Clubhouse ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์ม Live Audio ที่มาแรง จนคาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มหลัก แต่สุดท้ายแล้วก็ไปไม่ได้สวยอย่างที่คิด จนต้องปลดพนักงานอีกชุดใหญ่ เพื่อลดขนาดอง์กรลงมากกว่า 50% พร้อมรีเซ็ตโครงสร้างใหม่
ครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2021 Clubhouse ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นที่นิยมภายในชั่วข้ามคืน เนื่องจากแพลตฟอร์ม Live Audio เป็นเสมือนของเล่นใหม่ และตัวเชื่อมต่อผู้คนในสถานการณ์โควิดที่ทำให้ผู้คนต้องห่างไกลกัน บวกกับตอนแรกที่มีเหล่าคนดังเป็นแม่เหล็กดึงความสนใจคน จนทำให้แอปโตอย่างรวดเร็ว เรียกว่าค่อนข้างจะเร็วเกินไปด้วยซ้ำ
หลังจากนั้น แพลตฟอร์มที่มีแต่ Live Audio อย่าง Clubhouse ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับตลาด เมื่อเหล่าคู่แข่งได้นำฟีเจอร์ Live Audio ไปพัฒนาบนแพลตฟอร์มตัวเอง ทำให้แต่ละแพลตฟอร์มที่มีจุดแข็งด้านอื่นอยู่แล้วเอาชนะได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ Twitter ที่ประสบความสำเร็จกับการปล่อยฟีเจอร์ Spaces
นอกจากนี้ ชีวิตหลังโควิดที่เปลี่ยนไป ทำให้พฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มก็เปลี่ยนตามไปด้วย ผู้คนเริ่มไม่ต้องพึ่ง Clubhouse ในการหาเพื่อนคุยแก้เบื่อ ทั้งสองผู้ก่อตั้งให้เหตุผลว่า เพื่อหาตัวตนให้ Clubhouse กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง จึงต้องพัฒนา และรีเซ็ตองค์กร ลบบทบาทหน้าที่เดิม ๆ และโฟกัสไปที่ทีม Product
ทั้ง Paul Davison และ Rohan Seth ผู้ก่อตั้ง Clubhouse กล่าวว่าจะโฟกัสไปที่ “Clubhouse 2.0” ซึ่งไม่ได้มีการลงลึกถึงรายละเอียดว่าจะเป็นบริการเกี่ยวกับด้านได้ แต่จะเป็นบริการที่ดูแลโดยทีมขนาดเล็กลง ถึงแม้ตอนนี้ สถานการณ์ขององค์กรจะดูไม่สู้ดีนัก แต่ทั้งสองได้กล่าวว่า บริษัทที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ยังคงเงินทุนเพียงพอต่อไปได้อีกหลายปี พร้อมกับเสริมว่าไม่รู้สึกกดดันที่ต้องลดต้นทุน
อย่างไรก็ตาม Clubhouse ไม่ใช่แพลตฟอร์มเดียวที่เผชิญปัญหาดังกล่าว แพลตฟอร์มเสียงอย่าง Spotify เองก็ได้ปิดตัว Greenroom แอป Live Audio ที่เปิดแยกออกมา รวมถึง Reddit ก็ปิดตัว Reddit Talk ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเช่นกัน
ที่มา: Engadget