หลังจากที่ทาง RAiNMaker ได้ร่วมมือกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดงาน iCreator Camp 2024 Presented by SONY เพื่อปั้นครีเอเตอร์กว่า 100 ชีวิต ทาง Thai Media Lab ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้จัดทำ Report ‘รายงานการพัฒนาทักษะครีเอเตอร์’ และอินไซต์ที่น่าสนใจของผู้เข้าร่วมแคมป์ ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการสร้างรายได้, Pain Point ของครีเอเตอร์ และทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ
เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นแนวทางให้ทั้งเหล่าครีเอเตอร์หน้าเก่า และหน้าใหม่ที่สนใจก้าวเข้ามาในวงการครีเอเตอร์ นำข้อมูลไปปรับใช้เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นครีเอเตอร์ให้มั่นคงและยืนยาว โดย Report ฉบับนี้เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมแคมป์ทั้งหมด 72 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนอายุดังนี้
- Gen X (อายุ 45-59 ปี): จํานวน 3 คน (คิดเป็น 4%)
- Gen Y (อายุ 28-44 ปี): จํานวน 39 คน (คิดเป็น 54%)
- Gen Z (อายุ 15-27 ปี): จํานวน 30 คน (คิดเป็น 42%)
ทำครีเอเตอร์เป็นงานหลัก VS งานเสริม
เมื่อก่อนคนมักทำครีเอเตอร์เป็นงานเสริม เช่น งานอดิเรก หรือหารายได้เพิ่มเติมมากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนเริ่มหันมาทำครีเอเตอร์เป็นงานหลักมากขึ้น ที่น่าสนใจคือครีเอเตอร์บางส่วนเริ่มใช้อาชีพครีเอเตอร์เป็นช่องทางหลักในการหารายได้มากขึ้น โดยมีอินไซต์ที่น่าสนใจ ดังนี้
ทำครีเอเตอร์เป็นงานเสริม
- 43% ทำครีเอเตอร์เป็นงานอดิเรก
- 25% หารายได้เสริมจากการเป็นครีเอเตอร์
ทำครีเอเตอร์เป็นงานหลัก
- 21% ทำครีเอเตอร์เป็นรายได้หลัก
- 11% ทำครีเอเตอร์เพื่อสนับสนุนงานหลัก
3 แหล่งรายได้หลักจากการเป็นครีเอเตอร์
ส่วนแหล่งรายได้ของครีเอเตอร์ยุคใหม่ที่มาแรงสุด ๆ ในยุคนี้คงหนีไม่พ้นการทำ Affiliate Marketing หรือการเป็นนายหน้าขายของให้แบรนด์ผ่านการทำคอนเทนต์ พร้อมติดตะกร้า หรือแปะลิงก์อย่างที่เห็นแพร่หลายตามโซเชียลมีเดีย ที่มาแรงจนแทบจะเทียบเท่าแหล่งที่มารายได้ของครีเอเตอร์ยุคก่อน อย่างการทำ Branded Content
แต่สำหรับแหล่งรายได้อย่างการ Donate ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มครีเอเตอร์ต่างชาติ กลับยังไม่ได้เป็นช่องทางรายได้หลักของครีเอเตอร์ในวงกว้างเท่าไหร่นัก ยกเว้นครีเอเตอร์สาย Live Streamer ที่อาจมีรายได้หลักจากการ Donate เป็นหลัก อย่างไรก็ตามภาพรวมของครีเอเตอร์ ส่วนมากมีรายได้จากหลากหลายช่องทาง อย่างน้อย 3 ช่องทางขึ้นไป
- 61.1% มีรายได้จากการทำ Product Review
- 48.6% มีรายได้จากการรับ Brand Sponsorship
- 41.7% มีรายได้จากการทำ Affiliate Marketing
Note:
- 5.6% ครีเอเตอร์มีรายได้จากการ Donate
- 47.2% มีรายได้มากกว่า 3 ช่องทาง
- ส่วนมากครีเอเตอร์ที่ทำมานานจะหารายได้จากหลายช่องทาง
Top 3 Pain Points ที่ครีเอเตอร์กังวล
การเป็นครีเอเตอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย และแน่นอนว่าอาชีพนี้ก็ต้องพบเจอกับอุปสรรคหลากหลายรูปแบบ โดย Pain Point หลักที่ครีเอเตอร์กังวลจะเป็นเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- 62.5% กังวลเรื่องการสร้างตัวตนให้แตกต่าง เพื่อการแข่งขันในวงการครีเอเตอร์
- 58.3% กังวลเรื่องช่องทางและวิธีการสร้างรายได้ รวมถึงรายได้ที่ไม่มั่นคง
- 48.6% กังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงและข้อจำกัดของแพลตฟอร์ม
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่เหล่าครีเอเตอร์กังวลรองลงมา คือ การหาเรื่องราวมาสร้างสรรค์และพัฒนาคอนเทนต์, การทำคอนเทนต์ที่คำนึงถึงจริยธรรม และการรับผิดชอบของสังคม หรือเรื่องแรงกดดันต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดดราม่าบนโลกออนไลน์ได้ตามลำดับ
