JournalismWebsite

Avatar

Nutn0n September 15, 2019

ทำคอนเทนต์ให้มีคุณค่า ดูฉลาด และ มีประโยชน์จริง ๆ ตามทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom

เคยสงสัยไหมว่าทำไมคอนเทนต์บางตัวจากเว็บอย่าง The Standard, The Matter, 101 หรือหลาย ๆ สื่อที่ไม่ใช่แค่บอกเล่าเรื่องราวว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน พออ่านแล้วมันทำให้เราเกิดความคิดอะไรใหม่ ๆ หรืออ่านแล้วรู้สึกว่าบรรลุอะไรซักอย่าง อาจจะพออธิบายได้ง่าย ๆ ว่าเพราะมีการวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่เล่า แล้ววิเคราะห์อย่างไร ? เราจะทำคอนเทนต์แบบนั้นบ้างได้หรือเปล่า ในแบบที่มีคุณค่า ดูฉลาด 

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนนำเทคนิคนี้มาใช้กับการเขียนที่ Spaceth.co ด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเด็นในเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นอะไรที่การบอกเล่าว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับวิธีคิดและกระบวนการได้มาซึ่งความรู้นั้น ๆ ทำให้การนำสิ่งที่จะเล่าต่อจากนี้มาใช้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ

สิ่งที่จะนำมาใช้อธิบายการที่เรารู้สึกว่าคอนเทนต์มันฉลาด เป็นมากกว่าแค่บอกเล่า ก็คือทฤษฎีที่ชื่อว่า Bloom’s Taxonomy of Learning Domains ซึ่งจริง ๆ แล้วโมเดลนี้นำมาใช้อธิบายรูปแบบของการเรียนรู้ ส่วนมากจะถูกนำไปใช้สำหรับการร่างหลักสูตรการสอนต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าการสอนก็เป็นคอนเทนต์แบบหนึ่ง หรือการทำคอนเทนต์ก็สามารถเป็นการสอนได้

สิ่งที่ Bloom อธิบายเอาไว้ คือเขาแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 6 ระดับตามแผนภาพด้านล่าง

  • Remember คือการจดจำ ทำตาม ทำซ้ำ รับรู้
  • Understand คือการเข้าใจ จำแนกได้ รายงาน (เรียบเรียงเป็นภาษาตัวเอง) อธิบายได้
  • Apply คือการนำไปใช้ หรือบริหารจัดการสิ่งนั้น แก้ปัญหา ใช้งานเป็น
  • Analyze คือขั้นของการทดลอง ตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์เชิงลึก
  • Evaluate คือการประเมิน โต้เถียง โต้แย้ง วิพากษ์ หรือเปรียบเทียบระหว่างสองสิ่งหรือมากกว่าได้
  • Create สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาได้ พัฒนา

พอเห็นแบบนี้แล้ว เราก็อาจจะพอเดาออกว่า การบอกว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรนั้น เพิ่งจะอยู่ในขั้นของการ Remember เอง เป็นขั้นแรกที่ง่ายที่สุด ดังนั้นเวลาที่เราทำคอนเทนต์ ถ้าเราตั้งเป้าหมายให้ลึกขึ้นเรื่อย ๆ ขั้น understand, apply, analyze ได้ ก็จะดีมาก ๆ

เราลองมาตั้งหัวข้อคอนเทนต์กันตาม Domain ต่าง ๆ ของ Bloom กันบ้าง สมมติว่า iPhone 11 เปิดตัว เราจะทำคอนเทนต์อะไรให้ดูฉลาด

  • Remember = “Apple เปิดตัว iPhone 11 กล้อง 2 ตัว ถ่ายมุมกว้างได้”
  • Understand = “เหตุผลที่ Apple เลือกใส่กล้อง 2 ตัวลงใน iPhone 11”
  • Apply = “กล้อง 2 ตัวบน iPhone 11 เทคนิคสำหรับ Blogger นำไปถ่ายงานให้ดูโปรเหมือนใช้ DSLR”
  • Analyze = “กล้อง 2 ตัวบน iPhone 11 สามารถนำมาใช้งานในทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ได้หรือเปล่า”
  • Evaluate = “Apple คิดถูกหรือเปล่าที่ใส่กล้องมุมกว้างมาแทนกล้อง Tele บน iPhone 11”
  • Create = “อัลกอริทึมของกล้อง iPhone 11 ทำงานอย่างไร วิธีทำกล้องแบบ iPhone 11”

อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้ เราต้องอธิบายออกมาโดยพาคนอ่านคิดไปด้วยกัน ไม่ใช่การเอาบทวิเคราะห์ของคนอื่นมาเขียนต่อมาแปล ไม่งั้นมันอาจจะกลับไปแค่ขั้น Remember ได้

ดังนั้นคนเขียนนั้นแหละคือคนสำคัญมาก หากเราจะทำคอนเทนต์ในเรื่องอะไร ลองใช้หลักของ Bloom ประเมินดูว่าเราสามารถลงลึกกับคอนเทนต์นั้นได้แค่ไหน และนั้นคือขั้นที่เราจะพาคนอ่านไปได้ ถ้าเราแค่จำมาเขียน เขียนตาม ต่อให้บทความต้นฉบับเป็นขั้น Analyze หรือ Evaluate เราก็จะทำได้แค่ Remember มาเขียนตาม ให้คนอ่าน Remember ต่อไปอยู่ดี

ดังนั้นถ้าเราอยากให้คอนเทนต์เราดูฉลาด และมีประโยชน์ เราต้องทำให้คนอ่าน “บรรลุ” ถึงขั้นที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เป็นเทคนิคที่คนทำคอนเทนต์ควรรู้ และเวลามีโจทย์อะไรเข้ามา ก็ลองทำคอนเทนต์ถึงขั้นลึก ๆ ที่มากกว่าแค่บอกว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ดู

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save