Echo Chamber เสียงก้องแห่งโลกโซเชียล ที่มาจากความไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผู้เขียนเห็นอาจารย์ฟิสิกส์ท่านนึงโพสต์ลงใน Facebook ส่วนตัวของเขาว่า “พอได้เข้า YouTube ที่ไม่ใช่บัญชีตัวเอง เหมือนอยู่อีกโลก ได้เห็นอะไรก็ไม่รู้” เข้าใจได้ทันทีว่าอาจารย์ท่านนั้นคงได้เห็นกับ คลิปแปลก ๆ สิ่งที่อาจจะถูกมองว่าไร้สาระ และโคตรไม่คู่ควรกะการที่ตาเราจะต้องมองเห็นมัน

Social Media ที่เรากำลังเล่นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่โลกใบเดียวที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน Social Media ไม่ใช่สิ่งสะท้อนความเป็นจริงของโลก แต่มันคือสิ่งที่สะท้อนความต้องการของมนุษย์ต่างหาก

จากเว็บ 1.0 ที่เป็นการให้ข้อมูลเฉย ๆ มาเป็นเว็บ 2.0 ที่เราสามารถนำข้อมูลไปใส่ให้มันได้ แต่ว่าทุกคนเห็นเหมือนกันอย่างเท่าเทียม จนมาถึงยุคเว็บ 3.0 ที่ต่างคนต่างเห็นสิ่งที่เราต้องการเห็น แม้ว่า Social Media อาจจะเป็นเหมือนสิ่งที่บ่อนทำลายความสงบสุขของโลก แต่อย่าเพิ่งคิดแบบนั้น เพราะแท้จริงแล้ว เบื้องหลังของความวุ่นวายนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นมาก่อน แต่มันพัฒนามาพร้อมกับ Social Media

ที่มาของเสียงสะท้อน

ต้องย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มของ Social Media ก่อนว่าทำไม Social Media ถึงกลายเป็นเสียงสะท้อนที่ดีที่ดี ผู้เขียนขอเริ่มนับว่าโลกเข้าสู่ยุคของ Social Media หลังจากการมาของ Facebook ดังนั้นเริ่มต้นที่ Facebook ในปี 2004 ในตอนนั้นถ้าใครดูหนัง Social Media มาก็จะจำได้ว่า Mark Zuckerberg ไม่ได้อยากจะสร้างแนวคิดทางการเมืองหรืออะไรหรอก เขาเพียงแค่อยากจะทำอะไรก็ได้ให้คนกลับมาเล่น Facebook ไม่ใช่แค่สมัครไว้ แล้วไม่กลับมาอีก ในตอนนึงของหนัง Mark ได้พูดเอาไว้ว่า “คนกลับมาเช็ค Facebook บ่อย ๆ เพราะเขาได้สิ่งที่เขาอยากเห็น”

คำพูดนี้อาจจะเป็นแค่แนวคิดที่ทำให้ Facebook เริ่มมีผู้ใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่แท้จริงแล้วแนวคิดของ Mark ในตอนนั้นมันได้กลายเป็นนิยามของ Social Media ไปแล้ว ไอเดียง่าย ๆ ก็แค่ ในเมื่อเราอยากจะให้คนใช้งาน Platform ของเรา เราก็แค่นำสิ่งที่เขาอยากเห็นมาแสดงซ้ำ ๆ

ทุกวันนี้เราจึงอยู่ในยุคที่อัลกอริทึมพยายามจะนำสิ่งที่เราสนใจมาแสดง ไม่ใช่เพราะมันอยากให้เกิดแนวคิดทางการเมืองหรืออยากจะ Bias อะไรหรอก มันแค่อยากให้เรา “เข้า Facebook บ่อย ๆ” หรือ “เข้า YouTube บ่อย ๆ” เพื่อเพิ่มโอกาสที่เราจะเห็นโฆษณา แล้วสร้างรายได้ให้กับ Platform เหล่านั้น แค่นี้เอง

ดังนั้นอย่าเพิ่งไปมอง Mark Zuckerberg หรือ Jack Dosey ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือมีองค์กรลับอะไรอยากจะครองโลกหรอก เพียงแต่ว่าการตลาดของ Social Media มันทำให้เรานิสัยเสียกันไปเอง โดยที่โทษใครไม่ได้ กรณีนี้จะเหมือนกับวงไอดอลเปิด Cafe แต่คนกลับทิ้งน้ำเพราะอยากได้ที่รองแก้วมากกว่า อันนี้ก็ไม่สามารถไปต่อว่าใครได้เนื่องจากบางที การตลาดก็ทำให้มันเป็นเช่นนั้น

