5 วิธีรับมือกับเสียงตอบรับด้านลบบนโซเชียลมีเดีย สำหรับคนทำคอนเทนต์

เชื่อว่าหลายคนหรือแทบจะทุกคนที่เป็น Content Creator คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ แอดมินเพจ หรืออะไรก็ตาม จะต้องเคยเจอกับเสียงด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นการโดนด่า โดนดราม่า หรือโดนถล่ม จากคอนเทนต์ที่เราสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม คอนเทนต์นั้นอาจจะไม่เข้าหูคน อาจจะเล่นไปโดนประเด็นอ่อนไหว หรืออาจจะมาจากข้อมูลที่ผิดพลาด ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจไม่ตั้งใจ รู้หรือไม่รู้ ก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโดนดราม่านั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกเฟลและหมดกำลังใจอยู่ไม่น้อย และทุกคนต้องเจอ

วันนี้ทีมงาน RAiNMaker ในฐานะเพื่อนสายคอนเทนต์ จะมาแนะนำ 5 วิธีรับมือกับการโดนดราม่า โดนด่า โดนแชร์ไปด่า โดนกระหน่ำกด Angry หรือโดนอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบ อับอาย เสียใจ หมดกำลังใจ หรืออะไรก็ตาม ว่าเราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

1. หาเหตุผลก่อนว่าเพราะอะไร เราผิดตรงไหน ไม่ผิดตรงไหน แล้วแก้ยังไง

ก่อนจะปล่อยให้อารมณ์และความรู้สึกมาครอบงำ เราควรจะมองไปที่ต้นเหตุก่อนว่าอะไรทำให้เราโดนคอมเมนต์ หรือคนที่ติดตามเราพูดแบบนั้นออกมา อย่าแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเพราะสุดท้ายเราก็จะไม่สบายใจอยู่ดี ให้อ่านทุกคอมเม้นเลยว่าเขาบอกว่าอะไร (ซึ่งเวลาเกิดกรณีแบบนี้หลายคนก็น่าจะรู้อยู่แล้วในใจว่าเพราะอะไร)

อาจจะมาจาก การทำคอนเทนต์ผิด, การหาข้อมูลผิดพลาด หรือการเจอคนที่รู้มากกว่าเยอะกว่าเรา ไม่ว่ามันจะเป็นความผิดของเราหรือไม่ก็ตาม อย่าเพิ่งมองว่าเป็นความผิด ให้มองว่าเป็นปัญหา จากนั้นให้คิดว่าเราควรทำอะไรต่อไป ควรขอโทษไหม หรือควรปล่อยผ่าน หรือควรป้องกันปัญหาแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกยังไง

2. ยอมรับให้ได้ว่าคนยุคนี้แสดงออกง่าย คนเราโดนว่ากันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่โซเชียล แต่ทำให้โอกาสที่เราจะเห็นมันมีเยอะขึ้น

ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลอะไรก็ตาม คอมเม้นหรือการแสดงออกเหล่านั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งต้องมาดูความเป็นจริงกันก่อนว่าทุกคนนั้นเคยทำผิดพลาด และทุกคนนั้นไม่มีใครถูกชอบ 100% หรือถูกเกลียด 100% ต่อให้คนที่ดีที่สุดในโลกก็ยังต้องถูกมองในแง่ลบอยู่บ้าง

โซเชียลมีเดียคือสิ่งที่ทำให้เราเห็นข้อความเหล่านี้เยอะขึ้น แล้ววัตถุประสงค์มันก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว คือเราเล่นโซเชียลเพราะเราต้องการรู้ว่าคนอื่นคิดกับเรายังไง หรือมีข้อความไหนกล่าวถึงเราบ้าง ซึ่งตัวโซเชียลมันจะฟีดเราด้วยการเอาสิ่งเหล่านี้มาแสดง มาแจ้งเตือน หรือทำให้เราเห็นข้อความเหล่านี้ง่ายกว่าในโลกนอกโซเชียลมีเดีย

ลองนึกดูว่าถ้ามี Notification แจ้งเตือนทุกครั้งที่มีคนพูดชื่อเราในชีวิจจริง เราจะเป็นทุกข์และหวาดระแวงแค่ไหน แล้วทำไมเราจะต้องมาคิดมากกับข้อความบนโซเชียล ที่ก็ไม่ได้ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงเลย เพียงแค่มันถูกนำมาแสดงให้เราเห็นง่ายขึ้นเท่านั้น

3. ตอบกลับอย่างตรงไปตรงมา ถ้าผิดให้รับความผิด อย่าแถ ถ้าแถเมื่อไหร่เละเมื่อนั้น และห้ามลบคอมเม้นเป็นอันขาด

เงียบไปซะยังดีกว่าแถ แม้การเงียบจะยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ก็ยังดีกว่าการแถ หลายกรณีที่มีดราม่าขึ้นบนโซเชียลมีเดียแล้วคนที่ถูกดราม่าหรือเจ้าของคอนเทนต์นั้นใช้วิธีการแถ ผลที่ได้ออกมาจะเละมาก เพราะสุดท้ายแล้วการแถนั้นยังไงก็ดูออก แล้วก็จะยิ่งเพิ่มความผิดให้เราไปอีกเท่าตัว หรือถ้าเราไม่ผิดหรือไม่ชัวร์ว่าเราผิด การแถก็จะทำให้เรากลายเป็นด้านลบในทันที แล้วเราจะเสียเปรียบไม่ได้

แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือการเดินตรงเข้าไปยังปัญหา อธิบายว่าเกิดจากอะไร เพราะอะไร รวมถึงคำขอโทษก็ไม่ได้ทำให้เราต้องเสียอะไร ถ้าไม่รู้ว่าจะขอโทษเรื่องอะไรก็คิดซะว่า ขอโทษที่ทำให้เขาต้องเสียเวลาก็ได้ และดีกว่านั้นก็คือการขอบคุณ เช่นกัน ถ้าไม่รู้จะขอบคุณอะไรก็ให้ขอบคุณที่อย่างน้อยเขาก็สนใจในสิ่งที่เราทำ

4. ทุกคนที่ทำคอนเทนต์โดนแบบนี้เหมือนกันทุกคน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

อันนี้คือความจริงของทุกสิ่ง ไม่ว่าคุณจะเป็น บก. เว็บไซต์ชื่อดัง เป็นยูทูบเบอร์ที่มีคนติดตามหลักแสน เป็นบล็อกเกอร์ เป็นนักเขียน นักวาด อะไรก็ตามที่ถือว่าเป็นคอนเทนต์แล้ว ทุกคนเคยโดนอะไรแบบนี้มาหมด ไม่เชื่อไปลองไล่ถามรายคนได้ อย่างน้อยก็ต้องเคยทำคอนเทนต์ผิด, ดันไปก่อดราม่า มีคนด่า คนว่า ทุกอย่าง

ดังนั้นถ้าไม่มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ก็ลองคิดดูว่าเราอยากเป็นคนทำคอนเทนต์อยู่หรือเปล่า เรายังอยากเป็นต้นไม้อยู่หรือเปล่าถ้าเรากลัวการผลิใบ ถ้าคิดแบบนี้ได้เราก็จะเปลี่ยนจากความรู้สึกแย่ ๆ มาเป็นการรับมือกับมันมากกว่า

5. ช่างแม่ง

การช่างแม่งไม่ใช่การช่างมัน หรือไม่รับผิดชอบ แต่ในหนังสือ The Subtle of Not Giving A Fuck ได้ทำการอธิบายว่า คนเรานั้นจะทีความคิดที่ทำให้เกิดเป็นลูป เช่น ฉันโดนคนด่าเพราะฉันเขียนข้อมูลผิด ก็จะคิดต่อว่า ฉันนี่มันแย่จริง ๆ ฉันเลยเศร้า พอคิดแบบนี้ก็จะคิดต่ออีกว่า ฉันนี่มันขี้แพ้จริง ๆ ถึงได้คิดแบบนี้ จะเห็นว่ามันจะดิ่งลงลึกเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วเราสามารถรู้สึกรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็อย่าไปลงกับมัน แค่รับรู้ก็พอ อย่าไปดิ่งกับมัน

ถ้าเราคิดว่าเราได้ทำสิ่งที่เราควรทำหมดแล้ว แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเรายังแย่ หรือมันไม่ดีขึ้น ก็ให้ใช้ความช่างแม่งนี้ดับวงจรความรู้สึกแย่ ๆ นี้ซะ

สรุปแล้วทุกขั้นตอนก็จะอยู่กับการสร้างการรับรู้ของตัวเองว่า ทุกคนนั้นพลาดได้ ใคร ๆ ก็เคยพลาด และยังพลาดอยู่ ไม่ว่าเราจะโดนดราม่า โดนกระหน่ำกด Angry โดนสวนกลับว่าข้อมูลผิด การไม่หนีปัญหาและการทำความเข้าใจมัน นอกจากจะทำให้เรามีความเป็นคนทำคอนเทนต์มืออาชีพแล้ว ยังทำให้เราสามารถรับรู้ข้อผิดพลาดไปปรับปรุงแก้ไขได้ Elon Musk ยังบอกว่า Failure is an option คือคนเราต้องมีความผิดพลาด ถ้าเราไม่รู้จักความผิดพลาด เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะต้องแก้ไขตรงไหน ทั้งนี้ไม่ว่าคุณจะโดนด่าหรือโดนดราม่าแบบไหน อย่าเพิ่งถอดใจ เราขอเป็นกำลังใจให้คนทำคอนเทนต์ทุกคน

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save