วิเคราะห์อนาคตวงการ Premium Content หลัง Apple เปิด Apple News+

ในงานเปิดตัวสินค้าใหม่ของ Apple วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา Apple ได้เปิดตัวบริการใหม่ที่ชื่อว่า Apple News+ ซึ่งเป็นบริการที่ให้เราสามารถสมัครสมาชิกรายเดือนโดยจ่ายเพียงแค่เดือนละ 9.99 เหรียญ​ หรือแค่ประมาณ 300 บาทเท่านั้น แต่สามารถเข้าถึงคลังนิตยสารและคอนเทนต์แบบพรีเมียมต่าง ๆ บนเว็บได้แบบไม่อั้น ซึ่งถ้ารวม ๆ ทั้งหมดแล้ว เราต้องจ่ายเดือนละหลายหมื่นเหรียญ แต่ Apple สามารถนำบริการเหล่านี้มาให้เราเลือกใช้ได้เพียงแค่ 9.99 เหรียญ แถมยังอ่านได้ทั้งครอบครัวด้วย นับว่าเป็นบริการ Subscription Content ที่แทบจะราคาถูกที่สุดที่เคยมีมา

ความน่าสนใจของตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่บริการ แต่ในตอนเริ่มต้นของ Keynote แนวคิดของ Apple ก็คือต้องการสนับสนุน Quality Journalism ซึ่งในปีที่ผ่านมา Journalist ได้ถูกยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี 2018 โดยนิตยสาร TIME เพื่อยกย่องการต่อสู้ของบรรดานักข่าวทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ความจริง นั่นทำให้กระแสเรื่อง Quality Journalism เข้ามาเป็นที่พูดถึง โดยเฉพาะในยุคที่ถูกเรียกว่า Post-truth Era หรือยุคหลังความจริง ที่เราไม่สามารถหาความจริงจริง ๆ ได้อีกแล้ว ทุกอย่างล้วนแต่เป็นความจริงประกอบสร้างขึ้นมา ยุคนี้เราต้องเผชิญกับกระแสทั้งด้าน Fake News ต่าง ๆ มากมายรวมถึงการลุกล้ำด้าน Privicy ที่เป็นข่าวใหญ่ให้เห็นกันบ่อย ๆ

ความพยายามของ Apple ในการวาง Position ของ Apple News+

แน่นอนว่า ใน 2 แง่ที่เราสามารถมองได้ ก็คือ Apple เองต้องการส่งเสริมด้าน Quality Journalism ให้สามารถอยู่ได้ และมีรายได้มากขึ้น จริง ๆ แล้วโมเดลด้าน Subscription หรือการสมัครข้อมูลเพื่ออ่านข่าวนั้นก็ค่อนข้างเป็นที่นิยมพอสมควรแล้ว (ให้ลองนึกภาพดูว่า ไทยเราจะตามอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 5 ปี อะไรที่เคยเกิดขึ้นในอเมริการอซักพักจะเกิดขึ้นที่ไทย) ซึ่งอเมริกาก็ได้ผ่านยุคที่สื่อซบเซามาบ้างแล้ว และ Awarness ด้านสื่อก็ได้กลับมาอีกครั้ง ตอนนี้หลาย ๆ ที่อาจจะกระทบจากอัลกอริทึม Facebook บ้าง แต่ส่วนใหญ่ ก็ไปได้ค่อนข้างโอเคกับโมเดล Subscription โดยเฉพาะสื่อใหญ่ ๆ อย่าง Bloomberg, The New York Times หรือ Wall Street Journal

ในขณะที่ถ้าเราไปย้อนดู ๆ สื่อที่ได้รับผลกระทบจากอัลกอริทึมจะเป็นสื่อพวกตระกูลไวรัลทั้งหลายเช่น BuzzFeed, Bored Panda นั่นทำให้เราเห็น BuzzFeed ทำสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นคือการมาทำสื่อรายงานข่าวและบทวิเคราะห์ที่จริงจังมาก ๆ แล้วก็ดันเวิร์คซะด้วย (แม้จะอยู่ใน ช่วงปรับตัว ให้ลงร่องลงรอยก็ตาม)

ดังนั้น Apple News+ จะเป็นพื้นที่รองรับสื่อพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็น New York Times, Wall Street Journal หรือ Wired ต่าง ๆ รวมไปถึงนิตยสารบันเทิง หรือเฉพาะทางอีกหลายแบบตั้งแต่บันเทิง ท่องเที่ยว การตลาด เอเจนซี มากมายเต็มไปหมดไม่ใช่เฉพาะแค่กระแสหลัก

Subscription และ Premium Content เกี่ยวกันอย่างไร

ทีนี้คำถามก็คือ แล้ว Model Subscription กับ Premium Content ต่างกันยังไง ต้องย้อนกลับไปตอนยุคที่นิตยสารกำลังรุ่งเรือง คนอ่านนิตยสาร National Geographic, Scientific American ตระกูลข่าวธุรกิจทั้งหลาย ที่เป็นคอนเทนต์ที่ต้นทุนสูงเพราะต้องทั้งวิเคราะห์ ถ่ายภาพ หรือทำอะไรที่ไม่ได้ได้มาซึ่งคอนเทนต์ง่าย ๆ ซึ่งการจะได้อ่านนั้นผู้อ่านก็มี 2 อย่าง คือ ซื้อ หรือ เป็นสมาชิกรายเดือนรายปีอะไรก็ว่าไป ทำให้มันฟังดู Makesense ซึ่งก็ต้องอย่าลืมว่ามันไม่ได้แพงที่กระดาษ แต่มันแพงที่ตัวคอนเทนต์

