การเขียนคอนเทนต์นั้นอาจดูเหมือนง่าย แท้จริงแล้วเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวไปให้ผู้อื่น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือแหล่งข้อมูลที่นำมาเขียนและอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง
โดยปกติแล้ว วิธีการในการหาแหล่งข้อมูล สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ แหล่งข้อมูลชั้นต้น ที่เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลโดยตรงด้วยการสังเกตหรือทดลองเกี่ยวกับประเด็นนั้นด้วยตัวเอง ก่อนจะนำมาสร้างคอนเทนต์ ซึ่งเชื่อถือได้เพราะมีหลักฐานยืนยันได้จริง
แต่ส่วนที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ แหล่งข้อมูลชั้นรอง ที่ได้จากแหล่งอื่นๆ รวบรวมข้อมูลมาอีกที จึงมีความเป็นไปได้ว่า แหล่งข้อมูลที่หามานั้น อาจมีการให้ข้อมูลที่ผิด ส่งผลให้คอนเทนต์เราไม่ถูกต้องไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบนั้นขึ้น วันนี้เราจะพาไปดูวิธีการเลือกแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ และสามารถนำมาใช้ทำคอนเทนต์ได้ถูกต้องกัน
เจ้าของเรื่อง
แน่นอนว่าแหล่งข้อมูลที่ให้ข้อมูลได้น่าเชื่อถือมากที่สุด ก็ต้องเป็นแหล่งข่าวที่พบเจอกับเรื่องนั้นด้วยตัวเอง ใครจะรู้เรื่องดีไปกว่าเจ้าของเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม แม้การสัมภาษณ์เจ้าของเรื่องถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้นที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ก็ควรเก็บข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อป้องกันการเกิดข้อมูลที่เอนเอียง ให้ได้ข้อเท็จจริงรอบด้าน และข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุดด้วย
ผู้อยู่ในเหตุการณ์
หลังจากเก็บข้อมูลเจ้าของเรื่องแล้ว ก็ต้องเก็บข้อมูลจากคนรอบข้าง เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวแปร ก่อนจะขยายความถึงความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุการณ์นั้นๆ เป็นการฟังความทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงสอบถามพยานคนอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นกลางมากที่สุด โดยการสัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ก็ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้นเช่นเดียวกัน
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น
นอกจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว แหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือรองลงมาก็คือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือผู้รอบรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเขามีประสบการณ์ และมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เราต้องการอย่างแตกฉาน โดยบุคคลในกลุ่มนี้มักเป็นอาจารย์จากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง หรือผู้ที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับว่าเป็น “กูรู” ในเรื่องนั้นๆ อาทิ หากต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ COVID-19 ต้องติดต่อไปที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก เป็นต้น
วิจัยหรือรายงานหรือวิจัยที่ได้รับการรับรอง
ไม่ใช่แค่งานวิจัยที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ แต่ต้องมีการรับรองโดยสถาบันที่เชื่อถือได้ มีการตั้งและพิสูจน์สมมติฐานเหล่านั้น รวมไปถึงการบอกผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นชัดเจน ซึ่งโดยปกติแล้ว งานวิจัยที่ถูกต้องจะมีหลักฐานที่อธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างชัดเจน ดังนั้นหากเจองานวิจัยที่อ่านแล้วชวนคิ้วขมวด ก็อย่าลืมดูความถูกต้องของงานนั้นให้ดีล่ะ
ข้อมูลจากสำนักข่าว Official
ในยุคที่ใครก็สามารถเขียนข่าวและกลายเป็นกระบอกเสียงเองได้ ทำให้มีสำนักข่าวเกิดจากบุคคลนิรนามเต็มไปหมด หลายครั้งเป็นการเขียนข่าวโดยเน้นความเร็ว หรือเอนไปทางผลประโยชน์ตัวเอง ก็อาจเกิดการบิดเบือนข้อมูล และส่งผลให้ข่าวที่ได้รับผิดไปจากความจริง
แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือซึ่งเป็นสำนักข่าว จึงควรเป็นองค์กรที่มีความ Official ต้องมีการตรวจสอบได้ โดยอาจดูจากเนื้อหาข่าวที่มีลักษณะเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใส่อารมณ์ หรือเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง มีวิธีการนำเสนอที่ค่อนข้างทางการ และได้รับการยอมรับในระดับสาธารณะ ทั้งนี้หลังจากอ่านข่าวแล้ว อาจต้องพิจารณาถึงสำนักข่าวอื่นเสริม เพื่อความแม่นยำด้วย
หนังสือที่มีแหล่งอ้างอิงชัดเจน
เช่นเดียวกับสำนักข่าว หนังสือ ก็เป็นอีกสิ่งที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ เมื่อเริ่มมีนักเขียนมากขึ้น ก็ยิ่งต้องตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาเขียนให้ดี ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอ้างอิง ที่มาของข้อมูล หรือแม้กระทั่งบทวิเคราะห์ว่ามีความสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือเพียงใด
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลไหนก็ตาม ควรพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ ไม่ควรยึดเอาข้อมูลจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเป็นหลัก การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล เพราะการสร้างคอนเทนต์หมายถึงเรื่องที่เรากำลังจะส่งออกไป มีผลต่อความคิดและการรับรู้ของผู้อ่านได้มาก ยิ่งเมื่อเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นครั้งแรก ยิ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อในภายหลง จนถึงขั้นต่อต้านความเชื่ออื่นได้เลยทีเดียว