เราเลือกได้ เขาเลือกมาให้

หลังจากในปี 2004 โลกก็ได้เริ่มรู้จักกับ Social Network ขึ้นมาเรื่อย ๆ จากกลุ่มเล็ก ๆ ไปจนถึงในยุคที่ใคร ๆ ก็เล่น Facebook, Instagram หรือแม้กระทั่ง LINE การที่เรารู้สึกว่า “เราเลือกได้” และ “เขาเลือกมาให้” สร้าง Ecosystem ที่เราแทบจะไม่รู้ตัวเลยว่าเรากำลังอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนนี้

เราอยู่ใน Facebook ที่หน้า Feed เต็มไปด้วยเพจที่เราอยากจะเห็น ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวาก็ตาม ดังนั้นวิธีการทำยอด Engagement ของเว็บที่ออกตัวไปว่า Polarized ไปแล้วก็แค่ลงข่าวอะไรที่คนดูอยากเห็นเรื่อย ๆ สลับกับการแคปคอมเม้นของเว็บ Polarized ฝั่งตรงข้ามมาให้ Audience ได้ด่าเอาสะใจ

อันนี้เห็นได้ชัดเลยว่า Echo Chamber นั้นไม่ได้เกิดจากธรรมชาติของ Social Media เองอย่างเดียว แต่บางส่วนก็เกิดจาก Publisher ที่พยายามใช้วิธีการนี้ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มาจากการอยากสร้างแนวคิดทางการเมืองซะทีเดียว เพียงแต่ว่ายิ่งเอาสิ่งที่คนอยากได้มาให้คนอ่าน (ซึ่งมันก็คือหลักการทำคอนเทนต์อยู่แล้วว่า สร้างความคาดหวัง แล้วตอบสนองความคาดหวัง ให้คนมีความสุข พอคนมีความสุขก็ส่งต่อ แชร์ต่อ ติดตามเราต่อ)

หรืออย่างอีกกรณีนึงที่เห็นได้ชัดก็คือ เวลาที่มีทวีตหรือคอมเม้นคอมเม้นไหนที่มีคอมเม้นเยอะ ๆ กลายเป็นว่าคอมเม้นนั้นจะกลายเป็น Point หลักของประเด็นที่กำลังเถียงกันอยู่เลย หรือบางทีเราเห็นคอมเม้นไหนไลค์เยอะ ๆ เราก็จะไปกดคอมเม้นโดยที่ยังอ่านไม่จบด้วยซ้ำ ยิ่งเป็นการเพิ่ม Echo ไปอีก

เอาจริงแนวคิดเรื่อง Echo มันก็มาจากการที่ เราตะโกนอะไรออกไป เราจะได้ยินสิ่งนั้นกลับมา ยิ่งเราตะโกนดังแค่ไหนมากแค่ไหนเราก็จะยิ่งได้รับสิ่งนั้น เหมือนกับ Social Media ปัจจุบันที่เรายิ่งเล่นมัน ยิ่งเราใช้งานมัน อัลกอริทึมก็จะยิ่งเลือกเอาสิ่งที่เราต้องการกลับมาให้ สมัยก่อนทีวีอาจจะมี 2 ขั้วการเมือง หนังสืออาจจะมี 2 ขั้วการเมือง แต่ปัจจุบันทุกคนมีขั้วเป็นของตัวเองก็คือหน้า Feed

การควบคุมเสียงสะท้อน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Twitter ได้เขียน Blog Post หน้าหนึ่งชื่อว่า Measuring healthy conversation โดยคุณ Vijaya Gadde และ David Gasca ผู้บริหาร Twitter ที่ดูแลเรื่อง Safety และ Health ของบทสนทนาบน Twitter (แม้ผู้เขียนจะมองว่า Twitter เป็น Social Media ที่ Echo น้อยที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับอะไรอย่าง Facebook และ YouTube) แต่ช่วงหลัง Twitter ก็กำลังถูกมองว่าเปลี่ยนไปเยอะ ตอนนี้ Twitter กำลังจะทำงานร่วมกับ นักวิจัยที่มาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และเปิดรับ proposals ต่าง สุดท้าย Twitter ก็ได้ 2 ทีมวิจัยที่จะเข้ามามีบทบาท

งานแรกมีชื่อว่า Examining echo chambers and uncivil discourse นำโดยคุณ Rebekah Tromble จาก Leiden University โดยคุณ Tromble บอกว่า บริษัทต่าง ๆ นักวิจัยและสถาบันการศึกษา ต้องทำงานร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจบริบทของการเกิด polarization (โดยเฉพาะทางการเมือง) และการแพร่กระจายของข่าวปลอม โดยงานดังกล่าวจะเน้นการศึกษา การเกิดกลุ่ม community จากบทสนทนาด้านการเมืองบน Twitter และ พัฒนาการของกลุ่มนั้น โดยอาศัยหลักการ echo chambers นี่แหละ

อีกงานนึงก็คือ Bridging gaps between communities on Twitter ที่อันนี้จะศึกษาไปถึงว่า การ Educate ด้านการยอมรับความแตกต่าง และรับรู้ถึงที่มาของบุคคล จะสามารถลดแนวคิด Prejudge และ Discrimination ได้หรือเปล่า

ดังนั้นเห็นได้ชัดว่า Social Media ต่าง ๆ เอง ก็ไม่ได้รู้สึกว่าการที่ Platform สำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็นกลายมาเป็น Echo Chamber เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งปรากฏการณ์ Echo Chamber มันก็ถูกพัฒนามาพร้อมกับ Social Media ทีละน้อย ๆ จนสุดท้ายมันกลายมาเป็นต้นเหตุของปัญหาอะไรหลาย ๆ อย่าง และก็กลายมาเป็น demand ของ Fake News นี่แหละ

ช่วงหลัง เราจะเริ่มเห็น Social Media ต่าง ๆ พยายามปรับรูปแบบให้กลายเป็น Private Social Network มากขึ้น (ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะช่วยเรื่อง Echo Chamber ได้ไหม) เริ่มต้นมาจาก Instagram และ Snapchat เราจะเห็นว่า เด็กในยุค Post-Facebook หรือ Social Media Native (ผู้เขียนเคยเขียนไว้ใน Blog รู้จักกับยุค Post-Facebook เมื่อสถานะทางสังคมออนไลน์ได้มาแต่กำเนิด ) นั้นไม่ได้ตื่นเต้นกับการที่ความเห็นของเขาสามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบได้อีกต่อไป ทำให้หลายคนปฏิเสธการมีตัวตน spotlight ไปมีตัวตนเงียบ ๆ ของตัวเองใน Twitter Private หรือ Instagram Private

นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง approach ของ Trend Social Media ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ Facebook ที่กำลังจะปรับมาให้ความสำคัญกับคอมเมนต์และ action ของเพื่อนเราในโพสต์ต่าง ๆ มากขึ้น (ไม่โชว์ทุกคอมเมนต์), การให้ส่งต่อหาเพื่อนแทนการ Tag เพื่อน, หรือแม้กระทั่งการดันฟีเจอร์ Story แบบสุด ๆ

สรุป ทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ เราแค่หาทางแก้ไข

ไม่มีวิธีการสื่อสารแบบไหนในโลกที่ไม่มีช่องโหว่ แม้ว่าเรากำลังจะก้าวข้ามยุคของ Mass Media หรือการสื่อสารทีเดียวกับคนหมู่มาก ๆ มาในยุคปัจจุบัน (ควรจะเรียกว่าอะไรดี ?) ก็ไม่ใช่เพราะว่าเราอยากเห็นโลกแย่ลง แต่เราพัฒนาเพราะเราอยากเห็นโลกดีขึ้น

เราต่างเห็นความไม่เท่าเทียมในยุคที่รัฐบาลครองสื่อ, เราเห็นความเสียเปรียบในยุคที่คนที่จะครองสื่อได้คือคนมีเงิน ปัจจุบันเราด่าทอ Facebook, Twitter, YouTube ว่าเป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวปลอม แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่าให้ย้อนกลับไปในยุคที่เรามีทีวีแค่ 6 ช่อง ก็คงไม่มีใครเอาอยู่ดี ดังนั้นทางที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการ “เข้าใจธรรมชาติ” ของมัน และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

อ้างอิง

Social media is polarizing users faster than ever

MEASURING THE HEALTH OF OUR PUBLIC CONVERSATIONS

 

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save