วิธีทำคอนเทนต์สำหรับสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาสังคม เชิงโครงสร้าง

รถติด รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ การศึกษาไม่มีคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม มลภาวะทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โรคระบาด ความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ การเหยียดชาติพันธ์ุ ความยากจน ทั้งหมดนี้และอีกหลาย ๆ ปัญหาที่เป็นปัญหาที่ดูเหมือนยากที่จะแก้ ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็ยากที่จะแก้ เนื่องจากปัญหาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่ได้แก้ได้ด้วยการให้บุคคลหรือองค์กร หรือรัฐบาล สามารถแก้ไขได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หมายความว่าทุกอย่างต้องไปด้วยกัน

ในขณะที่คอนเทนต์ที่ช่วยในการแก้ปัญหาเหล่านี้อาจจะไม่ถูกพูดถึงบ่อยเหมือนกับคอนเทนต์บันเทิงหรือให้ความรู้ แต่ถ้าเราลองพูดยกตัวอย่างในไทย เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะเคยได้ยิน ThisAbleMe ซึ่งให้ความรู้และเรียกร้องปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของความหลากหลายทางร่างกาย หรือลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ที่ต้องการแก้ไขปัญหาขยะและช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไปจนถึง MayDay ที่ทำเรื่องการขนส่งสาธรณะให้มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของการ “ทำคอนเทนต์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เราเชื่อว่าในไทยเองก็มีอีกหลาย ๆ เจ้าที่ทำคอนเทนต์แนวนี้ หรือมีอีกหลาย ๆ คนที่อยากจะลุกขึ้นมาสร้าง Impact กับสังคม ในหัวข้อ หรือศาสตร์ที่เราถนัดเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะจริง ๆ แล้ว เราเคยพูดในบทความเรื่อง แนวคิดการทำสื่อแบบมีเป้าหมาย ทำอย่างไรไม่ให้แค่ลงคอนเทนต์ไปวัน ๆ ว่าการทำคอนเทนต์ควรมีเป้าหมาย ถ้าไม่นับการเพิ่มยอดขาย การสร้างความบันเทิง หนึ่งในเป้าหมายของการทำคอนเทนต์ก็อาจจะเป็น การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนกัน

ถ้าเราแนวคิดด้านบนมารวมกับบทความเรื่อง เทคนิคการทำคอนเทนต์ให้เปลี่ยนใจคน เราจะพบว่าเราสามารถใช้คอนเทนต์ ในการเปลี่ยนความคิดของคนได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเรามีเป้าหมายคือการแก้ปัญหาสังคม แล้วเรามีเครื่องมือคือคอนเทนต์ที่สามารถเปลี่ยนใจคนได้ เราก็สามารถใช้การทำคอนเทนต์ มาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แน่ ๆ

แล้วเราจะเข้าใจโครงสร้างของการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร

มีโมเดลนึงที่น่าสนใจมากของ Joanna Macy ซึ่งเธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และนักเขียน เธอได้คิดแนวคิดเรื่อง Great Turing ขึ้นมา Macy แบ่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงออกเป็น 3 แบบ แต่ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจคำว่า Authority หรือผู้มีอำนาจ และ Power หรือพลัง โดยเราในฐานะคนธรรมดา ไม่ได้มี Authority เท่ากับรัฐมนตรี หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย (สมมติเราไม่คิดเรื่องเรื่องระบอบรัฐสภา หรือประชาธิปไตยตัวแทน) และ Power คือพลัง พลังคือสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็น Hard Power หรือ Soft Power ก็ตาม ซึ่ง 3 อย่างที่ Macy พูดถึงก็ได้แก่

  • แบบแรกคือการต่อต้านหรือ Resisting อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เจอปัญหาแล้วต่อต้าน ประท้วง เดินขบวน การทำแบบนี้ยกตัวอย่างก็เช่นการจัด Flash Mob ไล่รัฐบาล, น้อง Greta Thunberg วิธีนี้จะเห็นผลไวมากหากรัฐหรือผู้มีอำนาจ Authority เห็นด้วย หรือทนต่อ Power ไม่ไหว อันนี้จะง่ายสุด คิดน้อยสุด แต่ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้เลย
  • แบบที่สองคือการสร้างโครงสร้างตัวเลือก คือการหาสิ่งใหม่ ๆ มาทดแทน เช่น ถ้าแท็กซี่ไม่รับก็ใช้บริการ Grab, ถ้าไม่พอใจระบบเงินตราก็ไปใช้ Blockchain ซึ่งเราจะเห็นว่าพวกนี้ ไม่ได้ถูกกฏหมายมาตั้งแต่ต้น แต่มาถูกทีหลังเพราะ Structures นั่นมัน Proof แล้วว่าแก้ปัญหาทางสังคมได้ อย่าง Blockchain นี่เห็นได้ชัดมาก Grab ก็ชัด อธิบายง่าย ๆ คือ ทำ ๆ ไป ถ้าดีเดี๋ยวมีคนมาใช้เอง และซักวัน Authority ก็จะเห็นดีเห็นงามกับมัน
  • แบบสุดท้ายคือเปลี่ยนการรับรู้ การให้ Value ก็คือค่อย ๆ Educate คนไปเรื่อย ๆ จนทุกคนเห็นด้วย วิธีการนี้จะคล้ายกับช่วงยุคเรเนซองส์ หรือยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ที่กาลิเลโอ เคอเปอนิคัส ไม่ได้ออกมาประท้วง แต่ใช้วิธีการเขียนหนังสือไปเรื่อย ๆ และ Educate คน วิธีนี้จะยั่งยืนมาก แต่จะใช้เวลานาน และต้องคิดเยอะที่สุด

เราจะพบว่าแนวคิดนี้ ค่อนข้างอธิบายการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้อย่างครอบคลุม และไม่ได้บอกว่า วิธีไหนถูกหรือผิด ไม่ได้บอกว่าการไปประท้วงหรือการขัดขืน การไปทำแคมเปญใน Change.org เป็นสิ่งที่ผิด แล้วก็ไม่ได้บอกว่า การค่อย ๆ เขียนบทความ ทำคอนเทนต์อธิบาย เป็นสิ่งที่โง่ ทำไปก็ไม่เป็นผล

นั่นหมายความว่าไม่ว่าเราจะทำคอนเทนต์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ก็แล้วแต่วิธีการที่เราจะถนัด คือจะไป เย้ว ๆ จริง ๆ ถ้าเราถนัดแบบนั้นก็ไม่ได้ผิดอะไร หรือจะใช้วิธีการยิงคอนเทนต์แทรกซึมฝังหัวคนไปเรื่อย ๆ หรือจะใช้วิธีการหา Alternative Structure หรือโครงสร้างที่มันดีกว่า (เช่น Mayday ทำแผนที่รถเมล์เอง ไม่ต้องง้อ ขสมก.) ก็ได้

สุดท้ายแล้ว ก็อย่าลืมว่าพลังของการทำคอนเทนต์นั้นมีมากกว่าที่คิด และถ้าเราใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็จะยิ่งดีมาก ๆ เช่นกัน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

 

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save