สิ่งที่แบรนด์ เอเจนซี อินฟลูเอนเซอร์ควรรู้! ทำงานอย่างไรให้วิน-วินทุกฝ่าย

ในการทำแคมเปญโปรโมตก็จะมี 3 ตัวละครหลักที่เราคุ้นเคย นั่นก็คือ “แบรนด์, เอเจนซี และอินฟลูเอนเซอร์” แต่ในการทำงานร่วมกันนั้นบางทีก็ดูแสนจะยุ่งยาก เพราะเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของแต่ละฝ่าย

วันนี้ RAiNMaker เลยพามาดูสิ่งที่ทั้ง 3 ฝ่ายควรรู้หากต้องทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในภายหลัง แล้วหยิกหลังกันเองนะคะ!

แบรนด์

  • ทำความเข้าใจอินฟลูเอนเซอร์

หาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีแนวทางไปทางเดียวกับแบรนด์ โดยมองหาคนที่จะสามารถสื่อสารแทนแบรนด์ได้ ที่สำคัญแบรนด์ควรลบภาพจำเดิม ๆ และเปิดใจทำความเข้าใจความแตกต่าง รวมถึงความหลากหลายของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์

ในขั้นตอนการคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ ควรเลือกคนที่ตอบโจทย์และจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ มากกว่าการเลือกคนที่แตกต่างมากไปแล้วสุดท้ายก็จบลงด้วยแบรนด์ต้องนำความเป็นแบรนด์ไปครอบอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมด

  • บรีฟชัดเจน

ต้องมีความต้องการที่ชัดเจน พร้อมข้อกำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ

รวมถึงในขั้นตอนการบรีฟงานก็ควรมีคีย์เวิร์ดและทิศทางของงานที่ต้องการอย่างชัดเจน เพื่อให้เอเจนซีและอินฟลูเอนเซอร์สามารถนำไปทำงานต่อได้ง่ายขึ้น และเพื่อที่งานจะได้ไม่ผิดพลาดไปจากสิ่งที่ต้องการ

  • ให้อิสระอินฟลูเอนเซอร์ในการทำงาน

ไม่นำชุดความคิดของแบรนด์ไปครอบอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมด เพราะนั่นถือเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าแบรนด์ไม่ได้จ้างอินฟลูเอนเซอร์มาเพราะชื่นชอบในความคิดสร้างสรรค์ แต่จ้างมาเป็นเพียงตัวละครที่แบรนด์เตรียมบทไว้ให้แล้วเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายของอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุด ก็คือตัวอินฟลูเอนเซอร์เอง

ซึ่งการที่แบรนด์เข้าไปควบคุมอินฟลูเอนเซอร์มากเกินไป ก็จะทำให้อินฟลูเนเซอร์หมดโอกาสในการแสดงความคิดสร้างสรรค์และสูญเสียความเป็นตัวเอง แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาคือกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์จะสัมผัสได้ถึงความไม่เป็นธรรมชาติ และอาจไม่พอใจจนนำไปสู่ความรู้สึกไม่ดีทั้งต่อตัวอินฟลูเอนเซอร์ และแบรนด์ได้ในที่สุด

นอกจากนี้ไม่ควรเน้นขายอย่างเดียว เปิดโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เผื่อจะได้ไอเดียใหม่ ๆ แถมงานยังออกมาสนุกเนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์ได้เป็นตัวของตัวเอง

  • ให้เกียรติเอเจนซีและอินฟลูเอนเซอร์ในการทำงาน

เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น และทำงานตามหน้าที่ภายใต้ข้อตกลงที่กำหนด ไม่ควรจะบังคับหรือทำงานด้วยชุดความคิดที่ว่า “ฉันคือลูกค้าฉันไม่ผิด” “ฉันเป็นแค่ตัวกลาง ฉันไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้” หรือ “ฉันเป็นคนสร้างคอนเทนต์ ฉันจะทำอะไรก็ได้”

ทุกฝ่ายควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อให้การทำงานออกมาราบรื่น และยังอาจส่งผลให้มีความสัมพันธ์อันดีจนอาจสานต่อเป็นคอนเน็กชันในระยะยาวอีกก็ได้

