จากเหตุการณ์ “กราดยิงหนองบัวลำภู” ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นทั้งไทย หรือต่างประเทศก็ตาม โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่นี้มีหลายคนต้องพบกับความสูญเสีย แต่บางสื่อก็ใช้พื้นที่ของตัวเอง เปลี่ยนความสูญเสียให้กลายเป็นแสงเพื่อส่งไปยังเรตติ้งช่องได้ ดังนั้นในฐานะที่ RAiNMaker เป็นสื่อออนไลน์ จึงอยากยกกรณีศึกษาของสื่อไทยมาแชร์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า “การนำเสนอข่าวควรมีจรรณยาบรรณควบคู่ด้วย”
“สื่อหิวแสง” คือคำนิยามหนึ่งที่ใช้เรียกกับสื่อที่มุ่งการนำเสนอข่าวเพื่อเรตติ้งของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ รวมถึงผู้คนทั่วไปที่เสพข่าวน่าสะเทือนใจ
ไม่ว่าจะเป็นการจำลองภาพเหตุการณ์แบบกราฟิก 3 มิติเพื่อย้ำเตือนเหตุการณ์อีกครั้ง หรือการสัมภาษณ์ผู้เคราะห์ร้าย ผู้เห็นเหตุการณ์ หรือถามความรู้สึกครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมการซูมกล้องเพื่อดึงอารมณ์ความรู้สึกให้เป็นข่าวดราม่าแทนก็ตาม
จากกรณีศึกษาด้านบน อาจจะเป็นวิธีที่สื่อไทยนิยมใช้กับข่าวน่าสะเทือนใจจนชินตากันไปแล้ว จนไม่ได้คำนึงถึงผู้คนที่ต้องเสพข่าว หรือผู้ที่เห็นเหตุการณ์จะต้องมาเจอการวนเวียนภาพเหตุการณ์น่าสะเทือนใจซ้ำ ๆ เพราะภาพของสื่อสามารถดูย้อนหลัง และถูกฉายวนซ้ำได้ในโลกออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย
หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือภาพจำลองเหตุการณ์ของคนร้าย กลายเป็นส่งเสริมแรงบันดาลใจให้เกิดการกระทำเลียนแบบ และภาพจำที่ส่งเสริมความรุนแรงต่อไปได้
ฉะนั้นเราจึงไม่ควรปล่อยให้การนำเสนอข่าวแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติของประเทศไทย เพราะหน้าที่ของสื่อ มีเพียงแค่การนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรเติมสี หรือสร้างอารมณ์สะเทือนใจเพิ่ม
จากการแสดงความคิดเห็นเรื่องจรรยาบรรณสื่อของประชาชนต่อสื่อต่าง ๆ เราจึงรวบรวมวิธีในการนำเสนอข่าวที่ถูกต้องจากสื่อนอก ไม่ว่าจะเป็น BBC, CNN, REUTERS, AI Jazeera มาแชร์ให้รู้กัน ดังนี้
การนำเสนอข่าวเหมือนนำเสนอข้อมูล
ทางสื่อต่างประเทศจะไม่มีการนำเสนอข่าวแบบลงรายละเอียดชัดเจน แต่จะนำเสนอเฉพาะข้อมูลข้อเท็จจริงของข่าวที่ควรรู้เท่านั้น เพื่อเคารพสิทธิ์ และรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุของคนร้าย หรือเหตุการณ์หลังจาก่อเหตุที่คนร้ายหลบหนี พร้อมฆ่าตัวตายทีหลัง
ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นข้อมูลเบื้องต้นของข่าวที่ควรทราบอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสริมดราม่าหรือทำกราฟิกเพิ่มเติม
การนำเสนอข่าวแบบไร้ภาพประกอบ
แม้ภาพประกอบจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการนำเสนอข่าว แต่บางเหตุการณ์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีภาพเพื่อย้ำเหตุการณ์ซ้ำอีก เนื่องจากบางภาพอาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือสะท้อนความรุนแรงชัดเจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมาในภายหลังได้
เหมือนอย่างที่สื่อนอกใช้เพียงแค่ภาพแผนที่ประเทศไทย แสดงภูมิภาคเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพ และหนองบัวลำภูเท่านั้น
ไม่มีการใช้ภาพคนร้าย หรือภาพโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่มีคลิปสัมภาษณ์ผู้สูญเสียเพิ่มเติม เพราะการรายงานข่าวยังคงเน้นไปที่การรายงานข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดิม
หรือหากมีภาพประกอบ ก็เป็นเพียงแค่ภาพประชาชน และตำรวจที่ยืนอยู่ข้างหน้าสถานที่เกิดเหตุ และมีการเซ็นเซอร์ภาพเพราะจรรยาบรรณสื่อ
การนำเสนอข่าว Breaking News
ในยุคปัจจุบันข่าวด่วน หรือ Breaking News นับเป็นช่วงสำคัญที่เกาะติดเหตุการณ์เรียลไทม์ และมีไว้เพื่อให้ผู้คนรับรู้ข่าวสารสำคัญ และข่าวโศกนาฏกรรมกราดยิงหนองบัวลำภูก็เป็นหนึ่งใน Breaking News ของสื่อต่างประเทศด้วย
ต่างกับสื่อไทยที่ไม่ได้มีข่าวด่วนบ่อยนัก เพราะเน้นไปยังข่าวดราม่าใต้เตียงดาราเสียมากกว่า จนบางครั้งหากอยากติดตามข่าวต้องเข้ามาในโซเชียลแอปอย่าง Facebook หรือ Twitter ก่อน ถึงจะได้รู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดอะไรขึ้น และไปถึงไหนแล้ว
บทความนี้คงจะสรุปได้ว่า ในปัจจุบันสื่อไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับข่าวสะเทือนใจอย่างไร้จรรยาบรรณอยู่ และที่เราออกมาเป็นกระบอกเสียงหนึ่ง ก็เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสื่อไทย ให้มีความ Empathy และมองเห็นการนำเสนอข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่การทำสื่อเพื่อแสงเพียงอย่างเดียว
ซึ่งเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภูที่เกิดขึ้นนี้ ทาง RAiNMaker ขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่งต่อครอบครัวผู้สูญเสีย รวมถึงผู้บาดเจ็บ และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกท่านให้ผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายนี้ไปได้ รวมถึงเหล่าเด็ก ๆ ที่ถูกพรากวัยเยาว์อันสวยงามไปแบบไม่มีวันกลับ ขอให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี
#กราดยิงหนองบัวลำภู
ขอบคุณรูปภาพจาก: AI Jazeera