ณ ตอนนี้กระแสหนึ่งที่มาแรงอย่างฉุดไม่อยู่เลยก็คือ #10YearsChallenge ซึ่งเป็นการท้ากันให้โพสต์รูปของตัวเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วเพื่อเทียบกับตอนนี้ให้เพื่อน ๆ ได้เห็นถึงพัฒนาการว่าแต่ละคนมาไกลแค่ไหน ซึ่งคนดังหลายคนก็ร่วมเล่นไปกับเขาด้วย รวมถึงมีกระแสอื่น ๆ ทั้งจากแบรนด์และจากเพจต่าง ๆ ที่ก็เกาะติดกระแสนี้กันอย่างไม่ปล่อย จริง ๆ แล้วดูเหมือนกับว่ามันก็ไม่น่าจะมีอะไร เป็นแค่ Challenge ที่สร้างขึ้นมาสนุก ๆ เหมือนกหลาย ๆ กระแสก่อนหน้านี้
แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า คุณ Kate O’Neill นักเขียนและนักเทคโนโลยี ได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์ Wired บอกว่า จริง ๆ แล้ว คนที่อยู่เบื้องหลังกระแสของ #10YearsChallenge อาจจะเป็นตัว Facebook เอง โดยหวังประโยชน์จากรูปภาพของผู้ใช้งาน เพื่อเอามาใช้เทรน Machine Learning หรือ AI ของ Facebook ในการวิเคราะห์ใบหน้า
บทความดังกล่าวมีชื่อว่า FACEBOOK’S ’10 YEAR CHALLENGE’ IS JUST A HARMLESS MEME—RIGHT? โดยเธอได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าหลายคนอาจจะเล่น Facebook มานาน และมีโอกาสที่ Facebook จะใช้รูปเดิม ๆ ที่เคย upload มาในการเทรน Machine Learning ที่ใช้ในการวิเคราะห์ใบหน้าแล้ว แต่ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มีประโยชน์เท่าที่ควร เพราะบางคนก็ใช้รูปโปรไฟล์ที่เป็นรูปเก่า หรือคนจำนวนมากก็เพิ่งมาเล่น Facebook ในช่วง 2-3 ปีหลัง ซึ่งใบหน้าก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก
อันที่จริงคุณ Kate เธอก็ไม่ได้ถึงขั้นกับฟันไปเลยว่า 10 Years Challenge เป็นแผนของ Facebook แต่เธอก็บอกว่าเป็นไปได้สูง เพราะนอกจากแค่รูปภาพแล้ว เวลาที่เราเล่นเราก็จะยังพูดถึงข้อมูลต่าง ๆ ในภาพเช่น เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราทำงานที่ไหน เรียนที่ไหน หรือเป็นยังไงผ่านทาง Caption ที่มาพร้อมกับภาพ ซึ่งเธอบอกว่ามีประโยชน์มากกว่า EXIF metadata ของรูปเสียอีก
แต่ยังไงก็ตาม Facebook ก็ได้ออกมาปฏิเสธแล้วก็บอกว่า 10 Years Challenge เป็นเทรนที่เกิดขึ้นจากตัว user เอง Facebook ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพยายามให้เกิด (แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ Facebook จะไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีแต่ก็ได้ประโยชน์เต็ม ๆ)
คำถามต่อไปก็คือ แล้วเราจะต้องเดือดร้อนอะไรกับการที่ Facebook สามารถวิเคราะห์ภาพถ่ายและอัลกอริทึมการเดาอายุของ Facebook เก่งมากขึ้น คำตอบส่วนตัวของผู้เขียนก็คือก็แล้วแต่จะคิด เพราะเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีนี้อาจจะถูกนำมาใช้กับการทำ Targeting โฆษณาในรูปแบบที่เป็น Biological Footprint จากเดิมแค่เก็บ Digital footprint เช่นหมายเลข IP, Cookie, Session หรือ Token
แต่ถ้าไม่มองให้ Dystopia เกินไป คุณ Kate ก็ได้เขียนในบทความของเธอบอกว่า จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีในการเดาอายุจากใบหน้ามีประโยชน์อย่างมากเมื่อต้องนำมาใช้กับการตามหาคนหาย เช่น ถ้าเด็กหายไปตอนอายุ 10 ปี ณ ตอนนี้อาจจะอายุ 15 หรือ 20 ปี จะมีใบหน้าเป็นอย่างไร มีโอกาสไหมที่เราจะใช้เทคโนโลยีนี้ในการตามหาคน
สำหรับประเด็นนี้ เราก็ไม่อาจจะบอกได้ว่าสรุปแล้วมันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แล้วเราก็ไม่ได้อยากจะฟันเหมือนคุณ Kate เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มันอาจจะมีเหตุและที่มาของมัน บางอย่างอาจจะดูเหมือนแค่ Trend ที่เล่นกันสนุก ๆ แต่มันอาจจะมีเบื้องหลัง และประโยชน์ของมันให้กับคนบางกลุ่มอย่างที่เราคิดไม่ถึงก็ได้ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ก็คือก่อนที่จะทำอะไรหรือจะสร้างข้อมูลอะไรขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต อาจจะต้องลองคิดดูว่าเสี่ยงหรือไม่ ไม่เช่นนั้น ก็คงจะไม่เกิดกรณีเช่น Cambridge Analytica ที่แค่เกมสนุก ๆ กลับกลายเป็นทำให้การเมืองระดับโลกเกิดความวุ่นวายได้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER