Case StudySocialTips

Avatar

Nutn0n February 19, 2019

ได้ซีนแบบละครไทย เทคนิคทำคอนเทนต์ที่บอกว่าเราคือใคร

เปิดเพจมาไม่เห็นจะดังเลย ทำยังไงให้คนสนใจ อยากมีตัวตนบนโลกโซเชียล นี่น่าจะเป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คนที่เริ่มต้นทำเพจหรือเว็บไซต์ขึ้นมา คำถามที่เราจะถามย้อนกลับไปก็คือ แล้วคุณได้ซีนหรือยังล่ะ เปิดตัวหรือยัง ? การเปิดตัวที่ว่า ไม่ใช่การ Launch เว็บไซต์หรู ๆ เชิญนักข่าวมาแล้วบอกว่าฉันคือใคร แต่เป็นการหาจังหวะที่จะเข้ามาทำอะไรบางอย่างที่แสดงถึงตัวตนของเราต่างหาก

ลองนึกถึงละครไทยหรือลิเก ฉากเปิดตัวนางร้าย ภาพก็จะมาเลย เดินสะดีดสะดิ้งเข้ามาเกาะแขนพระเอกทำเสียงแหลม ๆ นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ละครไทยดูง่ายมาก (ดูแค่ 10 วิก็รู้แล้วว่าอันนี้นางเอก อันนี้ตัวร้าย อันนี้พระเอก) ในขณะที่ถ้าเราดู Game of Throne ให้เวลา 10 วิเราจะไม่รู้นิสัยไม่รู้บทบาทของตัวละครนั้นเลย เทคนิคการได้ซีนแบบละครไทยนี่แหละที่จะช่วยให้เราเข้ามามีตัวตนในโลกออนไลน์ได้

แล้วฉันจะได้ซีนยังไง

หนึ่งในเทคนิคที่ผู้เขียนนำมาใช้อยู่บ่อย ๆ ก็คือการได้ซีน วิธีการก็คือ เราต้องรู้ Position ของเราก่อนว่าเราเป็นใคร ให้นึกภาพว่าโลกออนไลน์เป็นโลกโลกหนึ่ง สังคมหนึ่ง แต่ละ Publisher มีหน้าที่แตกต่างกัน บาง Publisher ก็เป็นเด็กเนิร์ด ๆ บ้างก็เป็นนักวิชาการคนดัง นักธุรกิจสุดเทรนดี้ บ้างก็เป็นนักข่าว (แล้วก็มีพวก Clickbait ต่าง ๆ ที่ตะโกนเสียงดัง) ถ้าเราจับทุกคนมาอยู่ในซีนซีนหนึ่ง ณ ตอนนั้น เราจะทำอะไร ? สมมติว่าเวลาเราอยู่บนเครื่องบิน มีคนดันชักขึ้นมาแล้วสลบไป สิ่งที่ Flight Attendent ตะโกนขึ้นมาก็คือ “มีใครเป็นหมอบ้างไหมคะ” นั่นแหละคือซีนของเรา หรือเราอาจจะเสนอตัวไปเลยว่า ผมเป็นหมอครับ แล้วก็ทำสิ่งที่เราควรทำ

ดังนั้นการจะได้ซีนได้นั้น เราต้องรู้ Position ของตัวเราก่อนว่าเป็นใคร ไม่ต้องเป็นคนที่รู้จักเยอะ ไม่ต้องมีไลค์มาก แต่เมื่อมีเหตุที่เราต้องได้ซีนเราก็ควรได้ซีน เคยไหมเวลาเจอคอนเทนต์ที่คนแชร์เยอะ ๆ หลายพันหลายหมื่น มาจากเพจที่คนกดไลค์แค่หลักร้อยหลักพันเท่านั้น เราลองวิเคราะห์เล่น ๆ ดูก็ได้ว่าเกิดจากอะไร ? คอนเทนต์ที่ดีมีส่วนสำคัญ แต่ Timing ที่ดีนั้นก็ช่วยได้เยอะมาก ๆ

