เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ที่ผ่านมา ผู้ชนะรางวัลสาขา Best Picture หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงาน Oscars ครั้งที่ 94 ได้ตกเป็นของ CODA ภาพยนตร์เรื่องแรกจากแพลตฟอร์มสตรีมมิง Apple TV+ ที่ชนะรางวัล ว่าด้วยเรื่องราวชวนให้อิ่มเอมที่ไม่ว่าใครได้ดูแล้วเป็นอันต้องรู้สึกได้เติมเต็มบางอย่างในหัวใจ โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว ความฝัน และความรักที่ครบรส และเรียบง่าย แต่ทรงพลังในตัวเอง วันนี้ทาง RAiNMaker เลยอยากพาทุกคนมาแกะบทเรียน 5 ทริกการเล่าเรื่องของหนังที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีกัน!
CODA เป็นภาพยนตร์ที่มีชื่อย่อมาจาก ‘Child of Deaf Adults’ เล่าเรื่องของ ‘รูบี้’ เด็กสาวมัธยมที่โตมาเป็นล่ามประจำบ้าน ท่ามกลางครอบครัวที่ทุกคนหูหนวก แต่ในขณะเดียวกันเธอก็มีความฝันอยากส่งตัวเองเรียนต่อในมหาวิทยาลัยจากการชิงทุนผ่านการร้องเพลง และต้องเป็นเสาหลักในการทำงานประมงของบ้านไปในเวลาเดียวกัน
ซึ่ง CODA นอกจากจะได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2022 แล้ว ยังคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงสบทบชายยอดเยี่ยม ที่มี ‘Troy Kotsur’ เป็นนักแสดงหูหนวกคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาถึงเวทีออสการ์ CODA ได้ผ่านการรับรางวัลมาจาก Sundance Film Festival ถึง 4 สาขามาก่อนอีกต่างหาก
แต่เรื่องรางวัลไม่ได้เป็นแค่การการันตีเท่านั้น เพราะ CODA ยังมีประเด็นและการสื่อสารที่น่าสนใจ ผ่านการเล่าเรื่องเรียบง่ายแต่มีพลังมากมาย จนทาง RAiNMaker อยากมาแชร์ให้อ่าน เพราะยุคนี้ทริกการเล่าเรื่องไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ โฆษณา หรือแม้แต่กับโพสต์ในโซเชียลเองก็ตาม ต้องเรียนรู้ที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมเติมเต็มให้กันและกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกใช้มันให้เหมาะสมอย่างไรด้วย เพราะเราวิเคราะห์มาให้ถึง 5 ทริกพร้อมเสิร์ฟถึงที่เลย!
ป.ล. สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูไม่ต้องห่วง เพราะเราไม่มีสปอยล์หรือเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์จ้า!
ถ่ายทอดเรื่องราวที่คนมีส่วนร่วม
เรื่องครอบครัว ความรัก และความฝันเป็นสิ่งที่ใครเห็นก็อิน
หนังเรื่องนี้จะพาคุณไปสำรวจกับชีวิตประจำวันของตัวละคร กับเส้นทางที่ต้องเลือกระหว่าง ‘ครอบครัว’ และ ‘ความฝันของตัวเอง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครต่างก็ต้องเคยชั่งน้ำหนักทั้ง 2 เรื่องนี้มาบ้างแล้วในชีวิต เลยทำให้ผู้ชมรู้สึกอินได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกับวัยที่เริ่มจะก้าวข้ามมาเป็นผู้ใหญ่ หรือช่วงเวลาที่เป็นผู้ใหญ่ไปแล้วก็อาจทำให้หวนกลับมานึกถึงเรื่องราวของตัวเองได้เช่นกัน เพราะปัญหาช่องว่างระหว่างวัย รวมไปถึงปัญหาทางกายภาพที่ไม่สามารถเลือกได้ ทำให้คนดูค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับเรื่องได้ไม่ยากเลย
ซึ่งการมีส่วนร่วมทั้งอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ เหล่านี้ เลยเป็นองค์ประกอบชั้นดีในการใช้เป็นทริกเพื่อ ‘เอาคนดูให้อยู่หมัด’ เลยก็ว่าได้ หรือบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจความรู้สึกของตัวละครไปเสียทั้งหมด แต่เข้าใจพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันแต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน CODA ก็สามารถนำเสนอถึงประเด็นนี้ของสังคมได้อย่างชัดเจน เพราะแค่ครอบครัวเล็ก ๆ ก็สามารถเกิดความขัดแย้งได้ นับประสาอะไรกับโลกอันกว้างใหญ่ที่มีผู้คนเป็นล้านอยู่ร่วมกัน
