มาดูเว็บข่าวระดับโลก เขาคิดค่าสมัครสมาชิกกี่บาท แพงแค่ไหน ทำไมคนยอมจ่าย

ผู้เขียนเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วว่าโมเดลการหารายได้ที่เรียกว่า Reder Payment เป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้บรรดา Publisher ในต่างประเทศมีรายได้กัน ซึ่งเราก็จะพบว่าบรรดาเว็บข่าวดัง ๆ หลาย ๆ เว็บก็ล้วนแต่มีส่วนที่เป็น Subscription หรือสมัครรับข้อมูล ในการจ่ายเงินเพื่ออ่านเนื้อหาแบบพิเศษ (Premium) ทั้งนั้น ร่วมกับการหารายได้จากช่องทางอื่น เช่น การโฆษณาหรือ Advertorial

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า เราในฐานะคนไทยอาจจะไม่คุ้นชินกับโมเดลแบบนี้ซักเท่าไหร่ เพราะว่าถ้าเราพูดถึงเว็บข่าวแบบดั้งเดิมอย่าง ไทยรัฐ มติชน หรือ Workpoint ก็ล้วนแต่เป็นเว็บข่าวที่เราอ่านได้แบบไม่ต้องเสียเงินท้ังนั้น หรือแม้กระทั่งเว็บสำนักข่าวออนไลน์อย่าง The MATTER, The Standard ก็ไม่เห็นมีเว็บไหนต้องเสียเงิน เรื่องของ Reader Payment ในไทย จึงอาจดูไกลตัวและเข้าถึงยากซักนิด

ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นวันนี้เราจะมาดูตัวอย่างเว็บข่าวออนไลน์ของต่างประเทศกันว่า เขามีการคิดเงินในการสมัครรับข้อมูลอยู่ที่เท่าไหร่กัน แล้วแต่ละสำนักข่าวให้อะไรบ้าง

New York Times – ประมาณ 260 บาทต่อเดือน (65 บาท/สัปดาห์)

เว็บช่าวที่ดังมากอันดับต้น ๆ ของโลก คิดราคาอยู่ที่เดือนละประมาณ 260 บาท โดยมีราคาเต็มอยู่ที่ 2 เหรียญต่อเดือน แต่ลดราคาเหลือแค่ 1 เหรียญในช่วงที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ สิ่งที่จะได้รับก็เป็น บทความ Premium แบบ Unlimited บนเว็บไซต์และแอพ และยังมีสิทธิ์ได้ทดลองใช้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของเว็บก่อนใคร

Bloomberg – ประมาณ 330 บาท/ 3 เดือนแรก หลังจากนั้น 1,144 บาท/เดือน

เว็บไซต์ข่าวธุรกิจขวัญใจบรรดาคนทำงานและนักลงทุนที่หาความรู้อ่านประดับสมองเพื่อการตัดสินใจในการทำงานที่มีข้อมูลในการช่วยตัดสินใจนี้คิดราคาอยู่ที่ประมาณ 330 บาท/เดือน สิ่งที่จะได้ก็คือ ได้อ่านคอนเทนต์บน Bloomberg แบบ Unlimited และถ้าแพงขึ้นมาหน่อยก็จะได้รับ Bloomberg Businessweek อีกด้วย แต่ราคาจริง ๆ ของแพกเกจหลังจากหมด 3 เดือน ก็แตะขึ้นไปสูงถึงหลักพันกว่าบาทต่อเดือนทั้ง 2 แพคเกจ (แต่คอนเทนต์ Bloomberg เขียนดีจริง)

Business Insider ประมาณ 330 บาท/เดือน

อีกหนึ่งเว็บสายธุรกิจที่ไม่ได้มีแต่ข่าวธุรกิจ แต่มีเนื้อหาที่หลากหลายมาก ช่วยให้เราฉลาดและรู้ทันโลกที่เปลี่ยนไป ในบริการ Business Insider Prime คิดราคาอยู่ที่ประมาณ 330 บาท/เดือน (ใช้เดือนแรกแค่ 35 บาท) หรือถ้ายิ่งสมัครเป็นรายปีหรือสองปี ก็จะถูกลงไปอีก เป็น 2 ปีประมาณ 6,000 บาทเท่านั้นเอง แทบจะถูกลงครึ่งต่อครึ่ง

สิ่งที่ผู้สมัครจะได้ก็คือ บทความแบบ Premium บน BI Prime และแอพ และอีกอย่างก็คือถ้าสมัครรายปีขึ้นไปจะได้อ่าน Digiday แบบ Preimium ด้วย ซึ่ง Digiday เป็นเว็บไซต์ที่เล่าข่าว Media, Journalism และ Brand เหมาะสำหรับ Agency หรือสายการตลาดคอนเทนต์ต่าง ๆ

The Guardian – ประมาณ 220 บาท/เดือน

เว็บข่าวสายประชาชนที่แทบจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคอย่าง The Guardian ก็มี Subscription เหมือนกัน โดยจะเน้นไปที่ความเป็น Ad-free ซะมากกว่า (ก็แนว ๆ ช่วยสนับสนุนเว็บ เพราะ The Guardian ไม่มี Pay Wall) คิดราคาอยู่ที่ประมาณ 220 บาท/เดือน นอกจากนี้ยังมีนิตยสารรายวันให้ Subscribe ในราคาประมาณ 500 บาท/เดือน ให้อ่านบน iPad ได้

