Benchmark Key หรือที่เรียกกันว่าเกณฑ์ที่ใช้วัดมาตรฐานอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยม เป็นเกณฑ์ที่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ เอเจนซี หรือว่าครีเอเตอร์ที่มีโซเชียลมีเดียของตัวเองควรรู้เอาไว้ เพื่อนำไปวัดคุณภาพของช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งทาง RAiNMaker ได้สรุปเกณฑ์สำคัญมาให้ที่นี่แล้ว!
แต่ก่อนที่เราจะแจกเกณฑ์ให้วัดมาตรฐานโซเชียลมีเดียกัน ก็ควรได้รู้ประเภทอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียเสียก่อน เพราะการจำแนกประเภทและเรียนรู้ว่ามีแบรนด์ไหนอยู่ในประเภทเหล่านี้บ้าง จะช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบก่อนลงไปแข่งขันในตลาดโซเชียลประเภทนั้น ๆ ได้ง่ายมากขึ้น
- Alcohol
- Fashion
- Financial Services
- Food & Beverage
- Health & Beauty
- Higher Ed
- Home Decoration
- Hotels & Resorts
- Influencers
- Media
- Nonprofits
- Retail
- Sports Teams
- Tech & Software
โดยสามารถเช็กอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดียได้เพิ่มเติมที่ลิงก์นี้เลย: Live Social Media Benchmarks
ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดียเหล่านี้มียอดผู้ติดตามระหว่าง 25,000 – 1,000,000 ใน Facebook และยอดผู้ติดตามมากกว่า 5,000 แอคเคานท์ใน Instagram รวมถึงยอดผู้ติดตามใน Twitter มากกว่า 5,000 แอคเคานท์ด้วย
แต่การแข่งขันทางโซเชียลมีเดีย ไม่ได้แข่งขันกันเฉพาะไอเดีย หรือความครีเอทีฟของคอนเทนต์ที่ลงในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ทว่าความเข้าใจแพลตฟอร์มต่าง ๆ และเข้าใจอัลกอริทึมรวมถึงเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายก็ต้องคำนึงควบคู่กันไปด้วย แต่วันนี้เรามี Benchmark Key 2022 มาอัปเดตให้เหล่าแบรนด์ได้รู้กัน เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในปี 2022 ได้!
Less Organic Engagement
แบรนด์เพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์จากการจ่าย
ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไหน ทั้ง Facebook, Instagram หรือ Twitter ต่างก็ขับเคลื่อนด้วยการจ่ายเงินเพื่อซื้อโฆษณา เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็นมากขึ้น เพราะสมัยนี้การแข่งขันด้วยยอดออแกร์นิกนั้นไม่เพียงพอแล้ว เพราะทุกช่องทางรอการมองเห็นที่ได้จังหวะเองไม่ได้ ซึ่งการลงทุนเพื่อเพิ่มพื้นที่มองเห็นบนโลกออนไลน์ที่มีการแข่งขันด้านคอนเทนต์กันอยู่ทุกวันนั้น สามารถกำหนดทิศทาง และกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่านั่นเอง
Posting frequency
แบรนด์โพสต์ถี่ขึ้นในหลายช่องทาง
การทำคอนเทนต์ในสมัยนี้ ต้องเป็นคอนเทนต์ที่สามารถแปรรูปเพื่อลงได้ในทุก ๆ แพลตฟอร์มหรือช่องทางที่คุณมีอยู่ ไม่ว่าจะแปรสภาพจากตัวอักษรเป็นภาพ หรือภาพเป็นวิดีโอที่เคลื่อนไหวได้ก็ตาม การโพสต์ให้ถี่ขึ้นในทุก ๆ ช่องทางแบบที่มีความแตกต่างกันจะทำให้ดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่ตามแต่ละแพลตฟอร์มได้มากกว่าคอนเทนต์เดียวที่ลงทุกแพลตฟอร์ม
