ไขข้อสงสัย อัลกอริทึม Instagram ทั้ง Feed, Reels และ Stories ทำงานยังไง?

Adam Mosseri ผู้บริหาร Instagram ได้ออกมาอธิบายการทำงานของอัลกอริทึม เพื่อให้ผู้ใช้งานมีความเข้าใจ และจัดการคอนเทนต์ได้ดีมากขึ้น ทั้งบนหน้า Feed, Reels และ Stories

ซึ่ง Instagram ไม่ได้มีอัลกอริทึมเดียวที่ควบคุมว่าผู้ใช้จะเห็นหรือไม่เห็นอะไร เพราะแต่ละส่วนของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Feed, Reels และ Stories ต่างก็มีอัลกิริทึมของตัวเองโดยอิงจากการใช้งาน เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียอื่น ๆ

พฤติกรรมการใช้งานพื้นฐานบน Instagram คือ ผู้ใช้มักจะเชื่อมต่อกับเพื่อนสนิทผ่าน Stories, ใช้ Explore ในการค้นหาครีเอเตอร์หรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ และหาความบันเทิงผ่าน Reels รวมถึงแพลตฟอร์มเองก็ได้เพิ่มฟีเจอร์และเครื่องมือควบคุมต่าง ๆ เช่น Close Friends, Favorites และ Following เพื่อให้ผู้ใช้สามารถจัดการและควบคุมหน้าฟีดได้ตามที่ต้องการ

Feed

Instagram พยายามแนะนำโพสต์ล่าสุดจากคนที่ติดตาม พอ ๆ กับการแนะนำโพสต์จากคนที่ไม่ได้ติดตาม ที่คิดว่าผู้ใช้น่าจะสนใจ โดยการแนะนำจาก AI ซึ่งปัจจัยที่ใช้ตัดสินว่าคอนเทนต์ไหนผู้ใช้จะสนใจก็มีมากมาย ทั้งจากคนที่กดติดตาม การกดไลก์ หรือมีส่วนร่วมกับโพสต์ในช่วงนั้น ๆ สาเหตุที่แพลตฟอร์มพยายามสร้างสมดุลบนหน้า Feed เป็นเพราะว่าต้องการจะ Personalize ให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตัวเองนั่นเอง

4 ปัจจัยหลักที่กำหนด Feed

  • กิจกรรมบนแพลตฟอร์ม: ไม่ว่าจะเป็น การกดไลก์ แชร์ เซฟ หรือคอมเมนต์ จะช่วยทำให้อัลกอริทึมทำความเข้าใจว่าผู้ใช้มีความสนใจเกี่ยวกับอะไร
  • ข้อมูลเกี่ยวกับโพสต์: ทั้งจำนวนและความเร็ว ในการกดไลก์ แชร์ คอมเมนต์ และเซฟ รวมถึงช่วงเวลาที่โพสต์ และสถานที่ เป็นต้น
  • ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่โพสต์: ที่ช่วยให้อัลกอริทึมรู้ได้ว่าทำไมคนที่ติดตามถึงน่าสนใจสำหรับคุณ และดูไปถึงคุณมีปฏิสัมพันธ์กับคนนั้นมากน้อยแค่ไหน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ประวัติการ Interact กับบางคน: เพื่อดูว่าคุณมีความรู้สึกสนใจโพสต์ของบางคนมากน้อยแค่ไหน ดูได้จากการคอมเมนต์บนโพสต์ของกันและกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ Instagram ยังดูไปถึงประเภทคอนเทนต์ที่ผู้ใช้มี Engage บ่อย ๆ โดยสังเกตจากระยะเวลาที่ใช้กับโพสต์นั้น การคอมเมนต์ กดไลก์ กดแชร์ และการเข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ครีเอเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ชอบไลก์รูปภาพ Instagram ก็จะแสดงโพสต์ที่เป็นรูปภาพบนหน้า Feed มากขึ้น

