ในยุคที่ความจริงและความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ผู้คนตระหนักเป็นอันดับแรก ๆ โดยเฉพาะกับ ‘การรีวิวสินค้า’ ที่นับวันผู้คนยิ่งพยาพยามหลีกเลี่ยงรีวิวที่ได้รับการจ้าง หรือที่เรียกว่า ‘Sponsored Review’ เพื่อเฟ้นหารีวิวจากผู้จริงมากกว่า
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนมีภาพจำว่า Sponsored Review นั้นล้วนมีสคริปต์มาให้อินฟลูเอนเซอร์สื่อสารออกไปตามความต้องการของแบรนด์ จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความคิดว่าแล้วสิ่งไหนล่ะคือความจริง ?
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วการทำ Sponsored Review นั้น แบรนด์สามารถปรับเปลี่ยนวิธีให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากขึ้นได้ แถมยังไม่เป็นการควบคุมตัวอินฟลูเอนเซอร์มากจนเกินไป และผลที่ตามมาคือแบรนด์เองก็ได้ภาพลักษณ์ที่ดีกลับมาด้วยเช่นกัน
วันนี้ RAiNMaker เลยพามาดู 7 วิธีสำหรับแบรนด์ในการจ้าง Sponsored Review กันว่าจะต้องคำนึงถึงอะไรกันบ้าง
ความจริงใจและความโปร่งใส
อนุญาตให้ผู้รีวิว ไม่ว่าจะเป็น สื่อ เพจ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ติดแท็กให้เห็นชัดเจนว่าเป็นคอนเทนต์ที่มีสปอนเซอร์ อย่าง #SponsoredReview รวมถึงฝั่งอินฟลูเอนเซอร์ก็ควรให้ความจริงใจและความโปร่งใสกับผู้บริโภคเช่นกัน หากสินค้าตัวไหนได้รับมาก็ควรแจ้งให้ชัดเจน และรีวิวตามความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา
เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกว่าแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์จริงใจต่อพวกเขา จากการที่กล้าเปิดเผยตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มยอมเปิดรับสารมากกว่านั่นเอง
ในส่วนนี้แบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์อาจมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของการสื่อสาร คีย์เวิร์ดว่าคำไหนพูดได้หรือไม่ได้ ทั้งนี้ก็อยู่กับการพิจารณาของทั้งสองฝ่าย โดยอินฟลูเอนเซอร์สามารถเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม เป็นตัวเอง และยังคงความไม่เกินจริงไว้อยู่ด้วย
ส่งของและให้เวลาทดลองใช้จริง
แน่นอนว่าถ้าจะให้รีวิวตามความจริง ก็ต้องมีการส่งสินค้าหรือบริการให้ทดลองใช้จริง เพื่อที่อินฟลูเอนเซอร์จะได้สามารถรีวิวได้จากประสบการณ์ตรงนั่นเอง สิ่งนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์เลยก็ว่าได้
เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์เองก็จะเห็นความจริงใจของแบรนด์ และถ้าหากสินค้าหรือบริการใช้ดีจริง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์พร้อมที่จะรีวิวความรู้สึกออกมาจากใจจริง ๆ อีกด้วย
ให้อิสระครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์
การที่แบรนด์ให้อิสระกับเหล่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ นอกจากจะทำให้พวกเขาได้รู้สึกเป็นมิตรและมีทัศนคติต่อแบรนด์ในเชิงบวกมากขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ได้เห็นโอกาสในการรีวิวแบบใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
เพราะอย่าลืมว่าเหล่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์เป็นคนที่รู้จักพฤติกรรมการรับสารของกลุ่มเป้าหมายของเขาที่สุด! หากแบรนด์เข้าไปควบคุมมาก จนใช้พวกเขาเป็นแค่ตัวกลางในการสื่อสาร ก็อาจทำให้กลุ่มเป้าหมายจับไต๋ได้และหายไป ทำให้แบรนด์เองก็ไม่ได้ยอดขายเช่นกัน
ไม่เปรียบเทียบหรือพาดพิงแบรนด์อื่น
การรีวิวที่ดีไม่ควรจะเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น หรือพาดพิงถึงแบรนด์อื่นให้เกิดความเสียหาย เพราะถือเป็นข้อห้ามในการโฆษณา แถมยังทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ดูแย่ลงไปอีกด้วย
ดังนั้นจึงควรใช้พื้นที่เป็นการรีวิวที่บอกจุดเด่น หรือข้อแตกต่างของตัวเองเพื่อโปรโมตให้คุ้มค่ามากกว่า เพราะถ้าแบรนด์ดีจริงเราแค่เทียบกับผลลัพธ์การงานใช้ก่อนหลัง หรือเทียบกับตัวเองก็พอแล้ว
สร้างแคมเปญครีเอทีฟ
นอกจากการรีวิวก็อาจเพิ่มแคมเปญที่เต็มไปด้วยครีเอทีฟมากขึ้น นอกเหนือจากการรีวิวแบบเดิม ๆ เช่น การสร้างฟิลเตอร์ AR ของแบรนด์เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวและเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมเล่นสนุก หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ก็อาจชวนให้ลองนำสินค้าไปจับคู่กับอาหารชนิดอื่นเป็นสูตรของตัวเอง เป็นต้น
วิธีการที่ครีเอทีฟแบบนี้นอกจากจะดึงดูดความสนใจแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากแบรนด์ และถ้าแบรนด์ทำให้ผู้บริโภคสามารถสนุกไปกับมันได้ก็มีโอกาสทำให้ผู้บริโภคประทับใจแบรนด์มากขึ้นไปด้วย
ยอมรับฟีดแบ็กทุกคำติชม
แน่นอนว่าเมื่อมีการรีวิวออกไปก็ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าหากฟีดแบ็กเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย ก็ควรที่จะรับฟังความคิดเห็นด้านอื่น ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้น
การลบ บล็อก หรือตอบโต้คอมเมนต์ที่คิดต่างไม่ได้ช่วยให้แบรนด์ดูดีขึ้น แต่ยังจะทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์แย่ลงไปอีกด้วยซ้ำ เพราะคนจะมองว่าถ้าเห็นต่าง = ผิด จึงอาจทำให้ถูกมองว่าคอนเทนต์ที่ออกมาไม่ม่ีความเรียลนั่นเอง
ถ้าสินค้าดีจริง ไม่ต้องสคริปต์คนก็เชื่อ
สุดท้ายถ้าสินค้าหรือบริการของแบรนด์ดีจริง ต่อให้ไม่ต้องใช้สคริปต์ละเอียดเพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์รีวิว เขาก็สามารถที่จะเขียนรีวิวออกมาจากประสบการณ์การใช้งานจริง แถมยังจะมีผู้บริโภคที่ใช้จริงคอยสนับสนุนเสริมความน่าเชื่อถือให้แบรนด์อีกต่างหาก
แบบนี้ก็ไม่ต้องมีหน้าม้ามาคอมเมนต์ข้อความซ้ำ ๆ กันชวนให้คนสงสัยว่ารีวิวนี้เชื่อถือได้หรือไม่อีกด้วย