ReelsShortsTikTok

Avatar

doyoumind March 25, 2022

ครบจบที่เดียว เทียบความต่างวิดีโอสั้น TikTok vs Reels vs Shorts หมดปัญหาการเลือกใช้แพลตฟอร์ม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันผู้คนเสพวิดีโอสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความที่เป็นวิดีโอแนวยาวเต็มจอที่มีหน้าฟีดแบบ Never-ending หรือเลื่อนหน้าฟีดได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดนั่นเอง จนทำให้หลายแพลตฟอร์มเองก็ได้พัฒนาฟีเจอร์วิดีโอสั้นออกมาแข่งขันกัน เพื่อให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมการรับชมวิดีโอผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคมากที่สุด

ตอนนี้เลยมีแพลตฟอร์มใหญ่ที่โดดเด่นเรื่องวิดีโอสั้นอยู่ 3 แพลตฟอร์มหลักด้วยกัน คือ TikTok, Instagram Reels และ YouTube Shorts ซึ่งเป็นโจทย์ให้ทั้งกับครีเอเตอร์ แบรนด์ และผู้ใช้ทั่วไปว่า แต่ละแพลตฟอร์มต่างกันอย่างไร? และควรเลือกใช้แบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวเอง? วันนี้ RAiNMaker มีคำตอบค่ะ

TikTok

เริ่มที่แพลตฟอร์มผู้นำเทรนด์วิดีโอสั้นที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีกเรื่อย ๆ อย่าง TikTok จากเดิมที่สามารถสร้างวิดีโอสั้นได้ 15 วินาที ตอนนี้ก็มีการปรับขยายจนสามารถสร้างได้ถึง 10 นาทีแล้ว

หลายคนอาจกังวลว่าการทำแบบนี้จะกลบเสน่ห์ความเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นของ TikTok และจะไปทับไลน์กับคลิปบน YouTube หรือไม่? แต่ความจริงแล้วหาก TikTok มีวิธีการรับมือ เตรียมพร้อมฟีเจอร์ต่าง ๆ มารองรับแล้วล่ะก็ การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้ง่าย และอยู่ได้อีกนานในอนาคตเลยล่ะ

ด้วยความที่ TikTok มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และโดดเด่นเรื่องเพลงที่ใช้ประกอบอยู่แล้ว การขยายเวลาจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้สร้างสรรค์วิธีการสร้างวิดีโอใหม่ ๆ ออกมาอย่างไม่รู้จบ

สำหรับจุดเด่นของ TikTok มีอะไรน่าสนใจบ้าง ไปดูกันดีกว่า

  • ความยาววิดีโอ: 10 นาที
  • ฟิลเตอร์และเอฟเฟกต์ AR: มีให้เลือกมากมาย แม้กระทั่ง Green Screen แถมยังมีการปล่อยเอฟเฟกต์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เรียกว่าเล่นตามแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว
  • คลังเพลง: มีเพลงมากมาย จนเรียกว่าศิลปินหลายคนก็เลือก TikTok เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการทำ Music Marketing ในปัจจุบัน เพราะหลายเพลงก็เป็นกระแสเพราะ TikTok นั่นเอง
  • สามารถอัดและตัดต่อคลิปบนแอปอย่างง่ายดาย
  • สติกเกอร์: สามารถอัดคลิปตอบคอมเมนต์ของคนดูได้ แถมยังมี Hashtag challenges ให้ได้เล่นตามกันอีกด้วย
  • ฟีเจอร์รองรับ E-commerce: TikTok Shopping สามารถดูสินค้าบนแอปได้เลย หรือจะใส่ลิงก์ในไบโอก็ได้ พิเศษสำหรับแบรนด์มีปุ่ม Shop Now กดเพื่อซื้อสินค้าได้ทันที
  • การเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์: สามารถสร้าง ดู และแชร์ได้ทั้งบนแอปผ่าน Direct Messages และช่องทางอื่น ๆ
  • การสร้างรายได้สำหรับครีเอเตอร์: TikTok Creator Fund

นอกจากนี้ เทรนด์บน TikTok ยังมีมาให้เล่นสนุกกันเรื่อย ๆ แต่มักจะมาเร็วไปเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าอยากเข้าถึงคนจำนวนมากอย่าลืมที่จะกระโดดเข้าไปเล่นให้ทัน ไม่งั้นอาจ Out ได้!