Success with Giveaways and Hashtag
แบรนด์ใช้แฮชแท็กแจกของในวันหยุดเพิ่มขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ ทางสถิติของโซเชียลมีเดียเพิ่งค้นพบว่า การมีแฮชแท็กแจกของ (Giveaways) นั้นสามารถเรียกยอดเอ็นเกจเมนต์ได้มากกว่าเดิมให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดต่าง ๆ คนจะชอบเช็กแฮชแท็กเกี่ยวกับโอกาสพิเศษต่าง ๆ มากขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่แบรนด์อาจจะต้องลองประยุกต์วิธีนี้เพื่อนำไปใช้ในแพลตฟอร์มของตัวเองบ้าง เพราะนอกจากจะทำให้สินค้าขายได้แล้ว ยังทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้นด้วย
Post Carousels on Instagram
แบรนด์ควรรีโพสต์ภาพบนอินสตาแกรม
การโพสต์แบบหมุนเวียน (Carousels) หรือการรีโพสต์เดิมเป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งที่แบรนด์ควรนำไปใช้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในวันที่คอนเทนต์ใหม่ยังไม่มีให้ลง การมองหาโพสต์เดิม ๆ เพื่อมาลงใหม่บน Instagram จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เรียกยอดเอ็นเกจเมนต์ได้อีกครั้งหากเลือกคอนเทนต์ที่ใช่ถูกต้อง
เพราะ Instagram มีการเพิ่มการมองเห็นโพสต์ให้กับกลุ่มคนใหม่ที่ยังไม่เคยได้เห็นโพสต์นี้มาก่อน ซึ่งอัลกอริทึมนี้ส่งผลให้ได้รับ Impression เยอะขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ
Keep an eye on Video
แบรนด์ต้องก้าวสู่สนามแข่งเรื่องวิดีโอ
อย่างที่รู้กันว่าในตอนนี้คอนเทนต์วิดีโอหรือ Short Video นั้นมาแรงแซงโค้งเหลือเกิน โดยเฉพาะกับ TikTok และ YouTube ต่างก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่คนให้ความนิยมเป็นอย่างมาก และใช้เวลาไปกับ 2 แพลตฟอร์มนี้ในทุก ๆ วันเลยทีเดียว
ดังนั้นการที่แบรนด์ เอเจนซี และเหล่าเครีเอเตอร์ทั้งหลายให้ความสนใจกับคอนเทนต์ประเภทนี้ รวมถึงคอยผลิตคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้น ก็สามารถมัดใจกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก และแม้จะเทรนด์นี้กำลังมาแรง และการแข่งขันเริ่มเต็มไปด้วยคอนเทนต์วิดีโอในตลาดคอนเทนต์ก็ตาม แต่ระยะเวลาสั้น ๆ ที่มีคนหยุดไถฟีดเพื่อดูคอนเทนต์ของเราก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ
สูตรคำนวณยอดเอ็นเกจเมนต์โซเชียล
การวิเคราะห์ว่ายอดเอ็นเกจเมนต์สำหรับโซเชียลมีเดียต่าง ๆ คำนวณมาจากอัตราการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ โดยคิดมาจากความถี่ในการโพสต์ ประเภทคอนเทนต์ที่โพสต์ และแฮชแท็กบนโซเชียลของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะประกอบไปด้วยการรีแอ็กชันผ่านเครื่องมือของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น การกดไลก์ กดแสดงรีแอ็กชัน การคอมเมนต์ การแชร์ หรือการกดเซฟโพสต์ เป็นต้น
โดยนำยอดคำนวณรีแอ็กชันต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมายมารวมกัน พร้อมกับหารด้วยจำนวนยอดผู้ติดตามของแพลตฟอร์ม เพียงแค่นี้ก็จะสามารถรู้ยอดเอ็นเกจเมนต์ของตัวเองได้แล้วว่าอยู่ระดับไหน ซึ่งเกณฑ์การวัดยอดเอ็นเกจเมนต์ที่ดีที่สุดควรอยู่ระหว่าง 1% – 5% นะ
ที่มา: Rival IQ