Case Study

Avatar

cozepond August 25, 2021

[Case Study] เพราะการเล่าให้เข้าใจง่าย ไม่ใช่ทางออกเสมอไป สื่อสารแบบไหนดีถึงจะถูกต้อง

การเล่าเรื่อง สามารถถ่ายทอดออกมาได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย เรื่องราวที่ต้องการเล่า และแพลตฟอร์มช่องทางในการนำเสนอ หากผ่านการคิดวิเคราะห์ถึงปัจจัยเหล่านี้ ก็จะสามารถสร้างผลงานที่ตอบโจทย์ และสร้างประโยชน์ให้กับผู้รับสารได้อย่างแน่นอน

แต่หากส่งสารหรือข้อความไปโดยไม่ไตร่ตรอง ก็อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อกลุ่มเป้าหมาย หรือสื่อว่ามีนัยยะอื่นแอบแฝงได้ หากใครนึกภาพไม่ออกว่าการเล่าเรื่องอย่างไม่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร วันนี้เรามีตัวอย่าง พร้อมวิธีการแก้ปัญหามาฝากกัน

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงเมื่อวันจันทร์ (23 ส.ค. 64) ที่ผ่านมา ถึงกรณีการจัดทำและเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางเฟซบุ๊กเพจศบค. และการร่วมมือกันกับกรมประชาสัมพันธ์ ที่ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอด้วยรูปแบบใหม่ สื่อสารแบบใช้คำน้อย กระชับ ภาษาเป็นกันเอง ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ใ่ช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด หรือการใช้ข้อมูลผิด

ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมห้ามไม่ให้ด้อยค่าวัคซีน (ซึ่งการด้อยค่านั้น ทางฝั่งชาวเน็ตเรียกว่า “ข้อเท็จจริง”) หรือการที่บอกว่าไทยได้ฉีดวัคซีนเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคนตามแผน ทั้งที่การจะเกิดภูมิคุมกันหมู่ได้ ต้องเป็นกรณีที่ฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โดส และคำว่าตามแผนก็ดูห่างไกลซะจนใช้คำว่า ‘ตาม’ ก็ออกจะเกินจริงไปไกลโข

หรือการที่บอกว่าต้องสั่งวัคซีนซิโนแวคมา 12 ล้านโดส เพราะมีแอสตร้าซิเนก้าอยู่แล้ว ซึ่งจะใช้แอสตร้าเป็นเข็มที่ 2 จึงต้องสั่งซิโนแวคเข็มแรก ก็ยิ่งสร้างความไม่เข้าใจให้กับผู้รับสารมากยิ่งขึ้น เพราะประโยคแรกและประโยคหลัง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันซะจนไม่รู้จะใช้คำสันธานชนิดไหนเชื่อมให้ดูเหมือนเดินทางมาด้วยกันดี

การเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ แพทย์และนักวิชาการต่างก็ออกมาให้ความเห็นว่าไม่เป็นความจริง รวมไปถึงแสดงความเห็นว่าข้อความที่จัดทำโดยศบค. ยังเข้าข่ายข่าวลวงซะเองอีกด้วย จึงเกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลาม จนภายหลังทาง ศบค. ต้องลบโพสต์ไปในที่สุด แต่ก็ยังมีข้อความบางส่วนอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ภายใต้แฮชแท็ก #เสรีมีคำตอบ

หากเป็นกรณีนี้ ต้องสื่อสารแบบไหนถึงจะถูกต้อง?

ตามที่เกริ่นไปข้างต้น ก่อนจะสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ต้องคิดถึงเรื่องวัตถุประสงค์ในการสร้าง เนื้อหา กลุ่มเป้าหมาย และช่องทางของผู้รับสารเสียก่อน ในกรณีนี้ เนื่องจากเป็นข้อมูลทางวิชาการที่มีความสำคัญต่อชีวิต จึงควรมีรายละเอียด เล่าที่มาที่ไป ความหมายของข้อมูล รวมไปถึงแหล่งอ้างอิง หรือลิงก์ที่เชื่อมต่อไปยังรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วน หากไม่สามารถใส่ในส่วนที่เป็นรูปภาพได้หมด ก็อาจจะใส่ตรงแคปชันประกอบได้ ที่สำคัญคือไม่ว่าข้อมูลจะเยอะหรือน้อยแค่ไหน ความถูกต้อง ต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะกลายเป็น Fake News หรือข่าวลวงทันที

เมื่อเรียบเรียงเนื้อหาเสร็จแล้ว ในส่วนของกราฟิก ความจริงแล้วไม่ว่าจะทำแบบไหนก็ไม่ผิด แต่ต้องมีข้อมูลที่มีความจำเป็นต่อผู้อ่าน หรือหากตัดทอนให้สั้นแล้ว ก็ยังคงความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่สร้างความเข้าใจผิด เนื้อหานี้เลือกใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แต่ยกมาเป็นคำๆ ที่ก็ยังสร้างความสับสน และเหนือสิ่งอื่นใดคือให้ข้อมูลที่ไม่มีการอ้างอิง จึงไม่มีน้ำหนัก หรือสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงนั่นเอง

การสร้างเนื้อหาโดยพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย เรื่องราวที่ต้องการเล่า และแพลตฟอร์มช่องทางในการนำเสนอเป็นเรื่องจำเป็น แต่อีกหนึ่งที่สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการคำนึงผลประโยชน์ของกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง หากผู้เสพย์สื่อได้อ่านหรือบริโภคเนื้อหาที่สร้าง แล้วได้รับความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ก็ถือว่าเกิดประโยชน์ แต่หากสร้างออกมาแล้วยิ่งทำให้ความเป็นอยู่แย่ลง ก็ไม่ต่างอะไรกับการกดคีย์บอร์ดมั่วๆ แต่บังเอิญออกมาเป็นประโยค ที่สร้างความเข้าใจผิด และทำให้ผู้อ่านรู้สึกเสียดายเวลาชีวิตมากขึ้นก็เท่านั้น

 

 

 

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save