ทฤษฎีเกมที่คนทำคอนเทนต์ควรรู้ เราแข่งกับใคร เรารู้อะไรคู่แข่งบ้าง กติกาคืออะไร

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุและผลของมัน ไม่ว่าจะเป็นการตลาด เศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงการทำคอนเทนต์ด้วย และแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีหลักการตายตัวชัดเจนแน่นอนเหมือนกับฟิสิกส์ ที่ใช้ในการอธิบายธรรมชาติ แต่เนื่องจากมันมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ “พฤติกรรม” ของความเป็นมนุษย์ถูกแทรกเข้าไปอยู่ในทุกหลักกระบวนการคิด ลองนึกว่ามนุษย์ทุกคนอยู่บนโลกกันอย่างสันติสุข Perfect ไม่มีอะไรไม่ดีเกิดขึ้น ซักวันนึงมันก็จะต้องทีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นมาอยู่ดี ในการทำความเข้าใจความวุ่นวายนี้ มีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เลยก็คือทฤษฎีเกม (Game Theory)

สำหรับทฤษฎีเกมนั้น อาจจะถูกนำไปพูดถึงในเชิงของการตลาด การทูต ซะเป็นส่วนใหญ่ที่เราคุ้นชิน แต่รู้ไหมว่าอาชีพคนทำคอนเทนต์ บล็อกเกอร์ YouTuber อย่างเรา ๆ ก็เจอกับปรากฎการณ์ที่อธิบายได้ด้วยทฤษฎีเกมอยู่ไม่น้อย ในตอนนี้เราจะมาลองทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสุดท้าย เราจะสามารถตอบคำถามได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรา เรากำลังแข่งกับใครอยู่ กติกาคืออะไร ใครกำลังได้เปรียบ

อธิบายแนวคิดของทฤษฎีเกม

เพื่อให้รวบรัด และไม่ไปลงลึก เราจะไม่ได้บอกว่าเกมมีกี่รูปแบบแบบไหนบ้าง แต่จะอธิบายให้ฟังง่าย ๆ ว่า เกมเกิดขึ้นได้จะต้องมีผู้เล่น มีกติกา (ขอบเขตของเกม) และการตัดสินใจ หรือตา หรือการกระทำอะไรก็แล้วแต่ นั่นหมายความว่าทุกอย่างที่เราทำไป ตั้งแต่การตั้งราคา การเลือกลงคอนเทนต์ การเลือกอัตราส่วนของวิดีโอ ทุก ๆ อย่าง เป็นการตัดสินใจที่ส่งผลต่อระบบทั้งระบบหมดเลย

หนึ่งในการอธิบายทฤษฎีเกมที่เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ Prisoner’s dilemma สมมติว่ามีคนร้ายสองคนโดนจับ ถ้าทั้งคู่รับสารภาพทั้งคู่จะโดนลงโทษสถานหนัก แต่ถ้าทั้งคู่ไม่รับทั้งคู่ก็จะโดนลงโทษสถานเบา แต่ความสนุกมันอยู่ตรงที่ว่า ตำรวจจับทั้งคู่นั่งอยู่ในห้องที่ทั้งคู่ไม่มีทางรู้การตัดสินใจของกันและกันได้เลย และมีเงื่อนไขว่า ถ้ามีคนที่รับสารภาพ แต่อีกคนไม่รับ คนที่รับจะไม่ถูกลงโทษ แต่จะไปลงโทษคนที่ไม่รับแทน หมายความว่า มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับผลประโยชน์ ดังนั้นคนร้ายสองคนจะต้องเลือกว่า จะรับหรือไม่รับ ซึ่งถ้ารับแต่อีกคนไม่รับเรารอด แต่ถ้าเราไม่รับแต่อีกคนรับเราซวย แต่ถ้าเรารับและเพื่อนรับ หรือเราไม่รับเพื่อนไม่รับ ก็รับผิดชอบร่วมกัน (แต่ถ้ารับทั้งคู่ก็ซวยทั้งคู่)

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า การที่เราไม่รู้ว่าคนอื่นจะตัดสินใจอะไร ทำให้เราลังเล พอเราลังเล เราก็มีโอกาสที่จะเลือกแบบ Play Safe หรือเลือกเพื่อวัดดวงเอาผลประโยชน์เข้ากับตัวเอง

แล้วทฤษฎีเกมเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์อย่างไร

จริง ๆ เราเคยพูดถึงเรื่องนี้เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปแล้วในบทความ ทำไมเรียก YouTube, Netflix, iFlix, Viu ว่าเป็น OTT และทฤษฏีเกมแห่งความไม่เท่าเทียม แต่ทีนี้เรามาลองยกตัวอย่างสิ่งที่ใกล้ตัวและจับต้องได้กันบ้าง (ยกตัวอย่างเฉย ๆ นะ)

  • กรณีแรก สมมติมีสมาคมนักแคสเกม ตกลงกันว่าจะไม่ใช้คำหยาบในการแคสเกมแล้วรัฐบาลจะสนับสนุนวงการเกม ทุกคนก็จะรับเงินจากรัฐบาลเท่า ๆ กันคนละหมื่นบาทต่อเดือน แต่สมมติว่ามีนักแคสเกมคนนึงบอกว่าการใช้คำหยาบจะทำให้คนดูเยอะขึ้นแต่รัฐบาลไม่ชอบคำหยาบ ก็เลยไปเสนอแบรนด์เอกชนแทน แบรนด์เองชนให้นักแคสเกมคนนี้สองหมื่นต่อเดือน แปลว่าเกิดความไม่เท่าเทียมในวงการแคสเกมแล้ว แปลว่าระบบไม่สมดุลย์แล้วเพราะมีนักแคสเกมที่ได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่น และมีโอกาสที่คนอื่นจะเห็นว่า แคสเกมใช้คำหยาบดีกว่าเพราะได้ประโยชน์กว่า หรือก็จะมีคนที่บอกว่างั้นเราไปขอเงินรัฐบาลเพิ่มเพื่อให้มาตรฐานของการแคสเกมไม่มีคำหยาบต่อไป

กรณีนี้เราเห็นอะไรบ้าง เราเห็นว่าการใช้คำหยาบทำให้เด็กชอบแต่รัฐบาลไม่ชอบ และเราเห็นรางวัลที่รัฐบาลและเอกชนมอบให้กับคนที่ทำให้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่นักแคสเกมก็จะเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง และจะไม่ยอมแคสเกมโดยที่ได้เงินต่ำกว่าคนอื่น

กรณีที่สอง อันนี้สมมติเช่นเดียวกัน

  • สมมติว่าเราเป็น Social Media ชื่อ Facenotebook ซึ่ง Facenotebook ต้องการให้เราลงภาพแบบดี ๆ ไม่ใช้ Text บนภาพ Facenotebook เพื่อให้ดูไม่ตลาดล่าง (Facenotebook จะได้ดูดี) ก็เลยออกนโยบายว่า ห้ามใส่ Text บนรูปนะ ทุกคนก็ปฏิบัติตามมาโดยตลอด แต่บังเอิญมีบล็อกเกอร์คนนึง ไปลองทำโพสต์แบบมี Text บนภาพแล้วดันมี Engagement ดีกว่าเพื่อน ทุกคนเลยไม่เชื่อ Facenotebook ไปทำ Text บนภาพหมด จน Facenotebook ต้องออกกฎว่าถ้ามี Text บนรูปจะลด Reach นะ เพื่อให้รางวัลกับคนที่ไม่ใส่ Text บนรูป

กรณีนี้เราจะเห็นว่า เป็นการพยายามถ่วงระบบ ถ้าเกิดว่าทุกคนเชื่อ Facenotebook ตั้งแต่แรกไม่มีใครแตกแถว Facenotebook ก็จะไม่ต้องออกนโยบายเพื่อแบ่งบล็อกเกอร์ออกเป็น 2 กลุ่มคือ คนที่ทำตามสิ่งที่ Facenotebook ต้องการ

นอกจากสองเคสที่ยกตัวอย่างมาเล่าแบบเร็ว ๆ ด้านบนแล้ว มีอีกหลายอย่างที่เราจะไม่ชี้นำ แต่อยากให้ไปลองคิดกันเองว่า ทำแล้วใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์เช่น

  • เผยราคา Ratecard ดีไหม
  • เสนอราคาไปก่อน หรือแอบถามราคาในใจลูกค้า
  • จะปรับตาม Platform ดีไหม หรือจะชักจูงคนว่าไม่ต้องเชื่อ Platform เชื่อเราดีกว่า
  • เขียน Clickbait ดีไหม
  • ตัดวิดีโอสั้นกี่นาทีดี ยาวกี่นาทีดี

ซึ่งถ้าเราตอบคำถามพวกนี้ได้ เราจะพบว่า มันไม่มีอะไรที่ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่า โอกาสและความเป็นไปได้ในการกระทำนั้นจะส่งผลอะไรต่อ และเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ถ้าเราประเมินตรงนี้ได้ เราก็จะสามารถมองเกมออกไปได้หลาย ๆ ตา ในอนาคต และติดแผนต่อไปได้

เวลาเราอ่านเทคนิค หรือวิธีการอะไรก็ตามที่บอกว่าทำอันนู้นดี ทำอันนี้ดี ก็อย่าเชื่ออย่างสนิทใจ เพราะเราอาจจะกำลังอยู่ในเกมของใครบางคนอยู่ก็เป็นได้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Rainmaker

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save