เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานับจากวันที่เขียนบทความ (15 สิงหาคม 2019) ได้มีกรณีสำนักข่าวแห่งหนึ่ง รายงานข่าวเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ซึ่งสร้างความแตกตื่นในสังคมเป็นอย่างมาก รวมถึงเกิดกระแสต่าง ๆ ขึ้นบน Social Media จนภายหลัง หน่วยงานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ รวมถึงสื่อวิทยาศาสตร์ต้องมาตามแก้ข่าวในที่สุด (แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักเนื่องจากข่าวได้ถูกเผยแพร่ไปแล้วในตอนแรก)
บทเรียนเหล่านี้เป็นกรณีเดิม ๆ เมื่อสำนักข่าว ได้รายงานข่าวที่ไม่ได้มีการอ้างอิงจากแหล่งข่าวที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เช่นกรณีล่าสุดนี้ก็มาจาก Fake News ของ Express.co.uk ซึ่งก็รายงานมั่ว ๆ มาอีกที ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้การอ้างอิงแหล่งข่าว โดยเฉพาะในข่าววิทยาศาสตร์ให้ถูกต้องและเชื่อถือได้ มีวิธีการเขียนข่าวที่เป็นวิทยาศาสตร์จริง ๆ เพื่อให้เวลาที่เราต้องเขียนข่าววิทยาศาสตร์ เราจะได้หาแหล่งข้อมูลได้ถูกต้อง และรายงานด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
ข่าววิทยาศาสตร์แตกต่างจากข่าวอื่น ๆ อย่างไร
จริง ๆ แล้วทุกข่าวนั้นต้องมีการอ้างอิง เหตุผล และที่มาที่ไปอยู่แล้ว เหมือนใบทความเรื่อง รู้จักกับงานเขียนแบบ Evidence-based เพื่อความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ ที่เราบอกว่าเราไม่สามารถยกอะไรขึ้นมาพูดดื้อ ๆ โดยที่ไม่มีอ้างอิงได้ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วเราอาจจะแบ่งข่าวหลัก ๆ ตามมุมมองของผู้เขียนได้ตามนี้
- ข่าวการค้นพบ คือเวลามี Paper ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ออกมา (อธิบายด้านล่างว่า Paper คืออะไร)
- ข่าวเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ คือเวลามีอะไรสำคัญ ๆ จะเกิดขึ้น เช่น ดาวเสาร์เข้าใกล้โลก, จะมีฝนดาวตก, แผ่นดินไหว, ภูเขาไฟระเบิด
ในแบบแรก เวลาที่มี Paper ออกมา เราต้องเข้าใจส่วนประกอบของ Paper กันก่อนและต้องเข้าใจว่ามันคืออะไร อธิบายง่าย ๆ เวลาเราจะวิจัยหรือทดลองอะไรก็ตามจะต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะยืนยันผลได้ก็ต่อเมื่อทำตามกระบวนการและผ่านการ Review โดย Journal หรือวารสารทางวิชาการ (เช่น Nature, Science) ซึ่งคนที่ส่ง Paper ไปให้ Journal และผู้วิจัย, สังกัดผู้วิจัย เช่น อาจารย์ .. จากมหาวิทยาลัย .. ซึ่งก็คือคนที่ทำงานนั้น ๆ นั่นเอง ดังนั้นอย่าสับสนระหว่างเจ้าของ Journal กับ ผู้วิจัย เช่น เว็บ Arxiv จะขึ้นหัวว่า Cornell University แปลว่าเจ้าของ Arxiv คือ Cornell ห้ามไปบอกว่า Cornell ทำวิจัย หรือ ผู้วิจัยอาจจะอ้างอิง Data จาก NASA หรือ NASA เป็นคนช่วย Publish งานวิจัย ห้ามไปบอกว่า NASA ทำ
ดังนั้นเวลามีข่าวการค้นพบ อย่างน้อยเราควรไปสืบหาต้นตอของ Paper ให้ได้ อย่าบอกแค่ว่างานวิจัยเผย แต่ถ้าเราจะต้องไปอ่าน Paper เองอาจจะยาก และไม่เข้าใจ ก็ให้อ้างอิงจากเว็บที่นำข้อมูลจาก Paper นั้นมาย่อย เช่น National Geographic, Wired, BBC ซึ่งเป็นเว็บที่น่าเชื่อถือ และเน้นข่าววิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ หรือมีทีมที่ทำเรื่องวิทยาศาสตร์ ไม่แนะนำให้อ้างอิงสำนักข่าวทั่วไปของต่างประเทศเพราะเราไม่รู้ว่าทีมเขียนมีประสบการณ์กับข่าวแนวนี้มากน้อยแค่ไหน
ส่วนข่าวเหตุการณ์หรือ ปรากฏการณ์ สำคัญต่าง ๆ จะไม่มีการตี Paper ออกมา (แน่หล่ะ ก็มันเพิ่งออกมา) แต่ก็จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น NASA เกี่ยวกับอวกาศ NOAA เกี่ยวกับทะเล มหาสมุทร หรือในไทยเองก็จะมีหน่วยงานเช่นสถาบันวิจัยต่าง ๆ คอยออกข่าวสารต่าง ๆ ในลักษณะของ “News Letter” หรือจดหมายข่าวออกมา หรือจะไปหาแหล่งข่าวจากบุคคลที่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้
วิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับ Event, Logic มากกว่าตัวบุคคล
สิ่งที่ต้องจำเอาไว้เสมอเวลาเขียนข่าววิทยาศาสตร์ก็คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นผลมาจากการอ้างอิง Event ที่เกิดขึ้น แล้วต้องมีหลักฐานปรากฏว่าเกิดขึ้น เช่น มี Paper ออกมา หรือมีการบันทึกอย่างชัดเจน ส่วน Logic นั้นก็คือตรรกะ การคิด ความสมเหตุสมผล ระหว่าง Event กับการบันทึก หรือกับตัวบุคคล ซึ่ง ตัวบุคคลนั้น ไม่สามารถเอามาใช้อ้างอิงได้ เช่น เราไม่สามารถบอกว่า statement นั้นเป็น true หรือ false เพียงแค่ คนที่เราไปถาม, สัมภาษณ์ บอก แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นอาจารย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังเพียงไหน ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ และใจความหลักควรจะเป็นเหตุผลที่มาประกอบ ไม่ใช่ตัวบุคคล
แนะนำแหล่งข่าววิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ
แนะนำแหล่งข่าวที่สามารถนำมาอ้างอิงได้นอกจากเว็บไซต์ของ Journal ก็ให้ดูตามตารางด้านล่างนี้ ซึ่งทาง ACSH หรือ American Council on Science and Health (อารมณ์ประมาณ อย. อิสระ ของอเมริกา) ได้ทำไว้
ดังนั้นเวลาอ้างอิง ควรพยายามดูเว็บในกรอบเขียว ๆ เป็นหลัก พวกสื่ออย่าง CNN, Fox News, Daily Mail, The Telegraph นั้นไม่เหมาะที่จะเอามาอ้างอิงเท่าไหร่นัก
หรือถ้าให้ดีที่สุด ก่อนจะลงข่าวควรปรึกษากับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ในไทย ซึ่งมีมากมายเช่น
- องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
- สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
- สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย
- สมาคมดาราศาสตร์ไทย
และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงนักวิทยาศาสตร์, สื่อออนไลน์ให้ความรู้ต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ ที่พร้อมช่วยกันให้คำตอบหรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เวลาที่มีข้อสงสัยเราควรวิ่งหาคนเหล่านี้ ไม่ใช่อ้างอิงแบบมั่ว ๆ ไปแล้วให้บุคคลเหล่านี้ต้องมาตามเก็บข้อมูลให้เพราะไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขา เป็นหน้าที่ของนักข่าวต่างหากที่ต้องคุยกับนักวิทยาศาสตร์ เพราะสุดท้ายแล้วหน้าที่ของเราคือการเล่าความจริง นักวิทยาศาสตร์คือนักพิสูจน์หาความจริง การทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์และนักสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สังคมได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง