ถอดสูตรการสื่อสารแคมเปญเลือกตั้ง PR ยังไงให้เก่งแบบ ‘ทีมชัชชาติ’

ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่เรื่อย ๆ สำหรับการ PR ของ ‘ทีมชัชชาติ’ ตั้งแต่แคมเปญการเลือกตั้งมาจนถึงวันที่อาจารย์ชัชชาติได้เป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ ซึ่งกว่าจะมาถึงเส้นชัยในครั้งนี้เรียกได้ว่าทั้งอาจารย์ชัชชาติ และทีมเองต่างก็ทำงานหนักกันมาพอสมควร

เนื่องจากในสนามการเลือกตั้ง “ผู้ชนะเท่านั้นที่จะได้ทั้งหมด” แถมยังต้องทำงานกับความคาดหวังจากคนอีกเป็นล้านคน เพราะฉะนั้นการสื่อสารแคมเปญแต่ละอย่างจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งสำหรับการเมืองที่เปรียบเสมือนการตลาด ที่เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าในแต่ละวันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ การวางแผน เตรียมกลยุทธ์ และความพร้อมของทีมสำหรับรับทุกสถานการณ์

จากที่ RAiNMaker ได้สัมภาษณ์ ‘คุณปราบ เลาหะโรจนพันธ์’ Communications Strategy หนึ่งในตัวแทนทีมชัชชาติ วันนี้เราจะมาถอดสูตรการสื่อสารแคมเปญที่ดีในแบบทีมชัชชาติให้ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ในการทำแคมเปญกัน!

Core Values ฉบับอาจารย์ชัชชาติ

ก่อนเริ่มทุกแคมเปญแน่นอนว่าจะต้องมีการตั้ง Core Values ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางหลักในการสื่อสารแคมเปญออกไป ซึ่งอาจารย์ชัชชาติก็ได้เริ่มจากการตั้งคำถาม 3 ข้อกับทีมชัชชาติ ดังนี้

1. เชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำจริงหรือไม่?

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย หรือการสื่อสารต่าง ๆ อาจารย์ชัชชาติจะถามเพื่อย้ำความแน่ใจกับทีมว่าเชี่ยวชาญในสิ่งที่จะทำจริงหรือไม่ เพื่อให้กระบวนการทำงานราบรื่น และผลงานออกมาดีที่สุด

2. สิ่งที่ทำมีความจำเป็นไหม?

ต่อมาคือการทบทวนว่าสิ่งที่เคยทำยังมีความหมายกับผู้คน หรือยังจำเป็นอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน จึงทำให้ทีมชัชชาติเกิดคำถามว่าการสื่อสารในแบบเดิม ๆ ยังใช้ได้อยู่ไหม

จนเกิดเป็นการสื่อสารแคมเปญในรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาอย่างที่เห็น ไม่ว่าจะเป็น TikTok เพื่อนชัชชาติ, เพลงแรป 200 นโยบายใน 2 นาที หรือการใช้การ์ตูนในการสื่อสาร เป็นต้น

3. สนุกกับสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่า?

ความสนุกที่กลายมาเป็น Core Values หลักของทีมชัชชาติ โดยคุณปราบขยายความเพิ่มเติมว่าหากเราไม่สนุก อาจทำให้ผลงานออกมาได้ไม่ดีพอเท่าที่ควร อาจารย์ชัชชาติจึงมักจะถามทีมเสมอว่า “ยังสนุกอยู่ไหม?”

หลักการ PR แคมเปญของทีมชัชชาติ 

สร้างความเชื่อใจผ่านการสื่อสาร

เริ่มจากตัวอาจารย์ชัชชาติที่สร้างความเชื่อใจให้กับทีม จนสิ่งนั้นกลายเป็น Value ที่สำคัญในการสื่อสารแคมเปญต่อไป รวมถึงการสร้างความเชื่อใจให้กับประชาชนว่าเราจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง ทีมชัชชาติจึงตั้งคำถามต่อว่า “แล้วจะสื่อสารความเชื่อใจนี้ออกไปอย่างไร?”

ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องความเชื่อใจไม่ใช่เรื่องที่พูดได้ง่าย ๆ ด้วยปากเปล่า โดยเฉพาะการสื่อสารการเมือง ที่ต่อให้พูดดี หรือพูดถูกต้องแค่ไหน หากผู้พูดไม่มีความน่าเชื่อถือคนก็ไม่เชื่อใจ ในทางกลับกันหากเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ไม่ต้องพูดเยอะคนก็ให้ความเชื่อใจ

คุณปราบเล่าให้ฟังว่า ทีมชัชชาติจึงหาสมดุลระหว่างทฤษฎี Media Richness การสื่อสารข้อมูลในปริมาณมาก เพื่อสร้างความเชื่อใจ และ Hyperpersonal Model การสื่อสารข้อมูลในปริมาณที่น้อย แต่สร้างความเชื่อใจได้ เพื่อสร้างความเชื่อใจให้ได้มากที่สุด จึงเกิดเป็นการวางไกด์ไลน์ในการสื่อสารผ่านแคมเปญ ดังนี้

มีเรื่องสำคัญต้องพูดทันที

สิ่งสำคัญในการสื่อสารคือ การเลือกเวลาที่เกี่ยวข้องกับคน เช่น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ประชาชนต้องการคำตอบ ก็ต้องเตรียมคำตอบเพื่อสื่อสารกับประชาชนได้ทันที

