Case Study

Avatar

miss arisa January 5, 2019

5+5 ทบทวน Content Marketing 2018 และเทรนด์ 2019 ที่ต้องจับตามอง

สวัสดีปี 2019 อย่างเป็นทางการกันอีกครั้ง ก่อนที่เราจะไปลุยกันต่อ ลองมาทบทวนเหตุการณ์สำคัญ คอนเทนต์เด็ดๆ โดนๆ ในปี 2018 กันก่อนสักนิด เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมว่าปีที่ผ่านมามี Content Marketing แนวไหนที่ประสบความสำเร็จและมีปัจจัยอะไรที่น่าจะเก็บไว้ใช้ในปี 2019 กันต่อไป

ละคร – ข่าวจุดกระแส Real Time Marketing

ในปีก่อนๆเริ่มมีกระแสการทำ Real Marketing ของเพจต่างๆออกมาโดยส่วนมากจะอิงจากกระแสข่าว หรือประเด็นในโลกโซเชี่ยล อย่างชิ้นที่เป็นที่พูดถึงมากๆก็คือ ข่าวการหย่าร้างกันของปลื้มและทับทิม วงในก็ออกมาทำรวมร้านทับทิบกรอบ จนปีนี้ด้วยกระแสของละครบุพเพสันนิวาส เป็นตัวจุดกระแส Real Time Content , Real Time Marketing ให้คึกครื้นเป็นพิเศษ ส่งผลให้ตลอดทั้งปีเราได้เห็นคอนเทนต์ Real Time ที่อิงกระแสจากละครและข่าวมากขึ้น



ห้างดังดึง Influencer เดินช้อป สู้ E-commerce

หลังจาก Celeb Blog พาสู่ขวัญเดินช้อปประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในปี 2017 ห้างดังทุกห้างก็ทยอยออกวิดีโอพาช้อป เดินทัวร์ โดย Influencer กันถ้วนทั่วทั้ง Central , The Mall , King Power , เกษร วิลเลจ , มาบุญครอง และล่าสุดกับ ICON SIAM ที่ต้องยอมให้ Media Buyer ที่ดูแลโปรเจ็คนี้ เพราะงานวันเปิดตัวเราแทบจะได้เจอกับ Influencer ทุกแขนงมารวมตัวกัน โดยการลุกขึ้นมาทำ Branded Content กับทั้งดาราและ Influencer นี้ช่วยดึงคน ในมาใช้จ่ายกันในห้างสรรพสินค้ากันมากขึ้น เพื่อแข่งกับ E-Commerce หลายๆเจ้าที่โหมโปรโมทช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง



Base On True Story

พวกเราคงคุ้นเคยกับโฆษณาที่สร้างจากเรื่องจริงจากโฆษณาประกัน สินเชื่อ CSR ต่างๆซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ Base On True Story ในปีที่ผ่านมานั้นจะไปในทาง เรื่องที่เป็นประเด็นในโลกโซเชียลจริงๆ การนำคอมเมนต์จริง เหตุการณ์จริงมาต่อยอดเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้คนอินกับสิ่งที่สื่อยิ่งขึ้น หรือย่างน้อยๆก็ทำให้คนหยุดเพื่อมาสนใจสารเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้เล่าเชิงดราม่าเสมอไป อย่าง Ads ของ K-Plus เอง ที่เล่าเรื่องของการหาเพื่อนใหม่ โดยใช้แอป K-Plus ในการเป็นหัวข้อชวนคุย มันก็เป็น Base On True Story เพราะยุคนี้เราทำทุกอย่างบน Internet Banking กันอยู่แล้ว การทำคอนเทนต์โดยจับพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ Base On True Insight จึงมักได้ผลที่ดี มากกว่าเล่า Base On True Story ของคนๆเดียว




โฆษณาเทใจให้ Idol

ดารา นักแสดง ไม่ได้เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดอีกต่อไปแล้ว เหล่าไอดอลเข้ามาครองพื้นที่ในการเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาแทบจะ 50/50 แล้วในตอนนี้ ซึ่งไอดอลในที่นี้ มีทั้งเน็ตไอดอล, Influencer, YouTuber และไอดอลโมเดลแบบ BNK 48 เราได้เห็นพวกเขาเคียงคู่กับดาราดังในโฆษณาหลายๆชิ้น นั่นเพราะฐานแฟนคลับของทั้ง 2 กลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้า และบริการ ไม่ว่าจะเพื่อสิทธิประโยชน์ที่ได้ต่อตัวผู้ซื้อเอง หรือเพราะอยากสนับสนุนให้ไอดอลที่ชื่นชอบมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น



ปรับตัวตามแพลตฟอร์ม

ปีนี้เป็นปีแห่ง Facebook และ IG Stories อย่างแท้จริง รวมถึงการเปิดตัว IGTV ด้วย แม้จะไม่บูมมากในบ้านเราก็ตาม ฝั่ง YouTube เองก็ปรับดีไซน์ให้ชมวิดีโอแนวตั้งได้แบบเต็มจอ ไม่มีขอบดำข้างๆ เมื่อแอปโซเชียลเทเทรนด์ไปทางไหน หน้าที่หลักของคนทำคอนเทนต์คือการปรับตัวตามให้ทัน ให้เร็ว ถ่ายวิดีโอแต่ละครั้งต้องทำทั้งแนวตั้ง แนวนอนเอาไว้ลงให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มแต่ละแบบ ถ้าให้นึกถึงสื่อที่ปรับตัวตามแพลตฟอร์มตลอดเวลาก็คงต้องยกให้ วงใน Wongnai.com วิดีโอซีรี่ส์ของนายฮ้อย ชวนชิม เปิดตัวมาเป็นวิดีโอแนวตั้งแต่แรก และทำมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นภาพจำ นอกจากการปรับตัวแล้วยังสร้างคาแรคเตอร์ให้กับซีรี่ส์ได้อย่างดี

