ทำสื่อ เว็บไซต์ เพจ หารายได้อย่างไรถ้าไม่ใช่โฆษณา

น่าจะเป็นเรื่องอยากที่จะอธิบายให้ใครหลาย ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในยุคดิจิทัล พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ฟังว่าการเป็นบล็อกเกอร์, นักเขียน หรือ YouTuber นั้นหาเงินได้อย่างไร หรือกลายมาเป็นอาชีพได้อย่างไรด้วยซ้ำ แต่ถ้าคนเจนเดียวกันก็อาจจะพอเดาออกได้ว่า มีรายได้มาจากการโฆษณา เช่น รับรีวิว หรือถ้าใครทำเว็บไซต์ก็อาจจะมีโฆษณาเป็น Banner ไม่ว่าจะรับเองหรือ Google Adsense ส่วนบน YouTube ก็อาจจะมีการเล่นคลิปโฆษณาต่าง ๆ บนวิดีโอของเรา

ซึ่งก็เป็นความรู้ที่ค่อนข้าง Basic และวิธีการก็ไม่น่ายากหรือซับซ้อนมาก เราทำเพจ หรือเว็บ หรือแชแนลดังขึ้นมาระดับหนึ่ง มีแบรนด์มาเห็นโอกาส ก็มาจ้างลงโฆษณา อาจจะเป็นการพูดถึงหรือรีวิวต่าง ๆ ที่เราเรียกว่า Advertorial หรือ Branded Content ส่วนแบบโฆษณาอื่น ๆ ก็จะเป็นพวก Google AdSense ที่จะมีระบบเข้ามาดูให้ว่าคนเห็นโฆษณาบนเว็บเรากี่คน

แต่จริง ๆ แล้ววิธีการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการลงรีวิว หรือ AdSense ก็ตาม เป็นเพียงแค่ 1 ในหลาย ๆ วิธีการหารายได้ ที่คุณ  Marc Andreessen นักวิเคราะห์สื่อได้เคยเขียนไว้ในบทความที่ชื่อ The Future of the News Business ซึ่งเป็นหนึ่งในบทความที่เปิดโลกของผู้เขียนเลยก็ว่าได้ คุณ Andreessen ได้อธิบายเรื่องของการโฆษณาไว้ว่าการโฆษณายังคงเป็นช่องทางหารายได้ที่สำคัญให้กับคนทำคอนเทนต์ แต่ปัญหาก็คือต้องระวังปรากฏการณ์ race to bottom คือแข่งกันไปถึงจุดต่ำ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

ส่วนช่องทางการหารายได้แบบอื่น ๆ ที่ Marc Andreessen ได้พูดไว้ก็คือ

Subscriptions และ Premium content จ่ายเงินเพื่ออ่าน

อธิบายง่าย ๆ ก็คือการสมัครรับข้อมูล ตัวอย่างของ Subscriptions เท่าที่เจอจะเป็นแนว ๆ เว็บวิทยาศาสตร์ หรือเว็บรวบรวมงานวิจัย หรือข่าวที่ต้องใช้พลังงานในการทำสูง เช่น New Scienctist, Nature หรือพวกเว็บแนว ๆ คอร์สออนไลน์ต่าง ๆ หรือ Netflix อะไรพวกนี้นับว่าเป็น Content แนว Subscriptions

ส่วน Premiem Content นั้นก็คือการที่เราต้องจ่ายเงินก่อนเพื่ออ่านบทความพิเศษ หรือบทความที่ลึกไปกว่านั้น หรือให้อ่านแค่นิดเดียวถ้าอยากอ่านต่อต้องจ่ายเงินเพิ่ม บริการแนวนี้เรียกได้อย่างนึงว่า Pay Wall เว็บที่ให้บริการแบบนี้ส่วนมากจะเป็นเว็บข่าว และก็มีเยอะมาก เช่น NY Times, Business Insider, TIME หรือ The Independent

สำหรับเรื่อง Subscriptions และ Premium Content นั้นเราอาจะงง ๆ กันได้ว่า สรุปแล้วมันคืออันเดียวกันไหม คำตอบก็คือมันคนละวิธีคิดกัน แต่สองแบบสามารถอยู่ในเว็บเดียวกันได้

แนวโน้มในช่วงปีที่ผ่านมาและในปีนี้ เป็นบอกว่า Subscription กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งและกลายเป็นรายได้หลักของ Publisher นำหน้าการลงโฆษณาแบบเดิม ๆ ไปแล้ว ในรายงานมีการบอกว่าบรรดา Publisher กว่า 62% ในการสำรวจ มีแผนที่จะลดการแปะโฆษณาบนหน้าเว็บ และเปลี่ยนจาก reach + ads มาเป็น engagement + subscriptions แทน

สำหรับ Subscription อาจจะยังไม่ค่อยเห็นในไทยซะเท่าไหร่โดยเฉพาะในฝั่งเว็บข่าว เพราะคนอาจจะรู้สึกว่าข่าวควรเป็นสิ่งที่ได้มาฟรี ๆ อยู่ แต่ถ้าในด้านของ Content เช่น Netflix หรือ Spotify ก็ถือว่าเวิร์คอยู่พอสมควร

