Facebook ทำให้เกิดการชุมนุม “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศสได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้เราเพิ่งจะพูดกันถึงเรื่อง ทำไมโซเชียลมีเดียถึงเผยด้านลบของเราได้ง่ายกว่าด้านดี ซึ่งตัวอย่างที่ยกออกมาพูดถึงกันก็คือจาก TED และหนังสือของ Wael Ghonim ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประท้วงที่อียิปที่ลุกลามมาให้เกิดเหตุการณ์ Arab Spring ด้วยแนวคิด Revolution 2.0 การปฏิวัติแบบที่ไม่มีศูนย์กลาง แต่เกิดจากพลังที่มองไม่เห็น ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะ Social Media

เราจะเห็นว่าโมเดลแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การประท้วงในเมียนมาร์, ฮ่องกง หรือแม้กระทั่งบางส่วนในไทยเองก็ตาม เรากำลังอยู่ในยุคที่ Social Media ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการเรียกร้องและประท้วง และก็รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดอย่าง “Gilets Jaunes” หรือ Yellow Vest Movement ที่ต่อต้านการขึ้นภาษีน้ำมันของฝรั่งเศสด้วย

เมื่อมองเบื้องหน้าแล้ว การชุมนุมรอบนี้นับว่ามีความรุนแรงมากเลยทีเดียว มีผู้ได้รับบาดเจ็บ มีการยกระดับความรุนแรงไปจนถึงขั้นต้องมีการสลายการชุมนุม และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายต่อหลายครั้ง ยังไม่รวมการเปลี่ยนปารีส มหานครแห่งความหรูหราให้กลายเป็นเมืองที่ถูกทำลายราวกับมีสงครามกลางเมือง  แต่เบื้องหลังแล้ว ความน่าสนใจของการชุมนุมครั้งนี้ หลายนักเขียนเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากการปรับอัลกอริทึมของ Facebook และอิทธิพลของ Facebook Group

ถ้ารัฐบาลไม่ให้เชื่อโซเชียลมีเดีย แปลว่าโซเชียมีเดียถูก

แนวคิดที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กันทั่วโลก เว็บไซต์ The Verge ได้รวบรวมแหล่งข่าวที่ออกมาวิเคราะห์เหตุการณ์ เราจะจับทางได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคล้าย ๆ กับทุกเหตุการณ์ในอดีต คือรัฐบาลออกมาพูดอะไรบางอย่างผ่านสื่อ ผู้คนรู้สึกไม่พึงพอใจ ผู้คนระบายลงใน Social Media และเกิดปรากฏการณ์ Echo Chamber หรือเสียงก้องแห่งโลกโซเชียล ประกอบสร้างความจริงที่พวกเขาคิดว่ามันคือความจริงทั้งหมด

Frederic Filloux นักวิชาการสื่อ ได้ออกมาวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ใน บล็อกส่วนตัว Filloux บอกว่า การชุมนุมเริ่มต้นจากทั้งแบบ Local และ Decentralized (การชุมนุมที่ไม่มีศูนย์กลางแบบที่ Ghonim บอก) หลังจากที่ดราม่าเรื่องการขึ้นภาษีน้ำมันเริ่มคุกรุ่นขึ้นในโลกโซเชียล ก็ได้เกิด Fake News และการปั่นกระแสต่าง ๆ มากมาย และเกิดเป็นการตั้ง Facebook Event ขึ้นกว่า 1,500 Event เมื่อเกิดการชุมนุมพวกเขาก็ได้ใช้ Facebook Live ถ่ายทอดสดการชุมนุม (ซึ่งตอน Arab Spring และการชุมนุมที่ฮ่องกงยังไม่มี) ช่วยให้มีผู้เห็นดีเห็นงามด้วยมาเข้าร่วม

ผู้เล่นสำคัญรายหนึ่งก็คือ Facebook ของ Maxime Nicolle (คนกลางในรูปล่าง ซึ่งแคปมาจาก Facebook Live) ที่มีผู้ติดตามมากถึง 107,000 คน มีการใช้ภาพกิโยติน เครื่องมือที่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ใช้ตัดหัวบรรดาขุนนางเป็นภาพที่ปลุกระดม

แนวคิดที่สำคัญก็อย่างที่บอก ในเมื่อรัฐบาลไม่ยอมพูดความจริง ดังนั้น Facebook คือความจริงของพวกเขา แนวคิดนี้ทำให้คนเริ่มไม่ยอมเสพข่าวผ่านทาง Traditional Media อย่าง TV หรือหนังสือพิมพ์ แต่เลือกที่จะอ่าน Feed บน Facebook แทน Filloux บอกว่ามีแม้กระทั่งการนำภาพของการทำร้ายผู้ชุมนุมในสเปนเมื่อ 2 ปีก่อนมาแล้วบอกว่าเป็นภาพตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นข่าวลวงแบบ False Context (อ่านรูปแบบของ Fake News ได้ที่ รู้จักกับ Fake News ทั้ง 7 รูปแบบ )

Facebook Group ตัวจุดชนวน

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า Facebook พยายามลดการแสดงเนื้อหาประเภทข่าวลงและเน้นแสดงเนื้อหาของเพื่อนมากขึ้น มีการสนับสนุนการใช้ Group และ Event โดยหวังลดสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดข่าวปลอม แต่ในรอบนี้ความซวยของ Facebook ก็คือ Group และ Event นี่แหละที่ทำให้เกิดการชุมนุมครั้งนี้ขึ้นมา ทีนี้ไม่ได้มาในรูปแบบของข่าวหรืออะไร แต่มาในรูปแบบของการใช้อารมณ์ที่มาจากตัวบุคคลล้วน ๆ

Vincent Glad นักหนังสือพิมพ์ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์ Liberation ว่า Group Content คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนได้เห็นสิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็นมากกว่าอัลกอริทึม Feed ข่าวเสียอีก คนเลิกอ่านข่าวจาก Publisher และหันมาพูดคุยกันในกลุ่มเอง

ดังนั้นเหตุการณ์นี้ก็ได้เป็นบทพิสูจน์ว่า ไม่ว่า Facebook จะพยายามปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมเป็นแบบใด คนก็ยังคงเป็นคน และก็ยังคงใช้มันเพื่อแสดงความรู้สึกของตัวเอง มากกว่าการพูดคุยเพื่อหาทางออก เราแค่ต้องการให้มีคนเห็นด้วยกับเรา เรายินดีที่มีคนมากดไลค์ คอมเม้น และแชร์ความคิดของเรา และเรากลับเมินเฉยต่อทุก ๆ คอมเม้นที่เห็นไม่ตรงกับเรา หรือแย่ไปกว่านั้นเราสามารถด่าหรือใช้ถ้อยคำที่รุนแรง และแบ่งพวก (Polarization) ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราคือเขาเข้าข้างศัตรูของเรา

สุดท้ายก็จะย้อนกลับไปที่ข้อคิดที่เราเคยเขียนไว้ในบทความที่เล่าเรื่อง Arab Spring ว่า วิธีทำคอนเทนต์ให้ดังก็แค่ พูดสิ่งที่คนอยากฟัง แต่วิธีการทำคอนเทนต์ที่ดี คือเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้แก่คน และทำให้เขาอยากจะเข้ามาฟัง จะเห็นว่าการทำคอนเทนต์ด้วยการพูดสิ่งที่คนอยากฟัง มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย แม้จะเกิดเป็นการประท้วง การเรียกร้องขึ้น ก็ไม่ได้นำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหา

สุดท้ายแล้ว ก็เหมือนสงครามที่ตอนแรกเรารู้รบกันด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง เช่น แย่งยิงดินแดน, แย่งชิงทรัพยากร แต่สงครามก็ไม่เคยตอบโจทย์นั้น เพราะเมื่อเราเกิดการแบ่งพวกแล้วสิ่งที่เราหวังมีแค่อยู่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save