การนำไปใช้กับแบรนด์
การเล่าเรื่องที่ทำให้คนดูมีความรู้สึกร่วม ไม่ได้ใช้ได้แค่ในวงการภาพยนตร์เท่านั้น เพราะวงการโฆษณาที่มีแบรนด์ต่าง ๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกลยุทธ์ทางการตลาดได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายที่อยากโน้มน้าวให้พวกเขารู้สึกถึงแบรนด์ที่เข้าใจ Pain Point ของพวกเขา
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอารมณ์และความรู้สึก หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ก็ตาม การเก็บรวบรวมอินไซต์ของกลุ่มเป้าหมาย และพยายามเจาะลึกเพื่อนำมาทำเป็นคอนเทนต์ได้ จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีใครสักคนที่เข้าใจ ว่ากำลังประสบปัญหาอะไรในชีวิตอยู่ และทำให้แบรนด์ของคุณเป็นทางออกของปัญหานั้น ๆ ได้
มีความ Coming of Age ในเรื่อง
พาไปดูชีวิตของตัวละครหลักเลยทำใหู้รู้สึกเติบโตไปด้วย
ใน CODA คนดูจะถูกพาไปสำรวจชีวิตประจำวันของตัวละครหลักอย่างรูบี้ที่มีหลายบทบาทในวันเดียว ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนมัธยมที่มีความฝันและแอบชอบเด็กผู้ชายรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือบทบาทเสาหลักของบ้านที่ต้องคอยเชื่อมโยงโลกของครอบครัวที่หูหนวกกับโลกของผู้คนที่ใช้ชีวิตตามปกติผ่านการสื่อสารภาษามือ
แต่ไม่ว่าหนังจะแสดงบทบาทด้านไหนให้เห็น คงไม่สำคัญเท่าเรื่องราวที่เรียงร้อยเหล่านั้นมันมากพอที่จะทำให้คนดูรู้สึกอิน และอยากตามต่ออย่างคาดหวังไปด้วยกันหรือเปล่า และแม้จะต้องผ่านอุปสรรคมากมายตามประสามนุษย์คนหนึ่งที่ชีวิตมีทั้งวันที่ดีและไม่ดี แต่ CODA ก็มีส่วนที่ทำให้คนดูรู้สึกได้เติมเต็มโมเมนต์ที่รอมานานเช่นเดียวกัน
การนำไปใช้กับแบรนด์
คำว่า ‘Coming of Age’ ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ในประเภทของภาพยนตร์ที่พาเราไปติดตามชีวิตและความเป็นอยู่ของตัวละครนั้น ความจริงแล้วก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแบรนด์ได้นะ เพราะหากโลกของภาพยนตร์ใช้ทริกนี้กับตัวละคร ในวงการโฆษณาก็สามารถให้แบรนด์ใช้ความ Coming of Age ได้กับสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ในการผูกเรื่องราวเข้าด้วยกันได้
หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่ามันคือการทำให้รู้จักแบรนด์มากขึ้นผ่านการแตกย่อยเรื่องราว หรือเบื้องหลังในมุมที่ไม่เคยเผยให้รู้มาก่อนก็ได้ แต่ต้องเริ่มจากการรู้จุดประสงค์ของแบรนด์ก่อนว่าอยากนำเสนออะไรให้คนดูรู้เกี่ยวกับตัวตนของแบรนด์บ้าง และค่อย ๆ นำมาผลิตเป็นคอนเทนต์ที่ชวนให้กลุ่มเป้าหมายอยากมีส่วนร่วมและเติบโตไปพร้อมกับแบรนด์ด้วย
ใส่ความเป็นสากลด้วยภาษามือ
เพิ่มโอกาสให้คนพิการทางการได้ยินมีส่วนร่วมกับหนังได้
ในยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนาหรือว่าทางกายภาพก็ตาม สำหรับสื่อที่ให้ความบันเทิงทั้งวงการภาพยนตร์หรือวงการเพลง ก็เริ่มมีการให้พื้นที่กับพวกเขามากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะกับ ‘ภาษามือ’ หรือให้พื้นที่กับนักแสดงที่พิการทางการได้ยิน เช่น CODA, Drive My Car, DUNE, Eternals และเพลงจากศิลปินเกาหลีใต้อย่าง BTS – Permission To Dance ก็นำเอาการสื่อสารผ่านภาษามือมานำเสนอบนจอภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การนำไปใช้กับแบรนด์
การที่แบรนด์และอุตสาหกรรมให้พื้นที่กลุ่มคนที่เคยขาดโอกาสได้มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้ากล้อง มีการใช้ภาษามือในคอนเทนต์ หรือการเพิ่มคำบรรยายทุกครั้งที่ผลงานถูกเผยแพร่ออกไป ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพื่อให้คุณค่ากับความเท่าเทียมที่แตกต่างของมนุษย์ได้
ซึ่งแบรนด์ไม่ควรทำเพียงเพราะคาดหวังผลประโยชน์ในการตอบรับที่ดีจากผู้คนเพียงอย่างเดียว หากแต่อยากให้แบรนด์สามารถตระหนัก และอยากจะใช้ความเป็นสากลนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ด้วย
สร้างภาพจำของฉากสำคัญด้วยเสียงเพลง
ทำให้หลังหนังจบอยากหาเพลงฟังต่อและนึกถึงฉากในหนัง
เมื่อตัวละครอยู่ชมรมประสานเสียง CODA ก็เลยใช้โอกาสนี้ในการสร้างสรรค์เพลงเพราะ ๆ ฟังเพลิน ๆ แทรกเข้ามาในตัวเรื่องได้อย่างแนบเนียน ซึ่งฉากที่มีเสียงร้องของตัวละครประกอบเพลงไปด้วย ล้วนเป็นฉากที่น่าจดจำในภาพยนตร์ทั้งสิ้น แเลยถูกยกให้เป็นกิมมิกที่จะทำให้คนดูนึกถึงในภายหลังเมื่อพูดถึงเรื่อง CODA นั่นเอง
แต่การสร้างภาพจำไม่ได้มีแค่คาแรกเตอร์ของตัวละคร เรื่องราว และบทสนทนากับประโยคคำคมจากหนังเท่านั้น แต่เพลงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สร้างความทรงจำให้คนดูกับหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
การนำไปใช้กับแบรนด์
สำหรับแบรนด์ที่อยากให้กลุ่มเป้าหมายของตัวเอง หรืออยากตกกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ การสร้างเพลงขึ้นมาใหม่เองก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการสร้างภาพจำให้กับแบรนด์เช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็น ‘แลคตาซอย 5 บาท’ หรือ ‘กินอะไร…ไปกินเอ็มเค’ ก็ยังคงใช้ได้ผลมาจนถึงปัจจุบัน (และคิดว่าจะอยู่ต่อสืบทอดรุ่นสู่รุ่นไปอีกนาน)
แค่แบรนด์กล้าที่จะฉีกแนว แล้วเตรียมตัวไปสู่การวางแนวทางภาพลักษณ์ของแบรนด์ก่อน จึงค่อย ๆ แตกย่อยตัวตนของแบรนด์ออกมาเป็นเพลง พร้อมกับใส่จุดเด่นและสิ่งที่อยากให้ผู้คนจดจำ (Top of Mind) ลงไปในเพลงด้วย
เติมแรงบันดาลใจในบทสรุปเชิงบวก
สร้างความรู้สึกอิ่มเอมใจและทำให้อยากกลับมาดูอีก
‘Happy Ending’ เป็นตอนจบที่ใคร ๆ ก็ชอบ เพราะมันนำไปสู่ความอิ่มเอมใจหลังดูจบ และเติมความสุขให้กับชีวิตที่ยุ่งเหยิงในทุก ๆ วันของมนุษย์ได้ดี หนังที่มีตอนจบแบบนี้จึงมักจะได้รับความนิยมในคนหมู่มาก ซึ่ง CODA ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการทำตามความฝัน และการบาลานซ์กันกับเรื่องราวของครอบครัวได้เป็นอย่างดี จนอาจทำให้บางคนเกิดการตั้งคำถามขึ้นมากับตัวเองถึงความฝันที่เคยล้มเลิกลงไปตั้งแต่ได้โตมาเป็นผู้ใหญ่และมีภาระมากมาย
รวมไปถึงประเด็นที่หนังนำเสนอถึงช่องว่างระหว่างวัยก็อาจทำให้หวนนึกถึงพ่อแม่ หรือลูกหลานในชีวิตของเราก็ได้เช่นกัน เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าในแต่ละวันทุกคนเจอเรื่องราวอะไรมาก่อนกลับมาถึงบ้าน ดังนั้นการทำให้เรื่องเล่ามันเข้าถึงง่าย และขมวดปมปิดท้ายด้วยความอิ่มเอมใจจริงเป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหาเพื่อมาเติมช่องว่างในใจของตัวเองก็ว่าได้
การนำไปใช้กับแบรนด์
บทสรุปของคอนเทนต์หากนำไปสู่การโน้มน้าวทางอารมณ์ในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ การเติมรอยยิ้ม หรือการสร้างเสียงหัวเราะให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรอคอยที่จะมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ต่อ ๆ ไปได้ไม่ยาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคอนเทนต์ที่เล่นกับความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ใช้ไม่ได้ แต่แบรนด์ต้องเลือกสะกิดต่อมอารมณ์กลุ่มเป้าหมายให้ถูกจุดมากกว่า
เพราะการผลิตคอนเทนต์ที่ผู้คนจะมีความรู้สึกร่วมด้วยได้ไม่มีสูตรเฉพาะตายตัว แต่การวิเคราะห์อินไซต์ และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เพียงพอจะเป็นตัวช่วยที่นำไปสู่ตอนจบที่ตอบโจทย์เอง