สำหรับจุดเด่นของ TikTok อยู่ที่การเป็นแพลตฟอร์มผู้นำเรื่องวิดีโอ Short-form ได้รับความนิยมมาก รวมถึงเป็นแหล่งรวมครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เยอะ และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่ม Gen Z

ทำให้เหมาะกับครีเอเตอร์ที่อยากแจ้งเกิดในแพลตฟอร์มใหม่ และเหมาะกับแบรนด์ในขั้นตอนของการสร้าง Awareness เนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนมาก มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้สูง และหากกลุ่มเป้าหมายเป็น Gen Z จะยิ่งตอบโจทย์

เนื่องจาก TikTok เองก็เป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ และผู้คนส่วนมากมักใช้ดูเพื่อความบันเทิง อาจจะต้องศึกษาให้ดีว่าคอนเทนต์แบบไหนจะเหมาะ เพราะต้องมีความกลมกลืนไปกับแพลตฟอร์ม และเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างลงตัว

Reels

ตามมาด้วย Instagram ที่เมื่อเห็นว่ากระแสวิดีโอสั้นมาแรง ก็รีบสร้าง Reels ขึ้นมาพร้อมชน TikTok ในปี 2020 และมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีแท็บ Reels อยู่ใน Menu Bar ด้านล่าง และยังเชื่อมไปยัง Facebook Reels ได้อีกด้วย

  • ความยาววิดีโอ: 60 วินาที
  • ฟิลเตอร์และเอฟเฟกต์ AR: มากมาย ที่ผู้ใช้สามารถสร้างขึ้นเองได้
  • คลังเพลง: มีเพลงให้เลือกมากมาย คล้ายกับใน TikTok
  • สติกเกอร์: สามารถใส่สติกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็น Polls แท็กคนอื่น หรือใส่แฮชแท็ก ได้บนวิดีโอ
  • สามารถอัดและตัดต่อคลิปในบนแอป
  • ฟีเจอร์รองรับ E-commerce: Reels Shopping ที่ช่วยให้แท็กสินค้าในคลิปบนแอปผ่านปุ่ม View Products และถ้าบางแบรนด์ที่มี Instagram Checkout ก็สามารถให้ผู้ใช้ชำระเงินบนแอปได้เลย
  • การเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์: สามารถสร้าง ดู และแชร์ได้ทั้งบนแอปผ่าน Direct Messages และช่องทางอื่น ๆ
  • การสร้างรายได้สำหรับครีเอเตอร์: Reels Play Bonus (สำหรับบางพื้นที่เท่านั้น)

ด้วยความที่ Instagram เป็นแอปที่มีมานานอยู่แล้ว และจำนวนผู้ใช้ก็มากมายจากทั่วโลก การสร้างสรรค์คลิปบน Reels ก็มีโอกาสที่จะได้เข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง แถมการเข้าถึงก็สะดวกเพราะอยู่บนแอปเลย

ส่วนมากสไตล์ของ Reels จะคล้ายกับ TikTok ตรงที่มีเพลง ฟิลเตอร์ AR และชาเลนจ์ต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์วิดีโอเป็นหลัก แต่อาจจะแตกต่างในเรื่องของความเป็นเอกลักษณ์ ที่หลายแบรนด์ยังคงเลือก Reels เป็นช่องทางหลักในการโปรโฒตสินค้าอยู่ อาจจะเพราะสะดวกกับการเชื่อมต่อ Instagram ของร้านก็เป็นได้

การทำวิดีโอบน Reels อาจจะง่ายตรงที่ครีเอเตอร์สามารถควบคุม Mood & Tone ให้เป็นไปในทางเดียวกันกับหน้าฟีด Instagram ได้ง่ายขึ้น และโชว์ความเป็นไลฟ์สไตล์ได้มากกว่า สำหรับแบรนด์ก็สะดวกอยู่แล้ว เนื่องจาก Instagram ก็ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางแห่ง E-commerce นั่นเอง

YouTube Shorts

มาช้าแต่มานะ! หลังเห็นคู่แข่งทั้งสองได้เปิดตัวกันไปแล้ว YouTube เองก็ปล่อย Shorts ตามมาติด ๆ เพื่อตอกย้ำความมาแรงของวิดีโอสั้นในยุคนี้ ถ้ามองภาพรวมก็จะรู้สึกว่าไม่ได้มีความแตกต่างอะไรมากจากสองแพลตฟอร์มข้างต้น

แต่ความจริงแล้วยังมีหลายฟีเจอร์ที่ Shorts อาจจะยังคงตามหลังอยู่ อาจด้วยเพราะการเปิดตัวที่ช้ากว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีฟีเจอร์อื่น ๆ ที่มาเสริมได้เป็นอย่างดี