Stories

สำหรับ Stories จะไม่ได้แนะนำด้วย AI แต่จะแสดงตามลำดับการโพสต์ของแอคเคานต์ที่คุณติดตาม และสังเกตจากการกดเข้าไปดู Stories หรือการตอบกลับ โดยมี 3 สิ่งที่ Instagram คำนึงถึงการแสดงดังนี้

  • ประวัติการดู: เพื่อดูว่าคุณเข้าไปดู Stories ของแอคเคานต์นั้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่อัลกอริทึมจะได้จัดลำดับการแสดง Stories ได้ใกลเคียงกับพฤติกรรมของคุณมากที่สุด
  • ประวัติการมีส่วนร่วม: อัลกอริทึมจะดูไปถึงการมีส่วนร่วมกับ Stories ของแอคเคานต์นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การกดไลก์ หรือส่งข้อความ
  • ความใกล้ชิด: อัลกอริทึมจะดูความสัมพันธ์โดยรวม และวิเคราะห์ว่าคุณเชื่อมกับเพื่อนหรือครอบครัวอย่างไรบ้าง

Reels

สุดท้าย Reels ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งฟอร์แมตที่มีอิทธิพลที่สุดบนแพลตฟอร์มในตอนนี้เลยก็ว่าได้ โดยอัลกอริทึมจะพิจารณาทั้งหมด 4 ปัจจัยหลัก เพื่อแนะนำคลิป Reels ขึ้นมาบนหน้า Feed ของคุณ

  • กิจกรรมบนแพลตฟอร์ม: ไม่ว่าจะเป็น Reels ที่คุณกดไลก์ เซฟ รีแชร์ หรือคอมเมนต์ รวมถึงการมีส่วนร่วมล่าสุด เพื่อให้อัลกอริทึมทำความเข้าใจว่าคอนเทนต์แบบไหนถึงจะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้มากที่สุด
  • ประวัติการมีส่วนร่วมกับคนที่โพสต์: อย่างในหน้า Explore ที่ผู้ใช้มักจะเห็นโพสต์จากคนที่ไม่รู้จักมาก่อน แต่หากคุณมี Interact กับโพสต์นั้น ๆ อัลกอริทึมจะจดจำว่าคุณสนใจในโพสต์ที่คนเหล่านั้นแชร์มากน้อยแค่ไหน
  • ข้อมูลเกี่ยวกับ Reels: อัลกอริทึมจะพิจารณาข้อมูลที่อยู่ในคลิป ทั้งเสียง หรือวิชวล รวมถึงความนิยมของคลิปด้วย
  • ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่โพสต์: นอกจากนี้ อัลกกอริทึมยังพิจารณาความนิยม ไม่ว่าจะเป็น ยอดผู้ติดตาม หรือระดับ Engagement เพื่อหาคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากผู้คน และเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นด้วย

Mosseri เสริมเพิ่มว่าคลิป Reels ที่มีลายน้ำ หรือแคปมาแล้วคุณภาพต่ำลง จะมียอด Reach ต่ำ รวมถึงคลิปที่ไม่มีเสียง มีกรอบคลิป หรือมีตัวหนังสือเยอะ ก็จะถูกจัดลำดับให้เข้าถึงคนได้น้อยลงเช่นกัน

และนี่ก็เป็นการทำงานของอัลกอริทึมในแต่ละส่วนบน Instagram ที่หลายคนสงสัยมาตลอด ซึ่ง Instagram ก็ได้ไขข้อสงสัยให้เรียบร้อย ทำให้เราได้รู้ถึงปัจจัยที่อัลกอริทึมนำไปพิจารณา เพียงแค่นี้เราก็ได้รู้วิธีการจัดการหน้า Feed เพื่อให้อัลกอริทึมแนะนำคอนเทนต์มาได้ตรงใจเรามากที่สุดแล้ว!

ที่มา: SocialMediaToday

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save