เพราะเหตุการณ์การเสียชีวิตของ ‘แตงโม – นิดา’ ทำให้สื่อต่าง ๆ เกิดความกระหายการได้มาซึ่งข้อมูลที่อัปเดตแบบเรียลไทม์ ซึ่งบางครั้งความรวดเร็วนี้ก็ทำให้ ‘จรรยาบรรณสื่อ’ ถูกลืมเลือนไปได้เช่นกัน ดังนั้นทาง RAiNMaker ในฐานะที่เป็นสื่อออนไลน์จึงอยากยกกรณีศึกษาของสื่อน้ำดีอย่าง ‘ช่อง 7’ ที่ทำหน้าที่ของสื่ออย่างแท้จริงมาแชร์กัน เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า ‘การเป็นสื่อที่ทันเหตุการณ์ ไม่ได้หมายความว่าจะมีจรรยาบรรณไม่ได้’
‘สื่อน้ำดี’ แม้จะมีคำนิยามที่แตกต่างกันไป แต่โดยหลักแล้วคือ สื่อที่นำเสนอข่าวอย่างเหมาะสม โดยนำเสนอเพียงแค่ข้อเท็จจริง ไม่วิพากษ์หรือวิจารณ์จากความคิดเห็นส่วนตัวมากเกินไปจนสูญเสียความเป็นข่าว เพราะหน้าที่ของสื่อคือการนำเสนอความจริงให้ประชาชนได้รับรู้
ซึ่งยังมีหลายสื่อที่คำนึงถึงยอดเอ็นเกจเมนต์ในโลกโซเชียลมากกว่าความเป็นมนุษย์ด้วยกันในโลกความจริง แม้จะรู้ว่าบางสิ่งที่นำเสนอออกไปจะทำให้เกิดประเด็นอื่น ๆ ตามมา หรือโน้มน้าวใจผู้คนให้หลงเชื่อจากข้อมูลผิด ๆ ก็ตาม ทำให้ทุกวันนี้เราต้องเรียนรู้ที่จะเสพข่าวอย่างมีสติ และใช้วิจารณญาณก่อนเชื่อเป็นอย่างมาก
แต่สื่อที่มีจรรยาบรรณก็ไม่ได้หายไปเลยซะทีเดียว ซึ่งในกรณีศึกษานี้ทาง RAiNMaker ขอยกตัวอย่างเป็นทีมนักข่าวช่อง 7 เพราะนอกจากการนำเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณในเหตุการณ์ของแตงโมแล้ว เหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่าง ‘กราดยิงโคราช’ และ ’13 หมูป่า’ ก็ใช้โดรนในการให้ความช่วยเหลือด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามบทบาทของสื่อ อย่างที่สื่อควรจะเป็นได้
และจากการแสดงความคิดเห็นเรื่องจรรยาบรรณสื่อของประชาชนต่อสื่อต่าง ๆ เราจึงรวบรวมวิธีในการนำเสนอข่าวจากช่อง 7 มาแชร์ให้ได้รู้กัน ดังนี้
นำเสนอข่าวอย่างเหมาะสม
เพราะแตงโม – นิดา เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวช่อง 7 การนำเสนอข่าวเลยมีความผูกพันอยู่ โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคลของแตงโมเป็นสำคัญ ซึ่งการเป็นสื่อควรนำเสนอเพียงแต่ข้อเท็จจริงของเนื้อหา และเผยแพร่ข่าวสารตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้หรือติดตามเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยไม่พาดหิงหัวข้อข่าวเกินจริง หรือจุดชนวนประเด็นดราม่าเพิ่มเติม
แม้จะมีบางสื่อที่ใช้โอกาสนี้ในการทำข่าว หรือสร้างคอนเทนต์เพื่อเรียกยอดเอ็นเกจเมนต์บนโลกโซเชียลก็ตาม แต่บทบาทหน้าที่ของสื่อควรถ่ายทอดออกมาตามความจำเป็น และมีการคัดกรองก่อนนำเสนอเพื่อ ‘ให้ข้อมูล’ มากกว่า ‘วิจารณ์ข้อมูล’ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่รวดเร็วแต่ขาดการคัดกรองออกไป จนนำไปสู่การเข้าใจผิดในภายหลัง
ถ่ายทอดสดเหตุการณ์จากมุมไกล
การนำเสนอข่าวแบบไลฟ์สด เป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจเพราะจะได้ตามเหตุการณ์แบบเรียลไทม์ทัน และในมุมมองกลับกันการไลฟ์สดสำหรับสื่อก็เป็นวิธีที่ทำให้ได้ข่าวอย่างรวดเร็วแบบไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องโปรดักชันมากนักด้วย แต่สำหรับเหตุการณ์ของแตงโมครั้งนี้ ก็ได้เปิดช่องโหว่ให้หลาย ๆ สื่อได้เข้าไปถ่ายรูป และรายงานข่าวใกล้โป๊ะเรือมากขึ้น เพื่อที่จะได้บันทึกภาพร่างของผู้เสียชีวิตชัดเจน
ซึ่งในกรณีนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพที่มีความละเอียดอ่อนต่อจิตใจผู้ที่พบเห็น โดยเฉพาะกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคล และให้เกียรติกับผู้เสียชีวิต คือจรรยาบรรณสื่อที่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือแม้กระทั่งการมุงเพื่อสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกของครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ควรเคารพสิทธิส่วนบุคคล และให้เกียรติตามจรรยาบรรณสื่อเช่นกัน