โฆษณาของ Electrolux ก็เล่นกับการเลื่อนฟีด Facebook ได้อย่างน่าสนใจ ใครที่เลื่อนผ่านต้องมีอึ้งแน่นอน

กับอีกกรณีศึกษาที่ต้องชื่นชมเรื่องการใช้แพลตฟอร์มได้อย่างเป็นประโยชน์ก็คือเหตุการณ์ถ้ำหลวง สำนักข่าวขยับตัวไปทำข่าวใน Twitter มากขึ้น Live มากขึ้น เพื่อให้รายงานข่าวได้ทันถ้วงที สำหรับสื่อโทรทัศน์เองก็ใช้ข้อดีของตัวเองได้อย่างฉลาด แม้อาจจะรายงานได้ช้ากว่าออนไลน์ แต่มาด้วย 3D กราฟิก อธิบายเหตุการณ์อย่างเห็นภาพ เห็นได้ถึงความพยายามของสื่อทั่วเมืองไทยจริงๆ อันนี้ต้องปรบมือให้ดังๆ

+5 เทรนด์ Content Marketing 2019 ที่น่าจับตามอง

1. AR จะมีบทบาทมากขึ้น
ช่วงปีที่แล้วเราเห่อ VR กันมาก แต่สุดท้าย VR ก็ยังถูกจำกัดวงด้วยอุปกรณ์ต่างๆ แต่ AR จะเข้าถึงคนได้ง่ายกว่าด้วยสมาร์ทโฟนหลายๆรุ่นที่รองรับ AR ในแวดวงของ E-Commerce เองก็เริ่มนำ AR เข้ามาเป็นฟีเจอร์ในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ การทำคอนเทนต์ให้คนมีส่วนร่วมด้วย AR Interactive ก็น่าจะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในปีนี้

2. Social Media Stories
คนจะยังชอบดูวิดีโอ แต่มันจะสั้นลงกว่า 3 นาทีไปอีก Social Media Stories ความยาว 30 วิ ถึง 1 นาที เข้าถึงคนได้ง่ายกว่า แต่อย่างที่รู้บางครั้ง 30 วิมันยังสื่อสารอะไรไม่ได้มาก ครีเอเตอร์จึงต้องขยันใส่ลิงค์ แฮชแท็ค เช็คอิน เอาให้ครบ เพื่อให้เกิด Call To Action สักอย่าง

3. User Provider
ทำคอนเทนต์ที่เอื้อให้คนอ่าน ผู้ใช้ มีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ใช่แค่การ กดไลค์ คอมเมนต์ หรือแชร์ต่อ แต่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของคอนเทนต์ ถ้าให้ยกเคสที่กำลัง Attack คนอยู่ตอนนี้ก็คือซีรี่ส์เรื่อง Black Mirror ของ Netflix ที่เลือกเนื้อเรื่องได้ หรือแอปสัญชาติไทยอย่าง จอยลดา ที่เปิดให้คนมาเขียนนิยายในรูปแบบของการแชท อย่าง Twitter Trend ก็ถือเป็น User Provider ที่บางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของแบรนด์ แต่เป็นการพูดถึงกันต่อๆไป

4. ได้เวลาเลือกข้าง
อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ในยุคที่โซเชี่ยลมันเยอะมากๆ ปีสองปีที่ผ่านมา สื่อและ Influencer เองพยายามจะกระจายคอนเทนต์ลงทุกแพลตฟอร์มอย่างเดือดดาล แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะ Engage คนได้ทุกแพลตฟอร์ม การมุ่งทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์บนแพลตฟอร์มที่ตัวเองแข็งแรงที่สุด สตรองที่สุด อาจจะทำให้คุณมีจุดที่โฟกัส และทำผลงานได้ดีขึ้น

5. เป็นตัวของตัวเอง
อันนี้อาจจะไม่ใช่เทรนด์ของปีนี้ซะทีเดียว แต่ต้องยอมรับว่ากระแสต่างๆในโลกโซเชียลมันมีเยอะ พอเห็นคนนี้ทำอย่างนี้แล้วเกิด ก็แห่ไปทำตามๆกัน โดยบางครั้งยอมลด Signature ของตัวเอง สุดท้ายแล้ว Engage ที่ได้มามันฉาบฉวย คุณจะเป็นครีเอเตอร์ที่มีคลิปร้อยล้านวิว 1 คลิป และถูกลืมไป หรือจะเป็นแบรนด์ที่คนจดจำและติดตามอย่างสม่ำเสมอก็แล้วแต่จะเลือกเดินทางไหนเท่านั้นเอง

และถ้าอ่านบทความนี้จบแล้วยังไม่จุใจ อยากพูดคุยกันต่อก็เชิญได้ที่กรุ๊ปของเรา Thai Content Creator

เรียบเรียงโดยทีมงาน RAiNMaker

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save