NewsRAiNMaker TipsTips

Avatar

Supakorn Pongsathit January 26, 2023

รวมแหล่งเพลงฟรี! เพื่อครีเอเตอร์​ คุณภาพแน่น ถูกลิขสิทธิ์

ครีเอเตอร์สายวิดีโอหลายคนมักจะเสียเวลาหลายชั่วโมงกับการหาเพลงที่ใช่ ทั้งนำมาใช้ประกอบเป็นเพลงพื้นหลัง เพลงอินโทร เพลงบิ้วอารมณ์ เพื่อให้วิดีโอออกมาน่ารับชมมากขึ้น และคงจะดีขึ้นไปอีก หากเป็นเพลงที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่เพลงแบบไหนกันแน่ที่มั่นใจว่าปลอดภัยเรื่องลิขสิทธิ์? และแหล่งดาวน์โหลดเพลงฟรีดี ๆ มีที่ไหนบ้าง? วันนี้ทีม RAiNMaker มาแจกแหล่งขุมทรัพย์ การันตีว่าฟรีและดีมีอยู่จริง ๆ

  I Royalty-Free / Copyright Free / Creative Commons ต่างกันอย่างไร? 

การหาเพลงที่ใช่อาจจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนกดดาวน์โหลดมาใช้งานจริง ๆ นั่นก็คือ เรื่องของลิขสิทธิ์ แน่นอนว่าเพลงทุกเพลงที่ถูกผลิตขึ้นและเปิดให้ฟังฟรี ๆ บน YouTube หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั่วไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีลิขสิทธิ์ หรือบางเพลงที่ขึ้นโชว์ว่า ‘Free’ ก็อาจไม่ได้ฟรีอย่างที่เข้าใจ และอาจโดนใบเรียกเก็บเงินตามมาภายหลังได้

ซึ่งสำหรับครีเอเตอร์สายวิดีโอที่เคยหาเพลงต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ย่อมต้องเคยเจอกับทั้งสามคำนี้ ได้แก่ Royalty-Free, Copyright Free และ Creative Commons ซึ่งแต่ละแบบจะมีหลักการนำไปใช้ต่างกัน ดังนั้น เพื่อป้องการความสับสนและมั่นใจว่าเราจะไม่ไปเผลอขโมยเพลงคนอื่นมาใช้ เรามาเริ่มต้นที่การความเข้าใจในกฎกติกาส่วนนี้กัน!  

Royalty- Free 

แม้จะมีคำว่าฟรี แต่ไม่ได้ฟรีตามชื่อ เพราะ Royalty-Free คือ การอนุญาตให้เราสามารถนำเพลงที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้งานซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเติม หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ เมื่อเราซื้อเพลงนั้นมาไว้ในครอบครองแล้ว เราจะสามารถนำไปใช้งานต่อได้แบบไม่จำกัด และนำไปใช้ตอนไหนเวลาไหนก็ได้  อาทิ เราสามารถนำเพลง Royalty-Free ที่ซื้อมา เพื่อใช้ประกอบคลิปวิดีโอใน YouTube จำนวนกี่คลิปก็ได้ หรือจะใช้ยาวนานกี่ปีก็ได้ตามสะดวก  

ซึ่งถึงแม้บนโลกใบนี้จะมีเพลงฟรีให้เลือกใช้จำนวนมาก แต่หลาย ๆ คนก็ยินดีจ่ายเงินให้กับเพลง Royalty-Free ด้วยข้อดีหลาย ๆ อย่าง อาทิ 

  • เพลงที่จ่ายเงินซื้อจะไม่จำเป็นต้องระบุแหล่งที่มาให้กับศิลปินเจ้าของเพลง 
  • มีเพลงคุณภาพให้เลือกมากกว่า 
  • ผู้ซื้อจะได้มีสิทธิ์ในการดัดแปลงเพลงเหล่านั้น 
  • ช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อย่างกรณีที่ศิลปินปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องลิขสิทธิ์ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตนำเพลงไปใช้ต่อเหล่านี้ จะแตกต่างกันไปตามที่ศิลปินกำหนดไว้ ฉะนั้น ก่อนจะกดสั่งซื้อ ครีเอเตอร์ก็ควรจะอ่านเงื่อนไขของใบอนุญาตให้ละเอียดเสียก่อน 