พอยุคของอินเทอร์เน็ตเข้ามา ต้นทุนเรื่องกระดาษหายไป แต่ต้นทุนของคอนเทนต์ยังคงอยู่เท่าเดิม ทำให้การอยู่ดี ๆ เอาคอนเทนต์ที่ทำมาอย่างยากลำบากมาลง โดยหวังให้คนเห็นได้เยอะขึ้น และใช้โมเดลธุรกิจเป็นโฆษณาแทนอาจจะไม่เวิร์คเท่าไหร่ ซึ่งสุดท้ายภาพที่ออกมาก็เป็นตามนั้น ทำให้เราได้เห็นหลาย ๆ สื่อมาเป็น Premium Content และทำ Subscription มากขึ้น ตรงนี้เราจะไม่พูดเยอะเพราะเคยเขียนเล่าไปก่อนหน้านี้หลายบทความแล้ว เช่น หรือว่าเราผิดเองที่ทำให้คนดู มองว่าคอนเทนต์ควรเป็นของฟรี ?

Apple News+ กับ Apple Newsstand

ใครที่ตาม Apple มานานพอสมควรจะรู้ว่า Apple นั้นเคยมีบริการแบบเดียวกันในชื่อว่า Newsstand ซึ่งเปิดตัวมาในช่วงที่ iPad เข้ามาใหม่ ๆ ตอนนั้น Steve Jobs ได้วาง Position ของ Newsstand ให้เป็นเหมือนเครื่องมือที่เป็นตัวกลางระหว่างคนอ่านกับ Publisher ดังนั้นโมเดลของมันจะเป็นการที่ผู้ใช้จ่ายเงินให้กับ Publisher โดยตรง มี Apple เป็นตัวกลาง แต่สำหรับ Apple News+ นั้นการทำงานจะแตกต่างกันไป คือผู้ใช้จ่ายเดือนละ 9.99 เหรียญให้ Apple แล้ว Apple ก็บริหารจัดการเองให้มีเงินไปจ่าย Publisher กว่า 300 เจ้า ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่รู้ว่า Apple มีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร ถ้าอยากรู้ราคาของแต่ละเว็บให้ลองดูบทความ มาดูเว็บข่าวระดับโลก เขาคิดค่าสมัครสมาชิกกี่บาท แพงแค่ไหน ทำไมคนยอมจ่าย

แต่ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า Apple ไปดีลมาผ่านแทบทุกเจ้า โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ทั้งหลาย ครอบคลุมทั้งเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ ทำให้น่าสนใจเหมือนกันว่าสิ่งนี้จะทำให้กำไรของทั้ง Publisher และ Apple เพิ่มขึ้นมามากแค่ไหน และตลาดหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

สรุปแนวโน้มของวงการสื่อหลังจากนี้

ตอนแรกเราเดามาว่าบริการที่ Apple จะเปิดตัว จะคล้าย ๆ กับเป็นตัวกลางที่ทำให้ผู้ใช้สามารถ Subscribe และ Manage การสมัครรับข้อมูลกับ Publisher ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นไว้ในแอพเดียว คล้าย ๆ กับบริการของ Google ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ในชื่อ Subscribe with Google ซึ่งเป็นการเชื่อม Publisher กับผู้ใช้ แต่บริการ Apple News+ นั้น ยกเครื่องโมเดลใหม่ทั้งหมดด้วยการบอกว่า ผู้ใช้เอาเงินมาพอ Publisher รอรับเงินไป ที่เหลือเป็นหน้าที่ของ Apple ซึ่งโมเดลนี้มีในเสกลเล็ก ๆ ถ้าในไทยที่เห็นก็เช่น Ookbee Buffet แต่ Apple นั้นปีกกล้าขาแข็งทำโมเดลนี้กับสื่อระดับโลก ซึ่งเจ๋งกว่าที่ Google ทำมาก ทำให้น่าจับตามองที่สุดว่าจะเวิร์คไหม

ก่อนหน้านี้หลายคนฝากความหวังของ Premium Content และ Quality Journalsim ไว้กับ Facebook ซึ่ง Facebook ก็ออกมาบอกแล้วว่า เราไม่ได้แคร์เธอขนาดนั้นนะ แต่สื่อก็โดนให้ความหวังไปเรียบร้อนแล้ว แต่เมื่อ Apple หันมาทำธุรกิจแบบ Buffet นิตยสาร สื่อ และคอนเทนต์คุณภาพในราคาเพียงแค่ 9.99 เหรียญ ต่อเดือนนี้ก็น่าจับตามองว่ากระบวนท่านี้จะช่วยให้สื่อกลับมามีรายได้สูงอีกครึ่งโดยไม่ต้องฝากความหวังไว้กับการโฆษณาก็เป็นได้

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save