ใช้การ์ตูนสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

หนึ่งในไอเดียที่ผลักดันให้การสื่อสารถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบการ์ตูน ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารแคมเปญเลือกตั้งทั่วไป แถมยังสามารถนำเสนอความสนุกออกมาได้ดี

นอกจากนี้ การใช้การ์ตูนในการสื่อสารแคมเปญการเลือกตั้งในครั้งนี้ ถือเป็นการลบภาพจำความจริงจังของแคมเปญลง และยังเพิ่มการเข้าถึงง่ายขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เกินความคาดมายของประชาชนอีกด้วย

ทำคอนเทนต์แบบ Less is more น้อยแต่มากในด้านคุณภาพ

สังเกตได้ชัดว่าเพจของอาจารย์ชัชชาติจะไม่โพสต์ภาพรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา เนื่องจากทีมชัชชาติมองว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ ๆ สื่อทำอยู่แล้ว ทีมจึงให้เกียรติสื่อในการทำหน้าที่ตรงนี้ จะได้ไม่ต้องแย่งทราฟิกการเข้าถึงคอนเทนต์กันอีกด้วย

รวมถึงโพสต์ที่เป็นโควตคำพูด ถึงแม้ว่าโควตจะเป็นสิ่งที่ไวรัลในการสื่อสารแคมเปญเลือกตั้งก็ตาม แต่สำหรับเพจอาจารย์ชัชชาติแล้ว ทีมงานมองเพจเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งก็คือ อาจารย์ชัชชาติ และก็ได้ค้นพบว่าอาจารย์ไม่ชอบการนำคำพูดของตัวเองมาพูดซ้ำ

จึงเลือกที่จะตัดคอนเทนต์ประเภทโควตออกไป เพื่อจำกัดโพสต์ที่ไม่จำเป็น จะได้ไม่ดึงยอดเอนเกจเมนต์ในเพจนั่นเอง

คำนึงถึงความสำคัญและประโยชน์ต่อคนอ่าน

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทีมชัชชาติบอกกับเราคือ การคำนึงถึงผู้รับสารเป็นหลัก และสื่อสารเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพื่อสร้างความเชื่อใจในตัวอาจารย์ชัชชาติมากขึ้น

Dream Team ในแบบทีมชัชชาติ

‘เพื่อนชัชชาติ’ พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่

ต้นกำเนิด TikTok และ Twitter เพื่อนชัชชาติ มาจากทีมชัชชาติมองเห็นว่าพลังแห่งการสร้างสรรค์นั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่างานหลัก จึงมอบพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ลองใช้ไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบหรือยืนยันก่อนเผยแพร่ แต่ใช้ความเชื่อใจที่มีต่อทีม

จ่ายงานตามความเชี่ยวชาญ และไว้ใจทีม

คุณปราบกล่าวว่า ขั้นตอนการตรวจสอบงานแสดงถึงการไม่ไว้ใจในผลงานของคนในทีม เพราะฉะนั้นในการมอบหมายงานจึงต้องมั่นใจว่าคนนั้นมีความเชี่ยวชาญจริง และเราเองก็ต้องไว้ใจให้ทีมได้ลองทำ ซึ่งก็ตอบโจทย์ตาม Core Values ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก

เข้าใจกลยุทธ์ และวิธีการทำงานตรงกัน

สร้างความเข้าใจตรงกันในทีมให้มีเป้าหมายเหมือนกัน มองเห็นภาพเดียวกัน เพื่อที่การทำงานจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งนี้จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องรอการยืนยันจากใครหลายคน เพราะถือว่าแค่ทีมมองเห็นภาพเดียวกัน นั่นแปลว่ามาถูกทางแล้ว

คุณปราบเสริมว่า สำหรับทีมชัชชาตินั้น เริ่มมองหาคนร่วมทีมจากการมีเป้าหมายร่วมกันนั่นก็คือ ความมุ่งมั่นอยากจะ “ทำให้กรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ขึ้น” จากนั้นสำหรับการทำงาน นิสัย อารมณ์ หรือด้านอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ต้องปรับจูนให้เข้ากันอีกที

เปิดโอกาสให้อาสาสมัครมีส่วนร่วม

จะเห็นได้ว่าทีมชัชชาติให้ความสำคัญกับการทำระบบอาสาสมัครอย่างจริงจัง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง LINE OA ให้อาสาสมัครลงทะเบียนสมัคร โดยเป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ในการนำมาพัฒนาแก้ปัญหาต่อ

ซึ่งระบบอาสาสมัครนี้ทำให้ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทีมชัชชาติยังมีการแจกเสื้อ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ให้กับอาสาสมัคร เพื่อแสดงถึงการเป็นหนึ่งเดียว และเพื่อเป็นการขอบคุณอีกด้วย

และที่สำคัญการเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมนั้น ยังมี Traffy* Fondue ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแจ้งปัญหาทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อที่ทีมชัชชาติจะนำไปแก้ไขปัญหาต่อด้วย เรียกได้ว่าเป็นการคิดแคมเปญที่ครอบคลุมการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงมาก ๆ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะช่วยกันทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ได้จริง

และนี่ก็เป็นการสรุปสูตรการสื่อสารแคมเปญในฉบับ ‘ทีมชัชชาติ’ ที่เรานำมาฝากทุกคนกัน และเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ให้นำไปต่อยอดในการทำแคมเปญได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ชมคลิปรายการแบบเต็ม สามารถรับชมคลิปวิดีโอรายการ iCreator Insight EP.1: เจาะลึกแคมเปญเลือกตั้ง ‘ทีมชัชชาติ’ ได้ที่

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save