ปี 2023 นับเป็นปีที่ Facebook ต้องพิสูจน์ตัวเองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้าน Metaverse โลกเสมือน หรือการที่ Facebook ควบรวมกับ Instagram เพื่อพัฒนา Reels ก็ตาม ทางด้านผู้ใช้ก็ต้องเตรียมรับมือกับนโยบายใหม่อย่าง “ข้อกำหนดการโฆษณาแบบบริการตนเอง” เวอร์ชันใหม่ของ Facebook เช่นกัน
ในข้อกำหนดการโฆษณาแบบบริการตนเองเรียกได้ว่าจะแบ่งการใช้จ่ายค่าโฆษณาบน Facebook เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ นั่นก็คือ
- ลูกค้าที่ได้รับใบเรียกเก็บเงิน (Invoiced): จ่ายโฆษณาผ่านบัตรเครดิตที่ผูกไว้
- ลูกค้าที่ไม่ได้รับใบเรียกเก็บเงิน (non-invoiced): จ่ายค่าโฆษณาผ่านวงเงินที่เติม โดยต้องเติมก่อนทำการยิงโฆษณาเท่านั้น และไม่มีการ Refund คืน แม้ว่าเงินจะค้างอยู่ในบัญชีก็ตาม
จาก 2 ประเภทหลัก ๆ แสดงให้เห็นว่า Facebook กำลังจำกัดขอบเขตการยิงโฆษณาให้ยากมากขึ้นไปอีก แม้ในทางที่ดีจะสามารถป้องกันบัญชีที่สร้างมาเพื่อยิงโฆษณาที่ใช้แต่เงิน และเน้นการมองเห็นโดยไม่สนเรื่องคุณภาพ หรือโฆษณาโลกสีเทาอย่าง การพนัน หรือบอตโฆษณา
แต่วิธีที่รัดกุมมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้บริโภค ครีเอเตอร์ แบรนด์ หรือเอเจนซี ต้องปรับตัว เพื่อวางแผนการยิงโฆษณาให้รอบคอบมากขึ้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญ และน่าจับตามองบ้าง ตามมาเช็กกันเลย!
สิทธิของ Facebook กับบัญชีโฆษณา
- อนุญาตให้รับข้อมูลส่วนตัวหลังซื้อโฆษณา
- สามารถตรวจเครดิตบูโรของบัญชีนั้น ๆ ได้
- เข้าถึงรายงานเครดิตธุรกิจตอนทำ และหลังทำคำสั่งซื้อโฆษณา
เห็นได้ชัดว่า Facebook มีสิทธิ์ในการเข้าถึงบัญชีที่ซื้อโฆษณามากขึ้น ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และรายงานเครดิตธุรกิจทุกคำสั่งซื้อ
และหากบัญชีไหนทำผิดนโยบายการโฆษณาของ Facebook ก็มีสิทธิ์ถูกปฏิเสธในการซื้อ หรือโดนลบโฆษณาไม่ว่าเหตุผลใด ๆ ก็ตามด้วย
รักษาความปลอดภัยบัญชีโฆษณาด้วยตัวเอง
- แพลตฟอร์มไม่รับผิดชอบเมื่อโดนแฮก
- รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริงด้วยตัวเอง
แม้การโดนแฮกจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทั้งฝั่งผู้บริโภค และแพลตฟอร์มในการจัดการ แต่ครั้งนี้มันจะไม่เป็นเช่นนั้น
หากบัญชีโฆษณาโดนแฮก ทางแพลตฟอร์มจะไม่รับผิดชอบใด ๆ และไม่มีการ Refund เหมือนเดิมแล้ว เพราะ Facebook ออกนโยบายให้เราต้องดูแลความปลอดภัยของบัญชีโฆษณาด้วยตัวเอง พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริงด้วยตัวเอง
การเติมเงินเพื่อยิงแอด
- บางบัญชีโฆษณาต้องเติมเงิน เพราะตัดบัตรไม่ได้
- เงินที่เติม หรือมีค้างไว้ในบัญชีไม่สามารถ Refund คืนได้
นอกจากการซื้อโฆษณาด้วยการตัดบัตรแล้ว ทาง Facebook ยังเพิ่มช่องทางใหม่ ให้ซื้อโฆษณาด้วย “ยอดเงินผู้ลงโฆษณา” หรือเป็นการเติมเงินลไว้ล่วงหน้า ก่อนยิงโฆษณาในบัญชี เพื่อให้ซื้อโฆษณาได้แค่บน Meta เท่านั้น
แต่ยอดเงินผู้ลงโฆษณาที่เติมไป หรือมีค้างไว้ในบัญชี จะไม่สามารถ Refund คืนได้ ยกเว้นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
เพราะเหตุนี้ ยอดเงินผู้ลงโฆษณาจึงไม่มีดอกเบี้ย และไม่มีข้อผูกมัดในการฝาก รวมทั้งไม่ได้รับการรับประกันโดยองค์กรการประกันเงินฝากรัฐบาลกลาง หรือหน่วยงานแผนประกันทั้งรัฐ หรือเอกชน
การยกเลิกซื้อโฆษณาได้
- หลังแจ้งกับ Facebook จะเผยแพร่ต่อ 24 ชั่วโมง
- โฆษณาที่แสดงอยู่ขณะยกเลิกต้องชำระส่วนเกินเอง
คำสั่งซื้อโฆษณาสามารถยกเลิกได้ทุกเมื่อ แต่โฆษณาจะเผยแพร่ต่อเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังบัญชีนั้นทำการแจ้งยกเลิกกับ Facebook
ส่วนโฆษณาทั้งหมดที่ยังแสดงอยู่ ทางเจ้าของบัญชีโฆษณา ต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายโฆษณาส่วนเกินนี้เอง
ชำระค่าโฆษณาตัดผ่านบัตรได้
- เกินกำหนดชำระมีดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน
หากมีการชำระค่าโฆษณาช้า หรือเกินกำหนด Facebook จะใช้มาตรการเรียกเก็บจำนวนเงินที่เกินเวลาชำระ รวมทั้งค่าทนายความตามสมควร ยอดที่เกินกำหนดชำระจะคิดเป็นดอกเบี้ยค้าง 1% ต่อเดือน หรือสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
โดยรวมแล้ว ข้อกำหนดใหม่ของ Facebook เกี่ยวกับโฆษณานี้ แสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์มกำลังจะผลักความรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งข้อดีอาจจะทำให้เพจที่ยิงโฆษณาเพื่อขายหน้าไทม์ไลน์เป็นว่าเล่นนั้นเริ่มลดลง และผู้บริโภคได้หน้าฟีดที่มีแต่โฆษณาคุณภาพกลับมาก็ตาม คงต้องดูกันต่อไปว่าวงการครีเอเตอร์ หรือแบรนด์จะได้รับผลประโยชน์ หรือผลกระทบมากกว่ากันในอนาคต
เพราะสิ่งเดียวในฐานะผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม Facebook จะสามารถทำได้ คือการรักษาความปลอดภัยบัญชีที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ หรือเสี่ยงเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
อ้างอิง: Facebook