Conferences and events จัดอีเวนท์ ทริป ทัวร์ 

เป็นอีกหนึ่งช่องทางการหารายได้ที่น่าสนใจ และการจัด Event ถ้าไม่คิดงานจากคนมา ก็สามารถหาสปอนเซอร์ได้ ซึ่งการใช้โมเดลนี้ก็มีข้อได้เปรียบหลายอย่างอยู่เช่น การได้รู้จักกับผู้อ่านเชิงลึกบนโลกออฟไลน์ด้วย เว็บที่ทีมงานเห็นว่าเริ่มหันมาจัด Event ก็เช่น The Cloud ที่มีจัดพาคนไปเที่ยวหรือกิจกรรมต่าง ๆ หรือที่เห็นกันอย่างชัดเจนเลยก็คือ Dek-D ที่มีการจัด Event ที่เกี่ยวกับการศึกษาค่อนข้างบ่อย

โมเดลนี้น่าจะเวิร์คสำหรับเว็บไซต์หรือเพจที่มีกลุ่มผู้อ่านมี Lifestyle ชัดเจน ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน และสามารถ build ขึ้นมาให้เป็น Community ได้ และอย่างที่บอกไปว่าจะยิ่งช่วยให้เว็บไซต์กับผู้อ่านใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าแบบอื่น ๆ ด้วย

Cross-media

อันนี้อาจจะงง ๆ แต่ถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือ เราเขียนบทความ, ทำเพจ, ทำแชแนล เพื่อส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ ของเรา เช่น เป็นติวเตอร์, เป็นดารา, เขียนหนังสือ หรือออกงานเสวนา พอเราเขียนบล็อก ทำเว็บแล้วดัง เราก็ไปรับงานอื่นซึ่งเป็นรายได้ของเรา ตอนแรกผู้เขียนก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน ซึ่งตอนแรกเราก็งง ๆ ว่ามันเป็นไปได้ยังไง ทำไมเราถึงเขียน Blog อยู่ได้ โฆษณาก็ไม่มี พอได้มาอ่านบทความของ Marc ก็เข้าใจเลยว่ามันก็ถือเป็น Business Model นึงเหมือนกัน และพอเราเห็นว่าการมีชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือมันคุ้มค่า ทำให้เราได้งานอื่น เราก็สามารถทำมันต่อไปได้

Crowdfunding

คือการระดมทุน ซึ่งเว็บไซต์ที่อยู่ได้ด้วยการระดมทุนที่เราเข้ากันทุกวันก็คือ Wikipedia นั่นเอง หรือเว็บข่าวอย่าง The Guardian ของอังกฤษ ก็ใช้วิธีการให้คนบริจาคเช่นกัน จริง ๆ แล้วการระดมทุนนั้นอาจจะหมายถึงการขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ หรือหน่วยงานรัฐบาลมาสนับสนุน แนวคิดของการ Funding แบบนี้ก็คือ หาเหตุผลในการมีอยู่ของตัวเองให้ได้ ว่าทำไมต้องมีอยู่ และการมีอยู่ช่วยให้คุณค่าแก่สังคมในด้านไหน หรือถ้าไม่นับว่าแค่ Publisher, Blogger ช่องโทรทัศน์ก็สามารถอยู่ได้ด้วย Public Funding เช่นกัน เช่น ThaiPBS หรือ NHK ของฮ่องกง

จริง ๆ แล้วที่ Marc พูดไว้ยังมีอีก 2 อันได้แก่ Micropayment (จ่ายเงินด้วยจำนวนน้อยมาก ๆ จนผู้อ่านไม่รู้สึกว่าจ่าย) ที่อาจจะดูไกลตัวเราไปซักนิดจึงยังไม่พูดถึง กับอีกอันนึงคือ Philanthropy หรือการทำการกุศล

บทความของ Marc นั้นเขียนเมื่อปี 2014 ซึ่งก็ผ่านมา 4 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความทันสมัยและทำให้เรามองภาพรวมของวงการคอนเทนต์ระดับโลกง่ายขึ้น แต่ล่าสุดจะมีอีกกรณีนึงที่ Digiday ได้รายงานก็คือ Publisher กลุ่ม Niche (มีผู้อ่านน้อย แต่รู้จักผู้อ่านดี) หันมาหารายได้จากการทำ Marketing Research ให้กับแบรนด์ ด้วยความสามารถในการเข้าถึง และเข้าใจกลุ่มคนที่เรามีในมือและสื่อสารให้ภาคธุรกิจที่ใหญ่กว่าเข้าใจ และตอบคำถามทางธุรกิจได้

สรุปแล้ว ภาพที่เรายึดติดกันว่าการทำสื่อ Media, Publisher เป็น Blogger, YouTuber จะต้องมีรายได้จากการโฆษณา หรือจาก AdSense นั้น ไม่เสมอไป เรายังมีโอกาสใหม่ ๆ ในฐานะการเป็น Content Creator ที่ความสามารถพิเศษของเราคือการสื่อสาร และเข้าใจกลุ่มคนที่เป็น Audience ของเราว่าต้องการอะไร และสุดท้ายก็สามารถสร้างประโยชน์ได้โดยที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธ์ิของใครเพียงแต่ว่า ทุกคนได้สิ่งที่เขาต้องการ แบรนด์ได้สิ่งที่เขาอยากได้ ตัวเองได้สิ่งที่เราอยากได้ ผู้ชมผู้อ่านได้สิ่งที่เขาต้องการ และสังคมได้คอนเทนต์ดี ๆ สร้างสรรค์ เพียงเท่านี้ก็น่าจะช่วยให้เรา Happy กับอาชีพการเป็น Content Creator ได้แล้ว

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER.in.th 

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save