เมื่อวันก่อนได้เขียนเรื่อง ทำไม Thai Blogger ควรเริ่มทำ SEO แบบจริงจังกันได้แล้ว น่าจะมีหลายคนสนใจที่อยากจะทำเว็บไซต์ของตัวเอง แต่หลายคนอาจจะยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำเว็บมาก่อนเลย วันนี้ก็เลยจะอาสาพาทุกคนไปเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายของการทำเว็บกัน
1. ค่าเช่า Domain(ชื่อเว็บ)
เว็บทุกเว็บจะต้องมีชื่อให้ทุกคนจำได้ ก่อนจะทำเว็บไซต์เราก็ควรจะหาชื่อเสียก่อน โดยชื่อของเว็บไซต์จะเรียกกันว่า Domain เราสามารถตั้งชื่อเว็บว่าอะไรก็ได้แต่จะต้องไม่ซ้ำกับชื่อเว็บที่เคยมีอยู่ เช่น ถ้าอยากจะจด www.grappik.com หรือ www.spaceth.co จะไม่สามารถทำได้เพราะถูกจด Domain เอาไว้แล้ว แต่เราจะสามารถจด www.grappik.in.th ได้ชื่อเว็บซ้ำกันได้แต่ dot(.) ต่างๆจะซ้ำกันไม่ได้
ตรวจสอบ Domain ที่ยังสามารถใช้งานได้
Domain ไม่ได้ถูกซื้อแต่จะเป็นการเช่ารายปี มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า Domain ซื้อครั้งเดียวแล้วใช้ได้ตลอดไป แล้วไม่ยอมไปต่ออายุพอถึงกำหนดเว็บไซต์จะไม่สามารถเข้าได้ แล้วอาจจะโดนคู่แข่งแย่งเช่าไป
ราคาค่าเช่า Domain จะแตกต่างกันออกไปที่ dot(.) ยิ่งแปลกราคายิ่งสูง แต่ส่วนมากในไทยจะใช้เป็น .com และ .in.th และที่มาแรงตอนนี้คือ .co
เว็บไซต์ที่ให้บริการจด Domain มีดังนี้ (แต่ละผู้ให้บริการราคาจะไม่เท่ากัน)
https://www.pathosting.co.th/ (บริการหลังการขายดี), https://z.com/th/, http://godaddy.com/ (ราคาถูกมาก) และ อีกมากมายลองไปค้นหาใน Google ต่อได้
สรุปราคาต่อปีจะตกอยู่ที่: 400 – 500 บาท
2. ค่าเช่า Hosting
เมื่อกี้เราไปเช่าชื่อเว็บไซต์มาเรียบร้อย ตอนนี้เราก็ต้องการที่เก็บข้อมูลเพื่อการแสดงผลนั่นก็คือ Hosting ก่อนเช่าเราจะต้องดูอะไรกันบ้าง Hosting นั้นเปรียบเสมือนพื้นที่ของบ้านเราควรเลือกเช่าพื้นที่ให้เหมาะสมกับตัวบ้าน(เว็บไซต์) เช่น เราเช่าพื้นที่ขนาด 2 GB ขนาดของเว็บไซต์ก็ไม่ควรจะเกิน 1.5 GB (เหลือพื้นที่เอาไว้สำหรับการขยายตัวในอนาคต)
มาดูคำศัพท์ของการเช่าที่หลายคนไม่เข้าใจไปพร้อมๆกัน
- แบนวิธด์ คือ ปริมาณการรับส่งข้อมูลของเว็บไซต์ ตัวอย่าง นาย ก เข้าเว็บไซต์ https://goohiw.com/ ซึ่งมีแบนวิธด์ 200 MB เว็บเบราว์เซอร์ของนาย ก จะทำการดาวน์โหลดข้อมูลของหน้าเว็บไซต์จำนวน 3 MB นั่นแปลว่าเว็บไซต์จะเหลือพื้นที่ อีก 197 MB ในเดือนนั้น ซึ่งในทุกต้นเดือนผู้ให้บริการจะทำการคืนแบนวิธด์ให้ครบจำนวนเดิม
- พื้นที่ คือ ขนาดพื้นที่ที่เอาไว้วางเว็บไซต์ของเรา เช่น เว็บไซต์ที่ทั้งหมด 80 หน้า มีพื้นที่ 1.5 GB จะต้องเช่า Hosting ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าเท่านั้น (เราสามารถขยายพื้นที่ได้ในอนาคตโดยไม่กระทบกับเว็บไซต์) ซึ่งขนาดข้อมูลแต่ละหน้าของเว็บไซต์จะมีความเกี่ยวของกับ แบนวิธด์ ถ้าข้อมูลในแต่ละหน้ายิ่งหนักเราจะเสียแบนวิธด์เยอะตามไปด้วย
