คดีเสือดำ หรือบ้านพักตุลาการ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงหนึ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อน เราอาจจะเห็นเรื่องพวกนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เพียงไม่นานก็อาจจะถูกสั่งให้เก็บออกจากแผง หรือมาจากคอลัมน์สายการเมืองของนักวิชาการคนใดคนหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเราไม่รู้ต้นตอว่าใครเป็นคนเริ่มต้นกรณีเสือดำขึ้นมา หรือใครเป็นคนแรกที่พยายามตีแผ่เรื่องบ้านพักตุลาการ เรารู้เรื่องราวพวกนี้ผ่านการกระจายศูนย์กลาง ดังนั้นเราไม่แปลกใจที่ เราจะไม่สนใจว่าใครเป็นคนแรกที่พูดถึงมัน แต่เราสนแค่ว่า Message เหล่านั้นมีขนาดใหญ่แค่ไหนและจะส่งผลต่อการเมืองการปกครอง รวมถึงการตั้งคำถามย้อนไปแก่ผู้มีอำนาจอย่างไร
ถ้าจะบอกว่าสื่อแบบเดิม ๆ มีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง Social Media และสื่อออนไลน์ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกริยาที่ทำให้ Message เหล่านี้สามารถเข้าถึงวงกว้าง และกระจายศูนย์กลางสร้างความยากต่อการกำจัดราวกับว่าเรื่องราวใดที่เคยปรากฏบนโลกอินเทอร์เน็ต มันจะอยู่บนนั้นไปตลอดกาล
สื่อส่งผลต่อการเมืองการปกครองอย่างไร
ในรัฐสภาอังกฤษ ปี 1787 พวกขุนนาง กำลังนั่งคุยกับผู้นำศาสนาและสภาผู้แทนราษฎร คนเหล่านี้เรียกว่า 3 Estate หรือฐานันดรทั้ง 3 แต่อำนาจในการปกครองประเทศมีอยู่แค่นั้นจริง ๆ เหรอ Edmund Burke นักเขียนและนักปรัชญา ได้ชี้ไปยังกลุ่มนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวในตอนนั้นที่มานั่งฟังการประชุมด้วย และเรียกพวกเขาว่า ฐานันดรที่ 4 หรือ Fourth Estate หลังจากนั้นโลกก็ได้รู้จักกับพลังของ Media (สื่อ) และ Journalism และมีการเรียกด้วยคำอื่น ๆ เช่น fourth power
แล้ว The Fourth power มีอะไรบ้าง ในช่วงอายุของเรา เราอาจจะนึกถึง BBC, CNN ผู้มีบทบาทในการรายงานเรื่องราวต่าง ๆ บนโลก หรือแม้กระทั่ง WikiLeaks ที่เผยเรื่องราวลับ ๆ ของรัฐบาล หรือใกล้มาหน่อยก็จะเป็น The Guardian ที่ทำให้ Edward Snowden เผยความลับของความพยายามในการเก็บข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของรัฐบาลผ่าน Social Media
แต่ทุกวันนี้ มีสื่อชนิดนึงที่มีพื้นฐานที่มาแตกต่างจากสื่อมวลชนทั่วไป สิ่งนั้นคือ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ ธรรมชาติของมัน เราเคยพูดถึงกันไปแล้วในบทความ Echo Chamber และ ทำไมโซเชียลมีเดียถึงเผยด้านลบของเราได้ง่ายกว่าด้านดี
แต่ในบทความนี้เราจะพูดถึงความสัมพันธ์และอิทธิพลในเชิงอำนาของ Social Media ที่มีต่อการเมืองการปกครอง เราได้เห็นอำนาจของ Social Media ในการปรับเปลี่ยนรูปร่างการเมืองการปกครองในกรณี Arab Spring หรือการเรียกร้องต่อสู่ของชาวฮ่องกงต่ออำนาจของจีน ที่ล้วนแต่เป็นการชุมนุมที่ไม่มีศูนย์กลาง แต่ใช้พลังของ Social Media ในการเน้นยำข้อความหรือวิธีการคิดบางอย่างโต้กลับขึ้นไปยังชนชั้นปกครอง
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐ
กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ Social Media และสื่อออนไลน์ เข้ามามีบทบาทในเชิงอำนาจ แน่นอนว่าครั้งแรกของมันคือ Arab Spring เมื่อมีการใช้ Facebook เป็นสื่อหลักในการเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ชุมนุมที่ถูกสังหาร หรือกรณีการชุมนุมที่ฮ่องกง ในตอนนั้นกลุ่มเด็กวัยรุ่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างเดินกันออกมาเต็มท้องถนน ในมือของพวกเขาคือเครื่องมือที่ชื่อว่าโทรศัพท์มือถือพวกเขาใช้มันในการรวมกลุ่ม และเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาคิดว่าพวกเขาควรจะได้ (ถ้านึกไม่ออก เหตุการณ์นั้นทำให้เราได้รู้จักนักเรียกร้องคนหนึ่งที่ชื่อว่า โจชัว หว่อง และกลายเป็นสัญลักษณ์ของพลังคนรุ่นใหม่)
สิ่งที่เป็นบทพิสูจน์ว่าอำนาจของ Social Media และออนไลน์ มีพลังมากจนบางทีก็อาจเป็นภัยคุกคามให้กับรัฐบาล ปรากฏให้เราเห็นชัดผ่านการ “ควบคุม” การควบคุมการใช้งาน บทสนทนา และการพูด และการ “ปิดกั้น” การเข้าถึง ที่เราแบ่งออกเป็นสองอย่างก็เพราะว่าการควบคุมนั้นคือการปล่อยให้ทำ แต่มีการสอดส่องและถูกห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่ “รัฐบอกว่าผิด” แต่การปิดกั้นนั้นหมายถึงการไม่ให้ทำเลยไม่ว่ากรณีใด ๆ ครั้งหนึ่ง รัฐบาลไทยเคยปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศหลาย ๆ เว็บโดยอ้างว่าเข้าข่ายผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ สิ่งนี้ยิ่งเป็นบทพิสูจน์ถึงพลังของ Social Media ว่ามันมีพลังเพียงใด
ตัดอินเทอร์เน็ต บทพิสูจน์ของพลังออนไลน์
ดังนั้นช่วงที่เกิดความวุ่นวาย สมัยก่อนรัฐอาจจะตัดไฟ หรือสั่งห้ามออกจากบ้าน ยุคต่อมาคือการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (ช่วงรัฐประหารที่ผ่านมา TPBS ถูกทหารบุกให้ตัดสัญญาณการแพร่ภาพผ่าน YouTube) แต่เชื่อว่าทุกวันนี้สิ่งที่รัฐต้องการจะทำคือการ “ตัดอินเทอร์เน็ต” หรือโครงข่ายสัญญาณไร้สาย อย่างกรณีการประท้วงที่อียิป รัฐบาลตัดสินใจ ตัดอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าให้เราลองนึกภาพว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เราก็คงนึกไม่ออก
สิ่งนี้ยิ่งทำให้เราเห็นความกล้าหาญของคนที่เรียกร้องเมื่อก่อน ทุกวันนี้เรานั่งเขียนบทความอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย ในพื้นที่ของเรา ไม่มีใครมาทำอะไรเราได้ แต่สมัยก่อน พวกเขาต้องเดินกันบนท้องถนน วิ่งหนีทหารพร้อมอาวุธสงคราม หรือส่งต่อหนังสือต้องห้ามกันมือต่อมือ
เราอาจจะเห็นพลังของอินเทอร์เน็ตเป็นภาพภาพใหญ่ทำให้เรานึกถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศหรือภูมิภาค แต่จริง ๆ แล้วพลังของอินเทอร์เน็ตมันไม่ได้อยู่ดี ๆ กลายมาเป็นกลุ่มก้อนก้อนใหญ่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เลย แต่เริ่มต้นมาจากพฤติกรรมง่าย ๆ อย่างการอ่าน การส่งต่อ หรือการตีความของคนในประเทศนั่นแหละที่ทำให้เกิดชุดความคิดนึงขึ้นมา ความท้าทายก็คือ มันเกิดจากการประกอบสร้างจากสิ่งเล็ก ๆ ดังนั้นเราจะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่ามันจะไปในทิศทางไหน จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อมันส่งผลด้านบวกหรือด้านลบไปแล้วเท่านั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็ไม่ใช่เพื่อไปควบคุมมัน แต่เพื่ออธิบายและเข้าใจธรรมชาติของมัน และระวังไม่ให้การกระทำของเรากลายเป็นสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดผลแแย่ในอนาคต