ความคาดหวังในฐานะครีเอเตอร์
นอกจากเรื่องรายได้ และการสร้างตัวตนแล้ว สิ่งที่ครีเอเตอร์คาดหวังในการทำอาชีพนี้ คือ การร่วมงานกับครีเอเตอร์คนอื่น, ร่วมงานกับแบรนด์ หรือการสร้างคอมมูนิตี้ของครีเอเตอร์ให้แข็งแกร่ง โดยคิดเป็นสัดส่วนตามนี้
- 86.1% คาดหวังการมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ หรือองค์กร
- 86.1% คาดหวังการ Collab ระหว่างครีเอเตอร์ด้วยกันเอง
- 84.7% คาดหวังการสร้าง Creator Community ให้แข็งแกร่ง
สกิลที่ครีเอเตอร์ควรมีเทียบกับแต่ละช่วงอายุ
การจะเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพต้องอาศัยสกิลหลากหลายอย่างรวมกัน เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาให้แตกต่างแบบเป็นตัวเอง ซึ่งในแต่ละช่วงระยะเวลาที่เป็นครีเอเตอร์ อาจมีความต้องการในการพัฒนาสกิลบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราแบ่งช่วงระยะของการเป็นครีเอเตอร์ออกเป็น 3 ช่วงหลัก ดังนี้
Beginner
ครีเอเตอร์หน้าใหม่ หรือครีเอเตอร์ที่เพิ่งเริ่มทำไม่เกิน 1 ปี ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาสกิลด้านการเล่าเรื่อง และความสร้างสรรค์เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงค้นหาตัวตน และทำให้ตัวเองแตกต่าง เพื่อแข่งขันในตลาดคอนเทนต์ได้ รวมถึงต้องคำนึงต้องจรินธรรมในฐานะผู้ผลิตสื่อ และทำคอนเทนต์ที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่เสมอ เพื่อให้คอนเทนต์ที่ทำออกไปเป็นประโยชน์ต่อสังคม
สกิลที่ควรพัฒนาเป็นพิเศษ
- การเล่าเรื่อง (Storytelling)
- ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
- จริยธรรม / ความรับผิดชอบต่อสังคม (Ethics)
Intermediate
ครีเอเตอร์ที่เริ่มทำมาระยะหนึ่ง จนเริ่มมีแนวทางคอนเทนต์ที่ชัดเจน แต่อาจยังไม่มีรายได้ที่มั่นคง ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสกิลด้าน Content Marketing เพื่อใช้ความรู้ด้านการทำ Marketing มาช่วยวางกลยุทธ์ในการวางคอนเทนต์ให้แข็งแรงมากขึ้น รวมถึงพัฒนาสกิล Design & Visual เพื่อยกระดับคอนเทนต์โดยเฉพาะภาพและวิดีโอให้น่าดึงดูด และที่สำคัญควรเริ่มหาช่องทางและวิธีการสร้างรายได้อย่างจริงจัง เพื่อต่อยอดอาชีพให้มั่นคงมากขึ้น
สกิลที่ควรพัฒนาเป็นพิเศษ
- การออกแบบ (Design & Visual)
- การสร้างรายได้ (Monetization)
- การทำ Content Marketing
Advanced
ครีเอเตอร์ที่ทำมานาน และต้องการขยายงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ควรให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจ และความรู้เฉพาะทาง เพื่อนำคอนเทนต์มาต่อยอดสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ที่มากขึ้น รวมถึงยังคงต้องให้ความสำคัญในด้าน Production ของคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเทคนิคการผลิต หรือความเข้าใจและการปรับตัวบนแต่ละแพลตฟอร์มได้อย่างเชี่ยวชาญ
สกิลที่ควรพัฒนาเป็นพิเศษ
- การทำธุรกิจ (Business Management)
- การทำ Production / ความเข้าใจ Platform
- การสร้างรายได้ (Monetization)
และทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงานการพัฒนาทักษะครีเอเตอร์ ที่ทาง Thai Media Lab ได้เก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมงาน iCreator Camp 2024 Presented by SONY เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางให้กับครีเอเตอร์คนอื่น ๆ ในวงการได้นำไปปรับใช้ในการวางแผนและพัฒนากลยุทธ์ในการทำคอนเทนต์ เพื่อเสริมสร้างให้อาชีพครีเอเตอร์ของตัวเองมั่นคงมากยิ่งขึ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์กับเหล่าครีเอเตอร์ไม่มากก็น้อย