Copyright Free

หากพูดอย่างถูกต้อง ทุกบทเพลงที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาบนโลกล้วนมี ‘ลิขสิทธิ์’ ทั้งหมด แต่คำว่า Copyright Free หรือ ปลอดลิขสิทธิ์ ก็ถูกนำมาใช้กันบ่อย ๆ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ แต่ในความจริงแล้วบทเพลงที่จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ มีชื่อเรียกอย่างถูกหลักการว่า “Public domain music” (เพลงสมบัติสาธารณะ) ซึ่งเป็นเพลงที่ไม่ถูกคุ้มครองด้วยลิขสิทธิ์ ทำให้ทุกคนสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้แบบฟรี ๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงิน และไม่ต้องขออนุญาตศิลปิน รวมถึงทุกคนยังมีสิทธิ์ในการเผยแพร่ หารายได้ ดัดแปลง หรือจัดแสดงเพลงเหล่านี้ในที่สาธารณะได้ 

Creative Commons 

เป็นเพลง Royalty-Free แบบใช้งานฟรี โดยความพิเศษของ Creative Commons นั่นคือทุกคนสามารถใช้ได้ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าของเพลง แต่ทั้งนี้ ครีเอเตอร์ที่จะนำไปเพลงไปใช้ จำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขบางอย่างที่ศิลปินกำหนดไว้ อาทิ คนที่นำเพลงไปใช้ต่อในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องใส่แหล่งที่มาของศิลปินไว้ด้วยทุกครั้ง โดยเงื่อนไขเหล่านี้จะมีความต่างกันขึ้นอยู่กับศิลปินกำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งหมด 6 รูปแบบ ดังนี้ 

  • Attribution (CC BY) คือ สามารถนำเพลงไปใช้ต่อเพื่อการค้า ดัดแปลง หรือเผยแพร่ได้ แต่ต้องระบุแหล่งที่มา
  • Attribution-ShareAlike (CC BY-SA) คือ สามารถนำเพลงไปใช้ต่อเพื่อการค้า เผยแพร่ได้ แต่หากมีการดัดแปลงเพลงเพื่อเผยแพร่ต่อ ก็ต้องระบุแหล่งที่มาและใช้สัญญาอนุญาตเงื่อนไขเดียวกันกับต้นฉบับ
  • Attribution-NoDerivs (CC BY-ND) คือ สามารถนำเพลงไปใช้ต่อเพื่อการค้า เผยแพร่ได้ โดยระบุแหล่งที่มาและห้ามดัดแปลงงานต้นฉบับ 
  • Attribution-NonCommercial (CC BY-NC) คือ สามารถเผยแพร่เพลง หรือดัดแปลงได้ โดยต้องระบุแหล่งที่มาและห้ามใช้เพื่อการค้า 
  • Attribution-NonCommercial-ShareAlike (CC BY-NC-SA) คือ สามารถเผยแพร่เพลง หรือดัดแปลงได้ โดยต้องระบุแหล่งที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องใช้สัญญาอนุญาตเงื่อนไขเดียวกันกับต้นฉบับ
  • Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) คือ สามารถเผยแพร่เพลง โดยระบุแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลง และห้ามใช้เพื่อการค้า 

  I รวมขุมทรัพย์เพลงฟรี 

สำหรับบทความนี้ เราได้รวบรวมเว็บไซต์คุณภาพที่ให้บริการเพลงแบบ Creative Commons และ Public domain ให้ทุกคนสามารถได้เลือกใช้เพื่อสร้างสรรค์งานวิดีโอหลากหลายแบบ ตั้งแต่เพลง และดนตรี รวมกว่า 100K รายการ ไปดูกันเลย! 

SoundCloud

หาก YouTube คือเว็บไซต์รวมวิดีโอ สำหรับ SoundCloud ก็คือเว็บไซต์รวบรวมเสียงเพลง และดนตรีจำนวนมาก นักดนตรีและดีเจจากทั่วโลกได้นำผลงานของตนเองมาอัปโหลดให้คนได้รับฟังกันบน SoundCloud รวมไปถึงเพลงดี ๆ สำหรับนักทำคอนเทนต์ 

โดยเราสามารถค้นหาเพลงที่ต้องการได้ผ่านการใช้ช่องค้นหาและกรอกข้อความ เช่น creative commons หรือ copyright free และลุยหาเพลงที่เราชื่นชอบได้ตามอัลบั้ม หรือเพลย์ลิสมากมาย นอกจากนี้ ระบบของ SoundCloud ซึ่งออกแบบมาเป็นสังคมออนไลน์ จะมีการปรากฎของยอดไลก์ ยอดคอมเมนต์ของแต่ละเพลง ซึ่งช่วยให้ทราบว่าบทเพลงไหนที่คนสนใจและชื่นชอบได้ แต่ก็มีข้อควรระวังว่าบางเพลงบน SoundCloud ก็มีค่าใช้จ่าย! ฉะนั้น ให้อ่านรายละเอียดก่อนจะดาวน์โหลดไปใช้ค่ะ

