Case StudyFacebookSocial

Avatar

doyoumind January 15, 2021

Facebook ลบปุ่ม Likes ออกจากเพจ กระทบใครบ้าง? เหล่าครีเอเตอร์ควรปรับตัวอย่างไร?

เป็นเรื่องฮือฮาสำหรับวงการครีเอเตอร์ นักการตลาด และแบรนด์ต่างๆ อยู่ไม่น้อย กับการประกาศเอาปุ่มไลก์ออกจากเพจเฟซบุ๊ก เหลือแต่ปุ่มติดตามแทน เนื่องจากทุกคนก็ชินกับการที่เฟซบุ๊กต้องมากับปุ่มไลก์ แล้วการที่ปุ่มไลก์หายไปจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง แล้วผู้ดูแลเพจต้องรับมือหรือปรับตัวอย่างไร วันนี้ RAiNMaker จะสรุปให้ทุกคนเองค่ะ

ต้องบอกก่อนว่าช่วงก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กได้เคยทำการทดสอบซ่อนยอด Like มาแล้ว เพียงแต่ทดสอบแค่กับบางเพจที่เป็นคนดัง หรือศิลปินเท่านั้น แต่คราวนี้เฟซบุ๊กได้ทำการเอาปุ่มไลก์เพจออกแบบจริงจัง โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา ให้เหลือเพียงแต่ปุ่มติดตามเท่านั้น

แต่เอาออกแล้วก็ต้องมีบางอย่างเพิ่มเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดเป็นปกติ เพราะครั้งนี้เฟซบุ๊กได้เพิ่มฟีดข่าว (News Feed) เฉพาะสำหรับเพจ ซึ่งหน้าฟีดจะแสดงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงโพสต์ต่างๆ เกี่ยวกับเฟซบุ๊กที่ทางเพจได้ไปกดติดตามไว้นั่นเอง รวมถึงเฟซบุ๊กยังมีการปรับในส่วนของผู้ดูแลเพจให้เข้าถึงผู้ติดตามได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มการจัดการเพจให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้เจ้าของเพจสามารถมีส่วนร่วมโต้ตอบกับผู้ติดตามได้ดีกว่าเดิม จากทั้งคอมเมนต์ในเพจที่จะแสดงอยู่ด้านบนสุดในส่วนของคอมเมนต์ หรือในส่วนที่เป็น Q&A เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามเพจมากขึ้น

ทีนี้ก็ชื้นใจในระดับนึงแล้วใช่มั้ยล่ะคะ ว่าถึงไม่มีปุ่มไลก์ก็ยังมีตัวช่วยอื่นๆ ในการให้เพจและผู้ติดตามมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่าข้อดีและข้อเสียของปุ่มไลก์มีอะไรบ้าง แล้วทำไมเฟซบุ๊กถึงเลือกที่จะเอาออกไปกันนะ

ข้อดี-ข้อเสียของปุ่มไลก์

  • เป็นตัวชี้วัดความนิยมแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คุณภาพ

อย่างที่บอกว่ายอดไลก์เปรียบเสมือนจุดเด่นของเฟซบุ๊ก ที่เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สามารถบอกได้ว่าคนสนใจเพจมากน้อยแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกันยอดไลก์จากบางส่วนก็ไม่สามารถวัดคุณภาพได้จริงเสมอไป เรียกง่ายๆ ว่าเมื่อจุดประสงค์คือการเพิ่มยอดไลก์ให้กับเพจ บางครั้งการได้มาซึ่งยอดไลก์เหล่านั้นอาจไม่มีคุณภาพ หรือไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่เพจต้องการอย่างแท้จริง เช่น การปั๊มไลก์ หรือการไปเกณฑ์คนจากหลากหลายที่มาไลก์นั่นเอง สุดท้ายแล้วจำนวนยอดไลก์เลยไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพของเพจขนาดนั้น

  • กดไลก์แต่ไม่กดติดตาม = ขาดการมีส่วนร่วมกับเพจ

อีกทั้งการกดไลก์อย่างเดียว แต่ไม่กดติดตามก็ทำให้พลาดข้อมูลข่าวสารหรือโพสต์ของเพจได้อย่างง่ายๆ และข้อนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพจ จนกลายเป็นแค่ไลก์เพจไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้มี Engage อะไรกับเพจเลย

  • ทำโฆษณา Page Like Ads เพื่อเพิ่มยอดไลก์ให้เพจ

ข้อดีของปุ่มไลก์อีกข้อคือการทำโฆษณา Like Ads เพื่อเพิ่มยอดไลก์ให้กับเพจได้ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญกว่าการกดไลก์ก็ต้องดูกันต่อไปอีกว่าเขาจะมีส่วนร่วมกับเพจมากน้อยแค่ไหน ถ้าไลก์ทิ้งไว้เฉยๆ ก็จะเป็นเหมือนที่กล่าวข้างต้นเลย อีกทั้งข้อนี้ก็นับเป็นข้อดีสำหรับเมื่อก่อน เพราะตอนนี้ไม่มีปุ่มไลก์แล้ว หากจะทำโฆษณาคงต้องไปเน้นเกี่ยวกับโพสต์แทน

  • เฟซบุ๊กบันทึกข้อมูลจากการกดไลก์เพจ

ด้วยระบบอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก เวลาที่เราไปไลก์เพจไหนก็จะมีการเก็บข้อมูลไว้ เพื่อจดจำข้อมูลในสิ่งที่เราสนใจ ซึ่งจุดนี้ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับหลายๆ คนเหมือนกัน เลยอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลให้หลายคนเลือกที่จะกดติดตามมากกว่ากดไลก์

สาเหตุที่เอาปุ่มไลก์ออก

จากข้อดีข้อเสียที่ได้วิเคราะห์ไปข้างต้น รวมถึงที่เฟซบุ๊กได้ให้เหตุผลในการยกเลิกการกดไลก์เพจไว้ว่า อยากให้ผู้ดูแลเพจโฟกัสกับผู้ติดตามที่เป็นฐานแฟนเพจที่ติดตามโพสต์จากเพจจริงๆ มากกว่า รวมถึงการมีทั้งปุ่มไลก์และปุ่มติดตามอาจทำให้บางคนเกิดการสับสนอีกด้วย เพราะเดิมทีการกดติดตามเพจแต่ไม่กดไลก์ก็สามารถมองเห็นโพสต์และมีส่วนร่วมกับเพจได้ปกติอยู่แล้ว คนส่วนมากที่สนใจในเพจนั้นๆ จริงๆ จึงมักเลือกกดติดตามเพจ แม้จะไม่ได้กดไลก์ก็ตาม

ผลกระทบจากการเอาปุ่มไลก์ออก

ถ้าลองวิเคราะห์ดูหลายคนอาจคิดว่าจริงๆ แล้วปุ่มไลก์ก็ไม่ได้มีผลกระทบมากขนาดนั้น เมื่อเทียบกับการที่ยังมีปุ่มกดติดตามอยู่ แต่จริงๆ แล้วอาจมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการนำปุ่มไลก์ออก เช่น เหล่า Creator และ Influencer ที่ต้องคำนวณค่าเผยแพร่งานโดยใช้ยอดไลก์เพจมาคิดด้วยนั่นเอง แล้วทีนี้ทางแก้คืออะไรล่ะ?

สิ่งที่ต้องปรับตัวเมื่อไม่มีปุ่มไลก์

  • เน้นการผลิตและพัฒนาคอนเทนต์มากขึ้น

แน่นอนว่าการจะเพิ่มผู้ติดตามที่จะเป็นฐานผู้ติดตามหลักของเราอย่างแท้จริง เพจต้องทำให้เห็นว่าคอนเทนต์หรือข้อมูลข่าวสารของตนน่าติดตาม และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด การวางกลยุทธ์ มุ่งสร้าง Engagement เพื่อให้ผู้ติดตามมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งที่เพจต้องคำนึงมากขึ้น เรียกได้ว่าฐานผู้ติดตามจะมากหรือน้อยก็วัดกันที่คอนเทนต์จากที่เมื่อก่อนอาจจะใส่ใจในตัวเลขของยอดไลก์กันมากกว่า

  • ใช้ตัวชี้วัดอื่นมาช่วยวิเคราะห์คุณภาพเพจ

นอกจากยอดไลก์แล้ว เฟซบุ๊กเพจยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ อีกมากมายให้ใช้วิเคราะห์และวัดคุณภาพของเพจได้ ไม่ว่าจะเป็น ยอดผู้ติดตาม ยอด Engagment ต่อโพสต์ ที่รวมทั้งยอดไลก์ ยอดคอมเมนต์ และยอดแชร์  รวมไปถึงการให้คะแนนดาวและการเขียนรีวิว  และในส่วนของการตอบกลับแชท (Respond Rate) ของเพจก็วัดได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นแค่ยอดไลก์หายไป จึงไม่เป็นผลกระทบมากมายขนาดนั้น เพียงแต่ทำยอดตัวชี้วัดด้านอื่นๆ ให้ออกมาดีก็จะทำให้สามารถวัดคุณภาพเพจได้ เช่นเดียวกันกับส่วนของ Agency หรือแบรนด์ที่ต้องการหาครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ จากเดิมที่ดูยอดไลก์ ก็ต้องหาตัวชี้วัดอื่นๆ มาร่วมในการพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ

สรุปสั้นๆ คือ ปุ่มไลก์อาจมีผลกระทบในบางส่วน แต่หลักๆ แล้วเฟซบุ๊กยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ ที่สามารถใช้วัดคุณภาพของเพจได้จริง และสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกหลังจากที่ไม่มีปุ่มไลก์ และเป็นสิ่งที่เป็นหัวใจของเหล่าครีเอเตอร์อยู่แล้ว นั่นก็คือ การทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ และตอบโจทย์กลุ่มเป้่าหมายที่แท้จริงที่เป็นผู้ติดตามของเพจนั่นเอง

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save