  • ความยาววิดีโอ: 60 วินาที
  • ฟิลเตอร์และเอฟเฟกต์: แม้จะไม่มีเอฟเฟต์ AR และฟิลเตอร์ไม่หลากหลายเท่า TikTok และ Reels แต่ Shorts ก็ยังมีฟิลเตอร์พื้นฐานให้เลือกเล่นได้อยู่นะ!
  • สามารถอัดและตัดต่อคลิปในบนแอป
  • ยังไม่มีสติกเกอร์ที่ใส่ในวิดีโอได้เหมือนกับ TikTok และ Reels
  • ฟีเจอร์รองรับ E-commerce: ยังไม่มีการใส่ลิงก์ร้านค้ามาซัพพอร์ตเหมือนกับ TikTok และ Reels แต่ขณะนี้ Shorts ก็ยังคงทดสอบให้สามารถซื้อผลิตภัณฑ์บนแอปได้โดยตรง ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในปีนี้
  • การเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์: สามารถสร้าง ดู และแชร์ไปยังช่องทางอื่น ๆ ได้ แต่ไม่สามารถแชร์ได้ภายบนแอป เนื่องจาก YouTube ไม่มีฟีเจอร์ Direct Messeges นั่นเอง
  • การสร้างรายได้สำหรับครีเอเตอร์: YouTube Shorts Fund
  • แต่! จุดเด่นของ Shorts ที่คล้ายกับ TikTok แต่ Reels ยังไม่มีคือ การเปิด Subtitle ได้!

ใครที่ชอบดู YouTube แต่บางครั้งอาจเบื่อวิดีโอยาว ก็สามารถเปลี่ยนมาดูวิดีโอสั้นผ่าน Shorts ได้ แถมยังอาจได้เห็นมุมมองคอนเทนต์ใหม่ ๆ จากเหล่าครีเอเตอร์ในรูปแบบของวิดีโอสั้นอีกด้วย

ส่วนแบรนด์ที่เคยแต่ทำวิดีโอยาวบน YouTube อาจเพิ่มการทำวิดีโอสั้นผ่าน Shorts เพื่อปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค จะได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะใช้ Shorts เป็นตัวสร้างคอนเทนต์ Exclusive เพื่อเชื่อมโยงไปยังวิดีโอหลักบน YouTube ก็ได้เช่นกัน

ข้อได้เปรียบคือ เนื่องจาก Shorts มีแท็บแยกออกมาบนแอป YouTube จึงทำให้มีฐานแฟนจากคนดู YouTube อยู่แล้ว ถึงแม้จะมาทีหลังแต่ก็น่าจับตามองไม่น้อย แถมยังเป็นโอกาสสำหรับยูทูบเบอร์ที่ต้องการลองสร้างสรรค์คอนเทนต์ผ่านวิดีโอสั้น โดยไม่ต้องไปเริ่มใหม่ในแพลตฟอร์มอื่นอีกด้วย

ในอนาคต Shorts เองก็วางแผนจะให้ผู้ใช้สามารถใช้เสียงจากคลิปวิดีโอที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มได้ ส่วนอัปเดตต่าง ๆ ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องคอยติดตาม แต่เชื่อว่าคงมีอัปเดตฟีเจอร์เตรียมพร้อมลงสนามมาไม่น้อยแน่นอน

สุดท้ายแล้วถ้าจะให้ตอบว่าแพลตฟอร์มไหนเหมาะกับใคร หรือแพลตฟอร์มไหนดีที่สุด ก็คงไม่สามารถตอบได้อย่างแน่ชัด เพราะทุกแพลตฟอร์มล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ที่สำคัญคือต้องศึกษาธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มก่อน

จากนั้นจึงพิจารณาว่าเราสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์แนวไหนได้ และคอนเทนต์ประเภทนั้นเหมาะกับแพลตฟอร์มไหน รวมถึงดูกลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนเป็นหลัก เพราะการทำคอนเทนต์ที่ดีต้องทำให้ถูกที่ ถูกเวลา และต้องไม่ฝืนตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ผิดที่จะลองกระโดดเข้าไปเล่นทั้ง 3 แพลตฟอร์ม หรือจะเล่นแค่แพลตฟอร์มเดียวก็ได้ ถ้าหากสิ่งนั้นเหมาะกับเรา ขอแค่ให้เราสนุกกับการทำคอนเทนต์ แต่แอบกระซิบไว้ว่าศึกษาแพลตฟอร์มอื่น ๆ ไว้ดูเป็นตัวเลือก และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคตไว้ก็ดีค่ะ!

ที่มา: makeuseof

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save