The Washington Post – ประมาณ 200 บาท/เดือน

อีกหนึ่งเว็บข่าวที่น่าจับตามองและเป็นที่นิยม ตอนนี้คิดราคาอยู่ที่เดือนละประมาณ 200 บาท/เดือน หรือถ้าจะสมัครรายปีก็จะเหลือแค่ประมาณ 2,000 บาทเท่านั้นเอง ที่สำคัญคือสามารถทดลองใช้ได้เดือนแรกโดยจ่ายแค่ 35 บาท หรือเหรียญเดียวเท่านั้น

The Wall Street Journal – ประมาณ 1,000 บาท/เดือน (3 เดือนแรกจ่ายแค่ 35 บาท)

สำนักข่าวที่ขึ้นชื่อด้านความเจาะลึก รู้ลึกรู้จริง พร้อมบรรดาบรรณาธิการและคอลัมนิสต์มากประสบการณ์ระดับโลก คิดราคาแพงทีเดียว อยู่ที่เดือนละประมาณ 1,000 บาท (3 เดือนแรกจ่ายแค่ 35 บาท และยกเลิกได้) สิ่งที่จะได้ก็คือสามารถอ่านคอนเทนต์ทุกตัวได้บนเว็บ WSJ รวมถึงบน App ในมือถือหรือ iPad แต่ราคาแพงแบบนี้ ไม่มีฉบับกระดาษมาให้นับว่าโหดพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับความเป็น WSJ แล้ว ก็ไม่น่าต้องตั้งคำถามถึงคุณภาพและการสำเสนอมาก

New Scientist – ประมาณ 250 บาท/เดือน (อาทิตย์ละ 60 บาท)

อันนี้ขอยกตัวอย่างมาในฐานะที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อให้เห็นว่านอกจากข่าวเศรษฐกิจที่ดูมีมูลค่าน่าติดตามแล้ว ข่าวการค้นพบต่าง ๆ ในฝั่งวิทยาศาสตร์ก็ยังสามารถนำมาเป็นคอนเทนต์ขายได้ในราคาถึง 250 บาทต่อเดือนของเว็บ New Scienctist ซึ่งจะมีบทวิเคราะห์ บทความ และเทรนใหม่ ๆ มาอัพเดทให้ (ย้ำว่าเป็นบทความ ไม่ได้ขาย Paper) ซึ่งมีทั้งแบบ Digital อาทิตย์ละ 60 บาทนิด ๆ ไปจนถึงแบบกระดาษให้เลือกกัน ซึ่งราคาก็จะไล่ ๆ กับพวกข่าวเศรษกิจหรือข่าวทั่ว ๆ ไปด้านบนเลย

Financial Times – ประมาณ 840 บาท/เดือน (210 บาท/สัปดาห์)

อีกเว็บหนึ่งที่แพงมาก ๆ แต่ก็ยังถูกกว่า WSJ ก็คือ Financial Times เว็บข่าวสายเศรษฐกิจที่ก็ไม่ได้มีแต่เรื่องเศรษฐกิจอีกแล้ว แต่เน้นไปยังข้อมูลสำคัญ ๆ และอัพเดทให้คนที่ต้องทำงานสามารถตัดสินใจต่าง ๆ ได้โดยมีข้อมูลรองรับ ซึ่ง FT คิดราคาอยู่ที่ 840 บาท/เดือน สิ่งที่จะได้คือ บทความวิเคราะห์ทั่วไป แต่ถ้าจ่ายแพงขึ้นเป็นประมาณ 1,300 บาท ก็จะได้ บทวิเคราะห์แบบเจาะลึกไปจนถึงการ analysis ข้อมูลให้ดูเลยทีเดียว

เราจะเห็นว่าสิ่งที่สำนักข่าวเหล่านี้ให้กับคนที่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อข่าว มันไม่ใช่แค่ว่าซื้อข่าวเพื่ออ่านว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่มันลงไปถึงบทวิเคราะห์ เจาะลึก พาผู้อ่านคิดตามเข้าไปในประเด็นต่าง ๆ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่เคย Subscribe เว็บ WSJ และ New York Times ก็บอกได้เลยว่า วิธีการเขียนข่าวมันคือการพาผู้อ่านคิดตามไปด้วยจริง ๆ (และถ้าใครอินกับข่าวนั้นก็จะสนุกมาก)

แล้วถามว่าสำนักข่าวเหล่านี้ขายข่าวให้ใคร ก็ไม่น่าตอบยาก ก็ขายให้กับคนที่จะต้องใช้ในการทำงานหรือประกอบการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ เช่น นักการตลาด นักลงทุน หรือนักข่าว คนทำคอนเทนต์ด้วยกันเอง (ผู้เขียนทำเว็บวิทยาศาสตร์ก็เคยสมัครอ่านข่าวจากพวก New Scienctist อะไรพวกนี้เหมือนกัน) ดังนั้นการจะยอมจ่ายเงินเพียงแค่เดือนละไม่ถึงพัน เพื่อแลกกับความรู้ใหม่ ๆ วิธีการคิด และการวิเคราะห์เฉียบ ๆ ที่จะส่งผลให้เราตัดสินใจ ทำหรือไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ในงานแต่ละวันก็น่าจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเงินที่เราหาได้

สำหรับในไทย พวกข่าวเฉพาะทางหรือบทวิเคราะห์ส่วนมากจะหาได้จากพวกฉบับกระดาษ เช่นนิตยสาร อะไรแบบนี้ซะส่วนใหญ่ ซึ่งยังไม่ค่อยปรากฏเป็นออนไลน์ให้เห็นเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ราคาการ Subscribe ก็ไม่ได้แพงไปกว่า Netflix หรือบริการบันเทิงหลาย ๆ อย่างเท่าไหร่เลย ก็ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจและน่าลองเข้ามาเล่นดูเหมือนกัน

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save