ยกตัวอย่างการได้ซีนจาก Publisher รอบ ๆ ตัวก็เช่น

  • เมื่อ NASA ส่งยานไปลงจอดบนดาวอังคาร เว็บไซต์ Spaceth ทำ Live ถ่ายทอดสด จนเป็นแหล่งข่าวในเช้าวันถัดมาของสำนักข่าวอื่น ๆ ในฐานะ “กลุ่มคนที่ชื่นชอบด้านอวกาศ”
  • เมื่อมีกรณีคำถามถึง 250 เสียงของ สว. ในการเลือกตั้ง 62 เว็บไซต์ iLaw ทำคอนเทนต์ออกมาอธิบายว่าทำไมการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงไม่เท่าเทียม จนคนธรรมดาทั่วไปเข้าใจ ในฐานะ “คนที่จะเอากฎหมายมาย่อยให้เข้าใจง่าย”

  • ในการเลือกตั้ง 62 เราจะเห็นเว็บไซต์แต่ละเว็บทำประเด็นครอบคลุมเรื่องที่ตัวเองให้ความสนใจ เช่น Facebook กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ทำคอนเทนต์นโยบายของพรรคการเมืองในเรื่องการศึกษา ในฐานะ “กลุ่มเด็กที่อยากเห็นการศึกษาไทยพัฒนา”

  • เวลามีข่าวปลอมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์เพจ หมอแล็บแพนด้า ก็ช่วยมาอธิบายไขข้อสงสัย ในฐานะ “แพทย์ที่อยากจะให้คนไทยเข้าใจการแพทย์แบบถูก ๆ”

เห็นหรือเปล่าว่า การรู้ Position หรือจุดยืนของตัวเองนั้นช่วยให้การได้ซีนง่ายขึ้นแค่ไหน เวลามีกรณีต่าง ๆ เกิดขึ้นในประเทศทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เราก็จะสามารถทำหน้าที่ของเราได้ ในเมื่อเรามีแนวทางการทำคอนเทนต์อยู่แล้ว แล้วยิ่งสมัยนี้จะมี Publisher ที่ทำคอนเทนต์เฉพาะทางมากขึ้น เช่น ThisAble.Me ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับผู้พิการ, iLaw ทำเกี่ยวกับกฎหมาย หรืออื่น ๆ บ้าน รถ คอนโด ดนตรี ดารา ไอดอล เราก็น่าจะใช้ตรงนี้มาให้เป็นประโยชน์กับเรา

เกาะกะแสกับได้ซีนไม่เหมือนกันนะ

ทีนี้อาจจะถามว่า การได้ซีนกับการเกาะกระแสเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าให้นิยามส่วนตัว ผู้เขียนมองว่า การได้ซีนนั้นเกิดจากการเกาะกระแส แต่ทุกการเกาะกระแสไม่ได้แปลว่าจะได้ซีน และการได้ซีน ไม่ใช่การทำ Realtime Marketing และการเกาะกระแสที่ไม่ได้ Relate กับเราอาจจะสร้าง moment แปลก ๆ ได้ ถ้านึกภาพไม่ออกก็ดู meme ด้านล่าง

ดังนั้นเราจะเห็นว่า มันไม่ใช่การอยู่ดี ๆ เดินเข้ามาแล้วพูด message นั้นเลย แต่มันอยู่ที่ timing และ positioning ก่อนที่จะทำให้เราได้ซีน

สรุปแล้วการได้ซีนนั้นเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจและควรเอาไปใช้โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่วุ่นวาย รวดเร็วและเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราจะใช้ความสามารถของเรา เรื่องราวที่เราสนใจ ทำคอนเทนต์ในรูปแบบของเราให้สังคม เพราะทุกวันนี้เราอาจจะเจอแต่ clickbait, poor journalism ที่กดเข้าไปก็เจอแต่เนื้อข่าว 2-3 บรรทัดแค่นั้น โลกออนไลน์ก็เหมือนกับสังคมสังคมนึง มี celeb มีพวก under มีคนตะโกนไร้สาระมากมาย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เสียงของคนที่รู้ลึกรู้จริงเรื่องนั้นมีโอกาสที่จะดังกว่าเสียงอื่น ๆ ได้โดยที่เราไม่ต้องพยายามตะโกน แต่ต้องรู้จังหวะในการเปิดตัวและได้ซีนนั้นมาเป็นของเรา

ง่าย ๆ ก็คือ จงเป็นตัวเราเองเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไร และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรารู้ให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะอยู่ในความทรงจำของคนเองว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์นี้ เราทำอะไร และเมื่อเกิดเหตุการณ์อื่นคล้าย ๆ กัน คนแรกที่เขาจะนึกถึงคือเรา

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Rainmaker

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save