Cross-Platform คือ การที่ครีเอเตอร์หรือแบรนด์มีมากกว่าหนึ่งแอคเคานท์ เพราะต้องดูหลายแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันนับป็นเรื่องปกติของผู้คนในวงการโซเชียลมีเดียไปแล้วที่จะต้องครีเอทีฟทุกช่องทาง วันนี้ RAiNMaker เลยมีทริก How to สร้างคอนเทนต์แบบ ‘Cross-Platform’ มาแชร์ให้นำไปวางแผนกันง่ายขึ้น!
การเพิ่มการรับรู้ในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกแพลตฟอร์มมีอัลกอริทึม และกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ดังนั้นกว่าจะลงคอนเทนต์หนึ่งได้ ต้องวางแผนให้ดีว่าแต่ละแพลตฟอร์มเหมาะกับคอนเทนต์แบบไหน
แต่วันนี้สิ่งที่ RAiNMaker จะมาแชร์ให้รู้กัน เป็นทิปที่ครีเอเตอร์และแบรนด์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกแพลตฟอร์ม เพื่อทำให้การลงคอนเทนต์แบบมัลติสื่อสารง่าย และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งจะมีทิปอะไรบ้าง? เตรียมโน้ตเอาไปใช้กันเลยจ้า
Set Platform Goals
ตั้ง Goals ทุกแพลตฟอร์มที่มี
ไม่ว่าคุณจะมีแพลตฟอร์มไหนอยู่ในมือ ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, TikTok หรือจะมีทุกแพลตฟอร์มทั้งหมดก็ตาม นอกจากการวางแผนเพื่อลงคอนเทนต์แต่ละประเภทแล้ว ควรตั้งเป้าหมายให้กับแพลตฟอร์มด้วยว่าอยากไปให้สุดที่ตรงไหน
- Facebook: คอนเทนต์มีคนกดรีแอ็กชัน รวมถึงแชร์และแท็กเพื่อนมาดูด้วย
- Instagram: คอนเทนต์มีคนกดใจ หรือแชร์ไปลงในสตอรีเยอะ
- Twitter: คอนเทนต์มีคนโควทเพื่อพูดถึง หรือยอดรีและยอดเฟบทวิตสูง
- YouTube: คอนเทนต์มียอดวิวตามเวลาที่กำหนดเยอะ
- TikTok: คอนเทนต์มียอดวิวเยอะ และแชร์ออกไปหลายคอมมูนิตี้
No Copy Paste
ไม่ควรก็อปปี้แล้ววางเหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม
การก็อปปี้แล้ววางหนึ่งคอนเทนต์ให้เหมือนกันทุกแพลตฟอร์มอาจจะทำให้อัปเดตอะไรไวขึ้น แต่จะยิ่งทำให้ผู้ติดตามทุกช่องทางของเราเบื่อเอาซะก่อน เพราะไม่มีลูกเล่นอะไรที่พวกเขาสามารถว้าวได้นั่นเอง
ดังนั้นต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของทุกแพลตฟอร์มของเราให้ดีก่อนว่าพวกเขาชอบหรือต้องการเห็นคอนเทนต์แบบไหน ให้ไปเช็กได้จากคอนเทนต์ที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูง ๆ ของแต่ละแพลตฟอร์มและพยายามรักษามาตรฐานในการทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์เข้าไว้
Available to Chat
อย่าโพสต์แล้วหายจากหน้าเพจ
หลายคนที่โพสต์คอนเทนต์ลงบนโซเชียลไปแล้วอาจจะคิดว่านั่นเป็นกระบวนการสุดท้าย แต่ความจริงแล้วหลังจากนั้นยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าให้ทำอยู่นะ
เพราะไม่ว่าจะเป็นครีเอเตอร์หรือแบรนด์ การตอบแชท ตอบคอมเมนต์ให้มีการเคลื่อนไหวกับกลุ่มเป้าหมายบนแพลตฟอร์มอยู่ตลอดเวลาจะทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีความเข้าถึงง่าย และอยากมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ต่อไปเรื่อย ๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้นอย่าโพสต์แล้วหายเด็ดขาด แต่ให้ติดตามรีแอ็กชันผู้ติดตามเอาไว้!
Use Paid and Organic Together
โปรโมตคอนเทนต์ให้เหมาะสม
การโปรโมตคอนเทนต์มีทั้งยอดแบบออแกร์นิกและยอดที่มาจากการซื้อโฆษณาเพื่อเพิ่มการมองเห็นคอนเทนต์ให้มากขึ้น ซึ่งในฐานะแบรนด์และครีเอเตอร์ก็ควรใช้ประโยชน์จากทั้ง 2 วิธีนี้ให้เหมาะสม
โดยเฉพาะกับคอนเทนต์ที่มียอดออแกร์นิกดีบนโซเชียล ก็สามารถจ่ายเพื่อที่จะเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์ให้มากขึ้นได้ เพราะนอกจากจะกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายของเรามากขึ้นแล้ว ก็อาจตกกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
Add CTA on Profile
แปะลิงก์เชื่อมไปยังแพลตฟอร์มที่มี
Call-to-Action หรือ CTA เป็นสิ่งสำคัญที่ครีเอเตอร์และแบรนด์ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการนำพาไปยังแลนด์ดิ้งเพจ หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ของเราให้คนที่สนใจได้ติดตามต่อไป
ดังนั้นการมี CTA บนไบโอโปรไฟล์ของเราก็คือการเตรียมพร้อมเพื่อขายอยู่เสมอนั่นเอง ซึ่งลิงก์ที่ว่านั้นจะเป็นลิก์เชื่อมไปยังเพจ แพลตฟอร์ม หรือการส่งอีเมลอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขาได้รับข่าวสารเพิ่มเติมก็ทำได้
Check Search Name
ใส่คีย์เวิร์ดในชื่อให้เสิร์ชหาขึ้นอันดับต้น
แม้อัลกอริทึมของการเสิร์ชอาจจะมีขึ้นลงบ้าง แต่การที่เราใส่คีย์เวิร์ดบางอย่างลงในชื่อ พร้อมกับเช็กชื่ออื่น ๆ ที่มีคีย์เวิร์ดเดียวกันอยู่ ก็จะทำให้รู้ว่าจากการค้นหาเหล่านั้นจะมีชื่อของเราอยู่หรือเปล่าด้วย
ซึ่งวิธีสำรวจชื่อในตลาดเดียวกันนี้ก็สามารถนำไปประยุกต์ได้กับการตั้งชื่อให้แตกต่าง และโดดเด่นสแตนด์อโลนมากขึ้น หรือหากอยากให้เป็นทางการก็พยายามรักษาฐานกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ และลงคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอให้มีการพูดถึงอยู่ตลอด จนสามารถขอ Verified ได้ ก็จะทำให้แบรนด์ดิงมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
Track Analytics
เช็กความเคลื่อนไหวหลังบ้านเสมอ
แม้การเช็กความเคลื่อนไหวหลังบ้าน หรือผลลัพธ์ของคอนเทนต์ที่ได้เผยแพร่ไปจะเป็นเรื่องปกติที่เหล่าคนในวงการโซเชียลมีเดียและนักการตลาดทำกันอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว
แต่สำหรับใครที่มี Cross-Platform จะต้องนำความเคลื่อนไหวหลังบ้านของแต่ละแพลตฟอร์มมารวมกัน แล้ววิเคราะห์ตัวเลขเหล่านั้นออกมาเป็นการวางแผนครั้งต่อไปให้ได้
เพราะการเปรียบเทียบจะช่วยให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าแพลตฟอร์มไหนชอบคอนเทนต์แบบไหน และมีรีแอ็กชันจากกลุ่มเป้าหมายแบบไหนบ้าง เพื่อที่จะได้สร้างคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์พวกเขามากขึ้นในอนาคตนั่นเอง
ที่มา: Hootsuite