งาน Creative Talk Conference 2021 เป็นงานที่รวบรวมวิทยากรหลากหลายด้าน เพื่อให้ความรู้และเป็นแนวทางให้กับคนที่ต้องการพัฒนาทั้งด้านธุรกิจ การตลาด และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งงานในปีนี้ก็มาในหัวข้อ “The Future Belongs to Your Creativity” แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงทำให้งานต้องเปลี่ยนไปในรูปแบบของ Virtual Conference แทน
และแน่นอนว่าเนื้อหาภายในงานก็มีการพูดถึงภาพรวมในด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การตลาด หรือโซเชียลมีเดีย ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดกันทั้งนั้น
วันนี้ RAiNMaker จึงได้รวบรวมเนื้อหาใน session ของ Social Trends 2021 มาสรุปให้เห็นภาพรวมกันว่าตลอดทั้งปี 2020 มีอะไรเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียบ้าง และในปี 2021 นี้มีเทรนด์อะไรที่น่าจับตามอง และเหล่าครีเอเตอร์ต้องมีแนวทางในการเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
Social Trends 2021
ใน session นี้ ดำเนินการบรรยายโดย ‘คุณกล้า ตั้งสุวรรณ’ CEO at Wisesight ที่บอกได้ว่านำข้อมูลมากางให้ดูกันอย่างไม่กั๊ก
Social Listening
คุณกล้าได้พูดถึง ‘Social Listening’ ที่เป็นสิ่งสำคัญในการทำกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย เพราะเสียงจากโลกออนไลน์จะสะท้อนภาพแบรนด์ของเรา ทำให้เราเห็นคู่แข่ง เห็นพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภค ที่สามารถนำมาวัดผล เพื่อพัฒนากลยุทธ์ต่อไปได้
โดยเฉพาะในปี 2020 ที่มีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก แบรนด์ต่างมีการเพิ่มความถี่ในการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น
จากรูปสามารถสรุปการใช้โซเชียลของแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทย เมื่อเทียบระหว่างปี 2019 และ 2020 โดยมีตัวชี้วัดเป็นโซเชียลมีเดีย 4 ช่องทางหลัก คือ Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube ได้ดังนี้
เป็นช่องทางหลักที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุดในบรรดาโซเชียลมีเดีย ในปี 2020 แบรนด์มีการโพสต์คอนเทนต์เพิ่มขึ้นจากปี 2019 เพียง 0.3% เท่านั้น แต่กลับมียอด Engagement ทั้งยอดไลก์ ยอดแสดงความรู้สึก และยอดแชร์ เพิ่มขึ้นถึง 47.9% ส่งผลให้เห็นว่าผู้คนใช้โซเชียลมีเดียและรับสารผ่านเฟซบุ๊กกันมากขึ้น
ต่อมาทวิตเตอร์ ทั้งจำนวนทวีตและยอด Engagement ก็มีการเพิ่มขึ้นทั้งคู่ เป็น 15.6% และ 36.9% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าทวิตเตอร์เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในการทำการตลาด
ในส่วนของอินสตาแกรมจะแบ่งออกเป็น โพสต์ภาพนิ่งและวิดีโอ ซึ่งแต่ละแบรนด์มีการโพสต์ภาพนิ่งเพิ่มขึ้น 15.3% และมีการโพสต์วิดีโอเพิ่มมากขึ้นถึง 19.1% ในขณะที่ยอด Engagement เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3% เท่านั้น
- YouTube
และสุดท้ายคือยูทูป แต่ละแบรนด์มีการโพสต์คลิปวิดีโอมากขึ้น 7.5% แต่ยอด Engagement กลับลดลง 9.6%
จะเห็นได้ว่ายอด Engagement ของทั้ง Instagram และ YouTube ไม่ได้เพิ่มตามจำนวนโพสต์ที่มากขึ้น อาจไปไม่ถึงจุดที่แบรนด์คาดหวัง ทั้งนี้เป็นเพราะความแตกต่างของแต่ละแพลฟอร์ม ทำให้มีผลต่อแบรนด์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นควรศึกษาธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มเพื่อเลือกใช้ให้เข้ากับแบรนด์ด้วย
ภาพรวมของอุตสาหกรรมในปี 2020
เนื่องจากสถานการณ์โควิด ไม่เพียงแต่ยอด Engagement บนโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มจะลดลงแต่เพียงเท่านั้น แต่ภาพรวมของหลายอุตสาหกรรมก็มียอด Engagement ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังมีบางอุตสาหกรรมที่มียอดเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดลิเวอรี
สำหรับอุตสาหกรรมที่ดิ่งลงมาเลย คือ อุตสาหกรรมความงามและร้านอาหาร ที่มีการโพสต์โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นแต่ยอด Engagement ลดลง รวมไปถึงอุตสาหกรรมภาครัฐที่มีการโซเชียลมีเดียในการสื่อสารมากขึ้นตลอดทั้งปี แต่ช่วงครึ่งปีหลังมียอด Engagment ลดลง อาจเป็นเพราะประชาชนเริ่มเข้าใจสถานการณ์โควิด และสถานการณ์การเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในภาครัฐ
ภาพรวมบนโซเชียลมีเดียในปี 2020
นอกจากภาพรวมของแต่ละอุตสาหกรรมแล้ว หันมาดูที่ภาพรวมภาพรวมของโซเชียลมีเดียในปี 2020 กันบ้าง ที่นับเป็นภาพสะท้อนว่าผู้คนในสังคมได้ให้ความสนใจกับอะไรกันบ้าง ปีที่แล้วเป็นอีกปีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย และ 5 เรื่องราวที่มียอด Engagement สูงสุด ได้แก่
- COVID-19 (116 ล้าน)
- BLACKPINK (63 ล้าน)
- ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ (28 ล้าน)
- ตูนก้อยแต่งงาน (24 ล้าน)
- ลุงพล (22 ล้าน)
#SAVE
อีกเรื่องราวที่กลายเป็นประเด็นในปีที่ผ่านมา คือ เรื่อง ‘Save’ ที่เริ่มเป็นกระแสมาตั้งแต่ปีช่วงปลายปี 2019 ที่ติดแฮชแท็ก #Save กันมากมาย ที่ทุกคนน่าจะจำกันได้คงเป็น #Saveปีโป้ม่วง บนทวิตเตอร์ ทำให้แบรนด์ปีโป้คว้าโอกาสนั้นเปลี่ยนเป็นแผนการตลาด และเพิ่มยอดขายได้ ปลุกให้แบรนด์อื่นใช้กระแสนี้ในการส่งเสริมการตลาดตามไปด้วย
จากนั้นก็ได้มีการติดแฮชแท็ก Save กันมากมายตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น #Saveวันเฉลิม #Saveอนาคตใหม่ หรือ #Saveเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่ง 70% เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง
แฮชแท็กนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์ได้เห็นว่าผู้คนสนใจอะไรกันอยู่ และเป็นช่องทางที่ช่วยให้แบรนด์หรือนักการตลาดสามารถจับกระแสเหล่านี้ไปต่อยอดในการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี
3 สิ่ง ที่นักการตลาดควรมีในยุคโควิด
1. Quicker Data – ข้อมูลที่รวดเร็ว
- Real Time – ข้อมูลที่รวดเร็ว ควรเป็นข้อมูลที่มีการอัปเดตให้เป็นปัจจุบันเสมอ
- Fast Response – การตอบกลับที่รวดเร็ว โดยเฉพาะกับการซื้อขาย ยิ่งกลุ่มเป้าหมายได้รับการตอบกลับที่รวดเร็วจากแบรนด์มากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสในการซื้อขายได้มากขึ้นเท่านั้น
- Dashboard – การมีตารางข้อมูลที่อัปเดตแบบเรียลไทม์ จะทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมและข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น
2. Deeper Data – ข้อมูลเชิงลึก
- Image Labeling – ในส่วนของรูปภาพ หากมีข้อมูลรูปภาพมหาศาล ที่ไม่สามารถใช้คนอ่านภาพได้ทั้งหมด จึงต้องใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลภาพในเชิงลึกขึ้น
- Lead signal Data – ต้องใช้ข้อมูลที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ลึกขึ้น
- Market Benchmarking – คือการรู้ว่าแบรนด์ตัวเองอยู่จุดไหนในอุตสาหกรรม เอาตัวเองเทียบกับตัวเองในอดีต เทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม เพื่อให้รู้ว่ากลยุทธ์เราได้ผลหรือไม่
3. Intregration of Data – ข้อมูลที่สามารถนำไปประกอบกันได้
- Google Search – การใช้แค่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบกับ Google Search เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลได้ด้วย
- Multi-Tools – ในยุคนี้ไม่สามารถใช้เครื่องมือเดียวได้การเก็บข้อมูลได้ จึงต้องมีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมได้หลากหลายช่องทาง
- Traditional Media – แม้ยุคนี้จะเป็นยุคของโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ควรที่จะลืมใช้ข้อมูลจากสื่อดั้งเดิมมาประกอบในการวิเคราะห์ข้อมูล
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในปี 2021
- ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว
66% ของผู้บริโภคชอบแบรนด์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โควิดได้อย่างรวดเร็ว และ 63% ของผู้บริโภคพร้อมที่จะรับ Digital Technology เพื่อใช้ในการซื้อสินค้าและบริการ ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคพร้อมปรับตัวแล้ว แบรนด์เองจึงต้องปรับตัวและรับฟังความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย
- การแข่งขันใน Digital Marketing สูงขึ้น
ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ทำให้การทำการตลาดไม่สามารถกลับไปอยู่ในโลกของ Physical ได้ 100% เหมือนเมื่อก่อน และทุกคนกำลังใช้ Digital Marketing เพราะฉะนั้นก็มีคู่แข่งที่คอยปรับตัวอยู่ในตลาดเช่นกัน การดำเนินการทุกอย่างจึงต้องวัดผลทุกครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนากลยุทธ์ และเพื่อดูว่าการลงทุนตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
- ข้อมูล 1st Party ช้าและค่าใช้จ่ายสูง
ข้อมูล 1st Party ถือเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าและมีความแม่นยำ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง การลงทุนด้าน Customer Data Platform (CDP) มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปีละประมาณ 3-10 ล้านบาทต่อปี นั่นแปลว่าไม่ใช่ทุกบริษัทจะสามารถลงทุนในจุดนี้ได้ หรือบางทีลงทุนไปแล้วไม่เวิร์ก และในปัจจุบันนี้การใช้แค่ข้อมูลตรงนี้ก็ไม่เพียงพอ เพราะต้องดูทั้งข้อมูลคู่แข่ง ภาพรวมของตลาดเพื่อประกอบกันด้วย
ซึ่งในปัจจุบันต้องใช้ข้อมูลจากโซเชียลในการดูตลาด ทั้งดูเทรนด์ว่าตอนนี้ผู้คนสนใจอะไร คู่แข่งกำลังทำอะไร ในตลาดมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางกลยุทธ์ในปีหน้า หรือที่เรียกว่า ‘Market Data’ ที่คุณกล้าจะนำไปบรรยายต่อในงาน Creative Talk 2021 ในวันที่ 25 เมษายนนี้
และนี่ก็คือไฮไลต์สำคัญใน session ของ Social Media Trends 2021 ที่ทางทีมงาน RAiNMaker สรุปมาให้ ทุกคนจะได้มองเห็นภาพรวมบนโซเชียลมีเดียในปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษา รวมถึงได้รู้แนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อจะได้ปรับตัวและหาโอกาสในการใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในการทำการตลาดได้อย่างตรงจุดมากขึ้น