- รองรับ 1 โดเมน หรือ รองรับ 3 โดเมน คือ ใน Hosting จะสามารถเชื่อม Domain เข้าด้วยกันหลายตัวได้ ถ้าผู้ให้บริการเปิดให้ใช้ ส่วนมากถ้า Hosting ที่พื้นที่เยอะๆจะเปิดให้เชื่อมหลาย Domain เข้าด้วยกันได้ ตามรูปภาพด้านบน ข้อเสียคือถ้า Hosting ล่ม ทุกเว็บที่เชื่อมเอาไว้ก็จะล่มพร่อมกันทั้งหมด(แต่ % เกิดขึ้นน้อย)
สรุปราคาต่อปีจะตกอยู่ที่: 1,200 – 1,500 บาท (เว็บไซต์ขนาดเล็ก)
เรื่อง Hosting ยังไม่จบ ถ้าใครคิดว่าเว็บของเรามีคนเข้าต่อเดือนเยอะมากๆ ควรไปใช้ Cloud Hosting ซึ่งเว็บขนาดใหญ่ของไทยหลายๆเจ้าใช้บริการแบบนี้อยู่ (ส่วนตัวตอนนี้ใช้ www.digitalocean.com)
*หมายเหตุ: ถ้าจะให้ง่ายควรจด Domain และเช่า Hosting เอาไว้ที่ผู้ให้บริการที่เดียวกันหรือเช่าเป็น Package Domain + Hosting เลยดีที่สุด เพราะเวลาหมดอายุจะได้ต่อพร้อมกันทีเดียว
3. ค่าทำเว็บไซต์
ในกรณีนี้จะขอพูดในส่วนของการทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง โดยใช้ WordPress เหตผลที่อยากจะให้ใช้ WordPress ในการทำก็เพราะว่า
- ฟรี
- มีภาษาไทย
- ระบบไม่ซับซ้อน
- มีสอนบน Youtube
- มี Theme สำเร็จรูปขาย
- มี Plug-in ให้ใช้เยอะ
- เหมาะกับการทำ SEO
- ติด Banner โฆษณาง่าย
เมื่อเราจด Domain และ เช่า Hosting เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการทำเว็บไซต์ โดยวิธีการทำอาจจะมีขั้นตอนอยู่บ้าง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจจะต้องไปหาความรู้กันเองหรือลองไปซื้อ https://th.seedthemes.com/ Theme WordPress ของคนไทย หลังจากซื้อจะมีวีดีโอการสอนทำเว็บด้วย WordPress ขึ้นพื้นฐานไปจนถึงทำให้เว็บไซต์สามารถออนไลน์ได้ หรือ เข้าไปอ่าน บทความ สอนทำเว็บ WORDPRESS ด้วยตัวเองภายใน 10 นาที พร้อมขั้นตอนการทำอย่างละเอียด
ในกรณีที่สามารถทำเว็บด้วย WordPress ได้แล้ว และต้องการที่จะทำให้เว็บสวยขึ้นกว่าเดิม สามารถไปเลือกซื้อ Theme สำเร็จรูปสวยๆจาก https://themeforest.net/ หรือจะใช้ Theme Free ก็เข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ WORDPRESS THEMES ฟรีสำหรับนักออกแบบ
สรุปราคาจะอยู่ที่: 2,000 – 2,500 บาท/Theme
โดยรวมแล้วราคาทั้งหมดสำหรับการทำเว็บ Blog เองจะตกอยู่ 4,000 – 5,000 บาท ในครั้งแรก สำหรับปีถัดๆไปก็ดูขนาด Hosting ตามความเหมาะสม และต่อ Domain อย่าให้ขาดแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
บทความนี้เป็นแค่ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการประเมินราคาการเว็บ Blog ด้วยตัวเองเท่านั้น สำหรับการทำเว็บไซต์แบบขั้นสูงยังจะต้องศึกษาข้อมูลอีกมากมาย เพราะแต่ละเว็บไซต์มีด้านข้อมูลและแนวทางที่แตกต่างกัน