และหากสื่อคำนึงถึงเรื่องนี้มากพอ การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในระยะไกล และเพิ่มพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่จะไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตสามารถลงภาพเพื่อไว้อาลัยได้ โดยไม่ต้องนำภาพศพของผู้เสียชีวิตมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ รวมถึงใช้การบรรยายสถานการณ์แทนการเล่าเรื่องผ่านกล้อง อย่างที่สื่อช่อง 7, คม ชัด ลึก, อีจัน และเรื่องเล่าเช้านี้ เลือกที่จะปิดไลฟ์ และแพลนกล้องไปทางอื่น ขณะที่มีบางสื่อรุมถ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิตอยู่ จึงแสดงให้เห็นว่าสื่อก็ทำหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณได้ แต่เลือกที่จะมีมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
สร้างการรับรู้ผ่านสื่อ
เพราะการเป็นสื่อจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีพื้นที่ให้ส่งเสียงได้มากกว่าพื้นที่ของคนธรรมดาทั่วไป ดังนั้นไม่ว่าจะลงข้อมูลข่าวสารอะไรก็ตาม ควรผ่านการคิดวิเคราะห์ คัดกรองเพื่อประโยชน์ต่อการรับรู้ของประชาชนให้มากที่สุด โดยในกรณีของเหตุการณ์แตงโม ช่อง 7 ได้ใช้พื้นที่สื่อในการขอความร่วมมือกับชาวเน็ต และสื่ออื่น ๆ ในการไม่แชร์ภาพการพบร่างของแตงโม เพื่อเป็นการให้เกียรติกับผู้เสียชีวิต
แต่ไม่ว่าจะเป็นข่าวผู้เสียชีวิตจากคนมีชื่อเสียง หรือคนธรรมดาทั่วไป สื่อก็ควรให้พื้นที่และความเคารพในสิทธิส่วนบุคคล ผ่านการสร้างการรับรู้เรื่องจรรยาบรรณในพื้นที่ของตัวเองให้สังคมได้ตระหนักถึงความถูกต้อง และความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะกับโลกอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว และเผยแพร่ไปไว ยิ่งต้องใช้พื้นที่ของสื่อมาคอยกำกับให้โลกของการแชร์ต่อเพียงแค่ปลายนิ้วมือมีขอบเขต และจรรยาบรรณมากขึ้น
เผยแพร่คอนเทนต์เชิงบวก
การสร้างอิมแพค และพลังเชิงบวกก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของสื่อเช่นเดียวกัน เพราะสื่อเปรียบเสมือนฟันเฟืองของสังคม ว่าอยากให้ผู้คนในสังคมรับรู้เหตุการณ์ไหนมากที่สุด ซึ่งในตอนนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข่าวของแตงโมนั้นแทบจะครองพื้นที่สื่อเกือบทุกสื่อไปแล้ว โดยบางเนื้อหาข่าวที่เสพในโซเชียลก็สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจได้
ดังนั้นการที่ช่อง 7 เริ่มสร้างคอนเทนต์ที่ทำให้ผู้คนปรับมุมมองเกี่ยวกับข่าวการเสียชีวิตของแตงโม แทนที่ด้วยการระลึกถึงแตงโมในความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นสกู๊ปพิเศษเพลงที่แตงโมเคยร้องไว้ตอนเล่นละคร “สาวน้อยร้อยเล่มเกวียน” หรือคอนเทนต์ 11 ปีความผูกพันแตงโมกับช่อง 7 นั้น ล้วนเป็นการเสริมสร้างความทรงจำดี ๆ ส่งท้ายให้กับแตงโม และผู้คนที่รู้สึกผูกพันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้สื่ออย่าง คม ชัด ลึก ยังมีการให้ส่งริบบิ้นสีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง และการรอคอยการกลับมาพบกันของแตงโมในระหว่างที่กำลังตามหาแตงโมอยู่ด้วย
บทสรุปของบทความนี้จะเห็นได้ว่า สื่อทุกสื่อล้วนมีอิทธิพลต่อความเชื่อ ความหวัง และความจริงที่ประชาชนควรรับรู้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสื่อควรยึดเรื่องจรรยาบรรณในการทำข่าวเป็นหลักสำคัญ แต่ในกรณีศึกษาของ RAiNMaker นี้ ไม่ได้นำเสนอมาเพื่อฝักฝ่ายในสื่อไหนแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงแค่การเผยแพร่ด้านดี ๆ ที่สื่อควรมีให้รับรู้กันเท่านั้น
เพราะนอกจากข่าวแตงโมแล้ว ประเด็นอื่น ๆ อย่าง #ม็อบชาวนา #ม็อบเกษตรกร #น้ำท่วมภาคใต้ #ค้ามนุษย์ #ยูเครน ก็ยังคงต้องการพื้นที่จากสื่ออยู่เช่นกัน ซึ่งหากสื่อยังคงให้น้ำหนักกับข่าวไหนมากเกินไปอยู่ ก็คงไม่พ้นประชาชนที่จะต้องช่วยกันส่งเสียง จนกว่าจะถึงวันที่สื่อมองเห็นเป็นแน่