การตั้งคำถาม คือหนึ่งในวิธีการที่เราใช้ในการเรียนรู้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ หลายคนอาจจะคงเคยได้เรียนเรื่องของโสเครติส นักปราชญ์ในสมัยกรีกโบราณที่ใช้การเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถาม แม้ว่าสุดท้ายเขาจะตายเพราะตั้งคำถามมากเกินไปก็ตาม (สมัยนี้ก็ยังมี) เราจะเห็นว่าการเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ถูกใช้งานมาโดยตลอด
ก่อนที่เราจะรู้ว่าทำไมมนุษย์ต้องตั้งคำถาม เราต้องเข้าใจแนวคิด 2 อย่างที่ถูกอธิบายไว้โดยนักปรัชญาก่อน ได้แก่แนวคิด วิมตินิยม (Skeptictism) และแนวคิดแบบมตินิยม (Dogmatism)
- มตินิยมคือการเรียนรู้ผ่านการทำตาม การเชื่อ ท่องจำ การรับรู้ และยอมรับว่ามันเป็นเช่นนั้น
- วิมตินิยม คือการคิดแบบตั้งคำถาม ถามว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ มีกรณีใดอีกที่มันจะไม่เป็นเช่นนั้น
เราเคยนำแนวคิดเรื่อง Skeptic หรือการตั้งคำถามมาเล่าให้ฟังในกรณี การรู้เท่าทันข่าวปลอม แล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้ว แนวคิดแบบ Skeptictism นั้นถูกนำมาใช้ในการสู้กับ Fake News มาพอสมควร แต่จริง ๆ แล้วการทำคอนเทนต์โดยใช้แนวคิดแบบ Skeptic นั้นก็มีความสำคัญมาก ๆ และช่วยให้คอนเทนต์ของเราออกมาโดดเด่นและชวนคิดจริง ๆ มีความลึก
ทำไมการตั้งคำถามถึงสำคัญต่อการทำคอนเทนต์
ในบทความเรื่อง ทำคอนเทนต์ให้มีคุณค่าตามทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom เราได้พูดถึงระดับขั้นของการทำคอนเทนต์ที่ชวนคิด บอกว่าการทำคอนเทนต์ที่ง่ายที่สุดคือการให้ข้อมูลท่องจำ ใคร ทำ อะไร ที่ไหน บอกให้รู้ แจ้งให้ทราบ ซึ่งเรามองว่าตรงกับการทำสิ่งที่เป็น Dogmatism ถ้าเราต้องการให้คอนเทนต์ของเราชวนคิดและลงลึก เราต้องไปในขั้นต่อไป ได้แก่การ Understand, Apply หรือ Analise ซึ่งการที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ การตั้งคำถามถึงสำคัญมาก ๆ เพราะการตั้งคำถามสอนให้เรามองนอกจากกรอบของข้อมูลที่ได้รับมา การตั้งคำถามคือการบอกว่า สิ่งที่เรารับรู้มานั้นไม่มีวันเพียงพอ
ส่วนคำตอบว่าทำไมการตั้งคำถามถึงสำคัญต่อการทำคอนเทนต์ ก็เพราะว่าในการทำคอนเทนต์ ถ้าคอนเทนต์ของเรามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ กับกลุ่มเป้าหมาย ที่เข้ามาอ่านเพราะต้องการที่จะเข้าใจ การตั้งคำถามที่ดี ชวนคิดวิเคราะห์ก็จะช่วยให้พาผู้อ่านลงลึกไปในระดับของ Bloom’s Learning Theory เรื่อย ๆ
การตั้งคำถามอาจจะไม่ได้สำคัญกับคอนเทนต์ที่มีวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ให้ความสบายใจ, ให้ความบันเทิง (แต่บางคนอาจจะบันเทิงกับสาระก็มี), หรือคอนเทนต์แนว ๆ Propaganda, Fake News, IO, ชวนเชื่อ, รักชาติยิ่งชีพ อะไรก็ว่าไป แต่สำหรับวัตถุประสงค์ในการ Educate คน การตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย
5 เทคนิคสำคัญในการตั้งคำถาม และทำคอนเทนต์
เราได้ลองเสนอ 5 เทคนิคที่ช่วยในการตั้งคำถามให้บรรลุผลในการ Educate คนได้ดังนี้