Free Music Archive หรือ FMA

เว็บไซต์คลังเพลงมากกว่า 150K เพลง โดยเพลงส่วนใหญ่บนเว็บไซต์จะมีสัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons ซึ่งรวบรวมเพลงหลากหลายแนว โดยเราสามารถค้นหาเพลงที่ต้องการได้จากรายการ Discover ด้านบน และเลือกเพลงที่ถูกจัดหมวดหมู่ไว้ตาม ประเภท ความนิยม ศิลปิน 

จากนั้นให้กดเลือกเพลงที่ต้องการเพื่อเข้าไปรับฟัง โดยในแต่ละเพลงจะมีเครื่องหมายระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็น Creative Commons รูปแบบไหน เราก็สามารถกดดาวน์โหลดมาใช้ได้ทันที 

Audionautix

เว็บไซต์นี้เหมาะมาก ๆ สำหรับคนที่กำลังมองหาเพลงพื้นหลังประกอบคลิป ด้วยบทเพลงหลากหลายแนวที่ถูกจัดแบ่งประเภทไว้อย่างชัดเจนในหน้าแรก ตั้งแต่เพลงฟังสบาย ๆ ฮึกเหิม อลังการ ตลก เศร้า ก็สามารถคลิกเลือกและกด ‘Find Music’ เพื่อค้นหาเพลงที่ต้องการได้เลย ซึ่งเราสามารถกดทดลองฟังก่อน หรือจะดาวน์โหลดไฟล์ .mp3 มาไว้ในเครื่องเลยก็ได้ 

โดยเว็บไซต์นี้ก่อตั้งขึ้นจากฝีมือนักแต่งเพลง ชื่อ Jason Shaw และบทเพลงทั้งหมดใช้สัญญาอนุญาต Creative Commons ทำให้เราสามารถนำเพลงไปใช้ในผลงานของเราได้อย่างสบายใจแน่นอน 

dig ccMixter

พบกับเพลงหลายพันรายการ ซึ่งจัดแบ่งมาแล้วว่าเหมาะกับการใช้ประกอบภาพยนตร์, เกม หรือใช้เพื่อการค้า โดยเราสามารถกดเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์และเลือกปุ่มฟีเจอร์ที่มุมขวาบน เพื่อเลือกหมวดหมู่เพลงที่ต้องการ เราก็จะพบกับรายการเพลงเรียงแถวอยู่ 

ซึ่งเพลงทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้ใช้สัญญาอนุญาต Creative Commons สลับกันสองรูปแบบระหว่าง CC BY และ CC BY NC ซึ่งจะมีระบุไว้อย่างชัดเจนในหน้าดาวน์โหลดเพลงค่ะ

Netlabels

อีกหนึ่งเว็บไซต์รวบรวมคอลเลกชั่นเพลงจากบรรดาศิลปิน รวมกว่า 70K รายการ ที่มีให้เลือกฟังทั้งในรูปแบบของเพลงเดี่ยว ๆ หรือยกอัลบั้ม! รวมถึงเพลงจากหลากหลายภาษาของศิลปินทั่วโลก โดยเราสามารถเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ได้ผ่านเว็บไซต์ Internet Archive และกดเข้าไปที่ ‘Collection’ เพื่อเลือกรายการเพลงที่ต้องการ 

ในทุกเพลงให้สังเกตตรงหัวข้อ Usage จะมีการระบุไว้แล้วว่าใช้ Creative Commons ในรูปแบบใด ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบเพื่อความแน่ใจ ก่อนจะกดดาวน์โหลดเพลงไปใช้งานค่ะ

Beatoven.ai

มาถึงเว็บไซต์สุดท้าย ไม่ใช่แหล่งรวบรวมเพลง แต่เป็นเว็บไซต์สร้างเพลงด้วย AI และที่สำคัญคือใช้ฟรี และเพลงที่ผลิตขึ้นมาจะสามารถนำไปใช้ประกอบคลิปบนโซเชียลมีเดียได้โดยไม่ติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย ผ่านการใช้เครื่องมือจากเว็บไซต์ Beatoven.ai โดยให้เราสมัครสมาชิกและ ‘Create a new track’ จากนั้นกำหนดชื่อเพลง ความยาวของเพลง และความช้า-เร็วของจังหวะ กดเลือกแนวเพลงที่ต้องการ และปล่อยให้ AI เป็นคนจัดการต่อ เราก็จะได้บทเพลงของเราแล้ว 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้งานฟรี จะสามารถสร้างเพลงได้ที่ความยาวรวมกัน 15 นาที/เดือนเท่านั้น อีกทั้งครีเอเตอร์ที่นำเพลงไปใช้ต่อ ก็จำเป็นต้องระบุแหล่งที่มาเป็น Beatoven.ai ด้วย 

อ้างอิง : legismusic, buffer, freemusicarchive, cchound

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save