆ (เว้นแต่เขาอาจหวังผลประโยชน์จากคุณ) เราอาจจะซื้อที่เองก็ได้ หรือถ้าที่มีราคาแพงก็จะมีนายทุนกลุ่มนึงไปกว้านซื้อที่มาไว้หรือปลูกคอนโด แล้วเราก็ไปซื้อที่กับนายทุนพวกนั้นในราคาที่ถูก แต่ถ้าสมมติว่าตึกนั้นเกิดมีปัญหา น้ำไม่ไหลไฟไม่ติดก็เป็นพร้อมกันทั้งตึก เว็บไซต์เราก็เหมือนกัน เราจะต้องมีพื้นที่ก่อน (แล้วค่อยเอาเว็บไซต์หรือบ้านไปปลูกบนนั้น) แต่คนจะมาเว็บไซต์หรือบ้านเราไม่ได้เลยถ้าเขาไม่รู้จักชื่อ แม้ว่าแต่ละบ้านจะมีหมายเลขประจำบ้าน แต่คงไม่มีใครอยากจำเพราะมันยาว เราเลยต้องไปติดสินบนยามหน้าหมู่บ้านไว้ว่า ถ้าสมมติจะมาบ้าน RAiNMAKER ต้องไปที่ชั้นนี้ เลขที่นี้นะ ซึ่งเราก็ต้องจ่ายเงินให้กับยามด้วย ไม่งั้นยามจะปล่อยให้คนที่มาเยี่ยมหาบ้านเลขที่เอง

สรุปง่าย ๆ

  • Host คือพื้นที่ที่เราจะไปปลูกบ้านอยู่ ซึ่งเราต้องเสียเงินซื้อ
  • Domain คือชื่อของเว็บไซต์เราเช่น RAiNMaker.in.th, MangoZero.com, Spaceth.co ซึ่งจะพาเราไปที่บ้านของเรา

ปกติแล้ว Host นั้นถ้าไม่ต้องการปรับแต่งอะไรมากเราจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Shared Host อธิบายง่าย ๆ เหมือนกับอยู่คอนโด ยกเฟอร์ไปลงก็เป็นบ้านของเรา (เฟอร์นั้นคือ WordPress หรือ CMS ต่าง ๆ) แต่ถ้าเราจะเขียนเอง ก็อาจจะมีตัวเลือกว่าจะอยู่บ้านก็ได้ จะอยู่คอนโดก็ได้ แต่ถ้าเป็นบ้านจริง ๆ บนที่ดินของเราปลีกแยก เราจะทุบ ตี ตอก เจาะ อะไรก็ได้ (เหมือนกับการเขียนโปรแกรมขึ้นมาเอง) ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดว่าเราจะต้องเลือกอยู่บ้านหรือคอนโดขึ้นกับงบของแต่ละคน แต่ถ้าอยู่คอนโดแล้วมีคนมาเยี่ยมเยอะ ๆ เพื่อนข้างห้องอาจจะไปฟ้องนิติทำให้เราโดนเตะออกมาก็ได้ ขึ้นกับ Policy ของ Host นั้น ๆ

ก่อนที่จะยืดยาว สรุปง่าย ๆ ว่า Host นั้นราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 700 กว่าบาท/ปี หรือแพงกว่านั้นแล้วแต่ความจำเป็น (ความจุ, อัตราการส่งข้อมูลเข้าออก) และ Domain นั้น ราคาจะอยู่ที่ 100 บาท/ต่อปี หรือเป็นแสนเป็นล้าน ขึ้นกับความเป็นเอกลักษณ์และ . ต่าง เช่น .com, .co, .in.th ที่ราคาจะแตกต่างกันออกไป

สามารถไปลองดูราคาของ Domain ได้ที่เว็บไซต์รับจด Domain เช่น Namecheap , GoDaddy หรือบริการ Host ที่เลือกได้ตามใจชอบ ลอง Search Google ดูได้ว่า บริการ Hosting ก็จะเจอตัวเลือกมากมายทั้งของไทยและของนอก

ดังนั้น Fixed Cost ของการมีอยู่ซึ่งเว็บไซต์ 1 เว็บต่อปี (ไม่รวมค่าจ้างทำที่เป็น Variable Cost) ถ้าเว็บ WordPress ธรรมดา ๆ ก็อาจจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเป็นเว็บเสกลใหญ่หน่อยก็อาจเป็นหลักหลายพันแต่ไม่น่าเกิน 3,000 – 5,000 บาทหรือถ้ายิ่งใหญ่อลังมากรับ Traffic หนัก ๆ ต้องเก็บข้อมูลเยอะ ๆ ก็อาจจะถึงหลักหมื่นหลักแสนได้

ส่วนเว็บสำเร็จรูป Drag and Drop แบบ Wix หรือ Square Space นั้นก็ขึ้นอยู่กับ Package ที่เราเลือกใช้ (ใครจะใช้ Square Space จริง ๆ ไม่ต้องมาอ่านก็ได้เพราะทุกอย่างแทบจะสำเร็จรูปให้อยู่แล้ว และไม่ต้องหา Host เองเพราะใช้ของทางผู้ให้บริการรวมถึงบริการเลือกซื้อ Domain ต่าง ๆ )

แล้วสรุปทำเว็บนั้นใช้เงินเท่าไหร่ ต้องจ้างใคร

ทีนี้มาถึงคำถามที่เราอาจจะยากอยู่ที่สุดก็คือ แล้วถ้าจะจ้างทำเว็บซัก 1 เว็บ จะจ้างใครทำดี ซึ่งตรงนี้เราจะสามารถเลือกได้ตั้งแต่ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จ้าง Freelance, จ้างกลุ่มบริษัทรับทำเว็บ หรือให้ Digital Agency รายใหญ่จัดการให้ ซึ่งตรงนี้ก็ให้ย้อนกลับไปดูที่วัตถุประสงค์และคำถามที่เราถามไปตอน EP.1 ว่า เราทำเว็บไปเพื่ออะไร ถ้าวัตถุประสงค์เราแน่น การคุยหรือการบรีฟก็ไม่ยาก (และแอบบอกในฐานะคนนึงที่รับทำเว็บว่า ถ้าโจทย์ชัด เราสามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้ และงานจะออกมาดีกว่าการที่เดินตัวเปล่าเข้ามาหาแบบงง ๆ)

  • จ้าง Freelance ทำ อาจจะลองถามหาจากคนใกล้ ๆ ตัวว่ารู้จักคนรับทำเว็บไหม ปกติราคาก็อาจจะอยู่ที่หลักหมื่นสำหรับเว็บไซต์ธรรมดา ๆ สมมติว่าใช้ WordPress ไม่ปรับแต่งอะไรมาก ก็อาจจะอยู่ที่ 20,000 – 50,000 บาท (ราคานี้เพื่อให้เห็นภาพเฉย ๆ ไม่ได้เป็นการตีราคา ห้ามไปอ้างอิง เราเตือนแล้วนะ)
  • จ้างบริษัทที่รับทำ ราคาก็อาจจะอยู่ที่หลายหมื่นหน่อยหรือจนถึงหลักแสน การจ้างบริษัททำข้อดีก็คือไม่ต้องปวดหัวกับการคุยงานหรือกลัวว่า Freelance จะทิ้งงานหรือเปล่า เพราะบริษัทจะมีการจัดการที่ค่อนข่างเป็นระบบ และทางบริษัทเองก็คงไม่อยากเสียชื่อ
  • จ้าง Digital Agency อันนี้แนะนำว่าถ้าโปรเจ็คใหญ่โต ควรจ้าง scale ระดับนี้ทำเพราะบางทีเราอาจจะเห็นภาพไม่ครบหรือเก็บรายละเอียดไม่หมด บาง Digital Agnecy ก็อาจจะช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ด้วยเช่น ช่วยทำ PR หรือช่วยคิดแคมเปญการตลาดต่าง ๆ ราคาก็หลักแสนถึงหลักล้านหรือหลายล้านเลย

ราคานี้เป็นค่าเหนื่อย อย่าลืมว่ายังไม่รวมหลาย ๆ อย่างเช่น ค่าลิขสิทธ์รูปภาพ, ฟอนต์ หรือบางที่อาจจะต้องออกแบบสิ่งที่เรียกว่า Prototype ให้เราดูก่อน ซึ่งตรงนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเข้าไปอีก

เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว เราถึงได้เน้นย้ำมาก ๆ ว่าให้พยายามหาวัตถุประสงค์การมีตัวตนอยู่ของเว็บไซต์เราว่ามีไปเพื่ออะไร ถ้าอยากเขียน Blog ก็ตอบคำถามให้ได้ว่า แล้วคนจะเข้าถึงได้จากไหน SEO ดีหรือเปล่า (ตรงนี้เราเอาไปบรีฟกับคนทำเว็บได้ด้วยนะ เช่น เน้น SEO, เน้นเชื่อมต่อ API กับ Facebook) หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น เอาไว้เก็บข้อมูลคนเพื่อยิง Ads (ก็ไปคุยกับคนทำว่าอยากฝัง Facebook Pixel อะไรก็ว่าไป)

ในตอนต่อไปเราจะพูดถึงว่า แล้วถ้าเรามีเว็บไซต์ขึ้นมาจริง ๆ แล้ว เราจะใช้เว็บไซต์ของเราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร

อ่านต่อ

ตอบคำถามเว็บ EP.1 – มีเว็บไปทำไม เว็บมีแบบไหนบ้าง จะทำเว็บซักเว็บต้องใช้อะไร

ตอบคำถามเว็บ EP.3 – รู้ได้ไงว่าทำเว็บแล้วเวิร์ค วิธีดู Analytic และประเมินผลหลังทำเว็บไซต์

 

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save