- มีวัตถุประสงค์ในการตั้งคำถาม ต้องรู้ว่าตั้งคำถามไปเพื่ออะไร สมมติว่าเราจะทำคอนเทนต์เรื่อง วัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนา วัตถุประสงค์ของเราอาจจะอยากรู้ว่าในเมื่อไวรัสโคโรนามีมานานแล้ว แต่ทำไมยังไม่มีวัคซีน คำถามอาจจะเป็น หรือว่าการแพร่ระบาดของโคโรนาสายพันธ์ุเดิมไม่อันตราย? (เรียกว่าการตั้งสมมติฐานได้ด้วย) , หรือว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ กับสายพันธุ์เดิมต่างกันอย่างไร พอมีวัตถุประสงค์หรือสิ่งที่จะอยากรู้
- ตั้งเพื่อหาคำตอบจริง ๆ ไม่ใช่ตั้งเพื่อแสดงทัศนคติ หรือตั้งมาโจมตี หลายคนตั้งคำถามโดยไม่ได้ต้องการคำตอบ ตั้งเพื่อแค่อยากจะบอกเฉย ๆ เช่น มนุษย์ไปดวงจันทร์จริงเหรอ ทำไมธงถึงปลิวได้ในอวกาศ (ซึ่งจริง ๆ ถ้าเขาสนใจคำถามนี้จริง ๆ เขาจะไม่มาเที่ยวถามชาวบ้านเพราะมันหาคำตอบเองได้ง่ายมาก)
- มีสมมติฐาน สมตติฐานคือการลองคิดไปตามคำถามของเรา พยายามหาคำตอบด้วยสิ่งที่เรารู้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การตั้งสมมติฐานไม่ใช่การทำขึ้นมาเล่น ๆ วัตถุประสงค์คือการลองเช็คตัวเองก่อนไปหาข้อมูล สุดท้าย คำตอบที่ได้จะตรงกับสมมติฐานหรือไม่มันไม่สำคัญ ไม่ใช่การแพ้ชนะ แต่คือการเข้าใจว่า หลังจากการหาข้อมูล เราได้คิดด้วยข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอ เป็นการบอกว่าในการคิดครั้งหน้า เราต้องมีข้อมูลอะไรอีกบ้างเพื่อประกอบการคิด
- ทำคอนเทนต์ด้วยการเล่าเรื่องไปตามกระบวนการคิดของเรา อย่าเสนอข้อมูลด้วยการบอกอย่างเดียว ไม่งั้นเราตั้งคำถามแทบตายราวกับจะเขียน Paper แต่สิ่งที่เราบอกคน เราบอกไปแค่สิ่งที่เป็นด้านเดียวคือด้านที่เราหาได้ก็กลายเป็นการให้ข้อมูลเชิง Dogmatic กับคนอ่าน แต่คนอ่าน ควรจะได้รู้วิธีคิด กระบวนการคิดของเราว่าทำไมเราถึงหยิบตรงนี้มาพูด ทำไมเราถึงถามแบบนี้
- อย่ากลัวที่จะผิด ต้องบอกว่าบางทีการหาคำตอบ คำตอบของเราไม่มีวันถูก 100% แต่ด้วยการทำคอนเทนต์แบบด้านบน ที่เอากระบวนการคิดของเรามาเปิดเผยให้คนอื่นได้เข้าใจ กลายเป็นว่าคนอื่นที่อาจจะมีข้อมูลอื่นที่เราไม่รู้ หรือสรุปผลได้อีกแบบ เขาจะเข้ามาช่วยกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือเช็คข้อมูลของเราเอง สุดท้ายมันไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งหรือเราแพ้ แต่กลายเป็นว่าเราได้ช่วยสร้างองค์ความรู้ชุดใหม่ขึ้นมา
จะเห็นว่าพลังของการทำคอนเทนต์ด้วยการตั้งคำถามมีสูงมาก ซึ่งกระบวนการแบบนี้ฟังดูแล้วอาจจะเป็นวิทยาศาสตร์จ๋ามาก หรือเป็นเหมือนทำงานวิจัย แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถเอากระบวนการเหล่านี้ไปใช้ได้ในทุกรูปแบบของการทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง, สังคม, วัฒนธรรม, กีฬา ความบันเทิง หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์ การรีวิว หนังละคร สินค้า ซีรีส์
สุดท้ายแล้ววัตถุประสงค์ของเราคือต้องการการสร้างพื้นฐานของกระบวนการคิดที่เป็น Skeptictism ให้กับสังคมนั่นเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER