ยอด Follower ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เป็นค่านึงที่สามารถใช้วัดผลได้ว่าแอคเคานต์และคอนเทนต์ของเรามีการพัฒนาขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นการมียอดผู้ติดตามในจำนวนนึงที่อยู่กับเราก็นับจุดเริ่มต้นที่ดีในการจะต่อยอดทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งหลายคนอาจกังวลว่าแล้วจะรักษายอด Follower บน Twitter ยังไงดีล่ะ วันนี้ RAiNMaker เลยทำ Checklist มาให้ทุกคนลองเช็กกันว่าเราได้ทำในสิ่งที่ควรทำเพื่อรักษายอดผู้ติดตามไว้หรือยัง มีอะไรบ้างไปรีบเช็กกันเลยดีกว่า!
1. มี Original Content
บางครั้งอาจจะมีรีทวีตหรือโควตทวีตจากแหล่งอื่นๆ ได้ แต่ก็ควรจะมีคอนเทนต์ของตัวเองโพสต์ลงภายในแอคเคานต์เป็นหลัก เพราะถ้าเอาแต่รีทวีตหรือแชร์ลิงก์จากที่อื่น โดยที่ไม่มีคอนเทนต์ที่เป็นของตัวเองก็จะทำให้ Follower ย้ายไปติดตามต้นฉบับของคอนเทนต์แทนที่จะติดตามเรา อีกทั้งการที่ไม่มี Original Content ยังทำให้ไม่สามารถระบุแนวทางคอนเทนต์ของตัวเอง กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงข้อมูลอะไรหลายๆ อย่างที่จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการทำคอนเทนต์ต่อไปในอนาคต
2. ทวีตคอนเทนต์ที่ Follower สนใจ
ดูจาก Engagement หรือข้อมูล Insight ของแอคเคานต์ตัวเองว่าคอนเทนต์แนวไหนที่ทวีตออกไปแล้วมีผลตอบรับดี ทั้งยอดรีทวีต และไลก์ เพื่อจะได้นำมาพัฒนาเพื่อต่อยอดคอนเทนต์ต่อไปในอนาคต หรือไม่ก็อาจจะดูจากเทรนด์ที่ผู้คนสนใจในขณะนั้น เพื่อนำมาเชื่อมโยงให้เข้ากับคอนเทนต์ของตัวเอง นอกจากจะทำให้เป็นแอคเคานต์ที่สดใหม่ตามทันสถานการณ์แล้ว การเล่นกับเทรนด์ไม่ว่าจะเป็นการใช้แฮชแท็กหรือคีย์เวิร์ดที่คนทวีตถึงเยอะ ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้มีคนเห็นทวีตของเรามากขึ้นอีกด้วย
3. ใช้ Visual Content
แน่นอนว่าการทวีตที่มีแต่ตัวหนังสืออย่างเดียว อาจทำให้หลายคนเลื่อนผ่าน แต่หากมีภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ถาพเคลื่อนไหว กราฟิก หรือวิดีโอ ก็จะช่วยดึงความสนใจให้คนหยุดดูได้ และยังช่วยเสริมคอนเทนต์ให้สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าภาพหรือคลิปประกอบเป็นเอกลักษณ์จนสะดุดตาก็จะทำให้ผู้คนสามารถจดจำเราได้
4. มี Cross-Platform Content บ้าง
อาจมีการแชร์คอนเทนต์ข้ามกันในแต่ละแพลตฟอร์มบ้าง เช่น แชร์ลิงก์จากยูทูบลงบนทวิตเตอร์ เพื่อให้คอนเทนต์ที่โพสต์ออกไปมีความหลากหลาย แถมยังช่วยเพิ่มยอด Engagement ให้กับแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกด้วย รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแพลตฟอร์เองก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว การแชร์คอนเทนต์ข้ามแพลตฟอร์มกันจึงเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสให้คอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นนั่นเอง
5. ไม่ส่งข้อมูลผ่าน Direct Message ถี่เกินไป
การส่งข้อความอัตโนมัติผ่าน Direct Message ก็นับเป็นการทำการตลาดที่ดีวิธีนึง แต่หากส่งข้อความถี่เกินไปจะทำให้ Follower รู้สึกเหมือนโดนรบกวนและอาจส่งผลให้เลิกติดตามได้ ดังนั้นจึงควรใช้ในกรณีที่แจ้งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ใช้ให้ถูกเวลาและไม่ส่งถี่เกินไปจนเหมือนสแปม
6. ทวีตให้สม่ำเสมอและถูกเวลา
การทวีตสม่ำเสมอจะทำให้ Follower ยังสามารถติดตามข่าวสารและมีปฏิสัมพันธ์กับเราได้ หากขาดหายไปนานๆ อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าแอคเคานต์ไม่แอคทีฟและเลิกติดตามไปในที่สุด ทั้งแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นคอมมูนิตี้ในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแบบเรียลไทม์ เพราะฉะนั้นควรจะทำให้แอคเคานต์มีการแอคทีฟ อัปเดตใหม่อยู่เสมอ เพื่อจัดหาข้อมูลข่าวสารให้กลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามความต้องการ หรือสำหรับคอนเทนต์ที่ไม่จำเป็นต้องรีบโพสต์เรียลไทม์ จะแพลนเวลาและตั้งคิวทวีตล่วงหน้าไว้ก็ได้เหมือนกัน
แต่การทวีตสม่ำเสมอไม่ได้แปลว่าจะต้องทวีตถี่ๆ ตลอดเวลา ควรจะวิเคราะห์เวลาที่เหมาะสมที่จะทวีต ตามข้อมูลเชิงลึกที่จะแสดงยอด Engagement ในแต่ละช่วงเวลาออกมา ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ แล้ววางแผนการโพสต์ให้สม่ำเสมอตามความเหมาะสม ก็อาจทำให้มีคนเห็นคอนเทนต์ได้มากกว่า และมียอด Engagement สูงกว่าอีกด้วย
7. มีการสื่อสารกับ Follower อยู่ตลอด
การสื่อสารกับ Follower ไม่ว่าจะใช้การเมนชันพูดคุย การสร้างกิจกรรมหรือแคมเปญให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทั้งในการรีทวีต โควตทวีต ไลก์ หรือติดแฮชแท็ก ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ติดตาม ทำให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น เราเองก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นในอนาคตอีกด้วย
8. แปะลิงก์ทวิตเตอร์ในแพลตฟอร์มอื่น
การแปะลิงก์ทวิตเตอร์ไปในช่องทางอื่นๆ เช่น ท้ายอีเมล ท้ายบทความ หรือท้ายโพสต์บนเฟซบุ๊ก จะช่วยให้คนสามารถเข้ามาติดตามทวิตเตอร์ และให้เกิดการแอคทีฟมากขึ้นบนทวิตเตอร์ นอกจากนี้ยังเป็นการย้ำให้เห็นชื่อแอคเคานต์อยู่บ่อยๆ จนทำให้ผู้คนสามารถจดจำแอคเคานต์เราได้