รวมถึงแบรนด์ควรมีความจริงใจทั้งต่อเอเจนซี อินฟลูเอนเซอร์ และผู้บริโภค โดยที่ไม่ทำงานแบบควบคุมฝ่ายอื่นมากจนเกินไป และต้องซื่อสัตย์ในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาทุกครั้ง

  • ตรวจสอบงานให้ละเอียดทุกขั้นตอน

แบรนด์ควรตรวจสอบงานให้ละเอียดก่อนเสมอ แน่นอนว่าในการทำงานต้องมี Working Timeline และข้อตกลงชัดเจนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแบรนด์จะมีโอกาสรับรู้ไอเดียและทิศทางในการทำงานก่อนเริ่มทำจริง รวมถึงขั้นตอนในการตรวจสอบงานก่อนเผยแพร่งาน

แบรนด์ควรใช้โอกาสเหล่านั้นให้คุ้มค่าในการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม เพื่อปล่อยแต่งานที่มีคุณภาพออกไปนั่นเอง

  • ตระหนักและรับผิดชอบประเด็นสังคม

ควรใส่ใจถึงประเด็นสังคม อาจเสนอไปถึงฝั่งอินฟลูเอนเซอร์ หรือรับข้อเสนอจากอินฟลูเอนเซอร์ก็ได้เช่นกัน รวมถึงควรมีจุดยืนที่ชัดเจนในการสื่อสาร หากมีสิ่งใดที่ขัดต่อความเชื่อของแบรนด์ หรือส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมแบรนด์ควรรีบ Take Action และป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ตามมา

ควรคำนึงถึงความหลากหลายในสังคม ยอมรับ และผลักดันประเด็นทางสังคมต่าง ๆ เพื่อเป็นกระบอกเสียงแทนผู้คน สิ่งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แล้วย ยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ดีเลยทีเดียว

เอเจนซี

  • เข้าใจทุกฝ่าย และเป็นตัวกลางในการสื่อสารที่ดี

เนื่องจากเอเจนซีได้ชื่อว่าเป็นคนกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ จึงต้องทำความเข้าใจทั้งในฝั่งแบรนด์ว่าเป้าหมายและความต้องการของแบรนด์คืออะไร รวมถึงต้องค้นหาและนำเสนออินฟลูเอนเซอร์ที่ตอบโจทย์แบรนด์

เพื่อให้สามารถหาตรงกลางระหว่างทั้งสองฝ่ายสำหรับการทำข้อตกลงในการทำงานร่วมกันได้ นอกจากนี้ทักษะในการจัดการทั้งงานและคนก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเอเจนซี เนื่องจากความเป็นสื่อกลางจำเป็นต้องมีการสื่อสารระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

  • เป็นที่ปรึกษาและผู้ให้คำแนะนำที่ดี

เอเจนซีที่ดีต้องสามารถเป็นที่ปรึกษาและผู้ให้คำแนะนำที่ดีได้ในทุกด้านที่เกี่ยวกับงาน พร้อมมีแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย รวมถึงพร้อมอยู่กับทั้งสองฝ่ายในทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะดีและร้าย

สวมบทเป็นผู้ให้คำแนะนำที่ดีกับทั้งสองฝ่าย เพื่อหาตรงกลาง และให้งานออกมาดีที่สุด

  • มีความเชี่ยวชาญในสายงาน

ควรมีความเชี่ยวชาญในทุกด้านทั้งในการทำงานกับแบรนด์ และการประสานงานกับอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงทักษะอื่น ๆ ที่เอเจนซีควรจะมี เพื่อให้สมกับที่แบรนด์ไว้ใจเลือกให้ดูแลแคมเปญ และที่อินฟลูเอนเซอร์ยินดีตกลงร่วมงานด้วย

การทำงานอย่างเชี่ยวชาญจะช่วยอุดรอยรั่วปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการดำเนินงาน หรือแม้แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้วก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีไหวพริบนั่นเอง

  • หาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

เอเจนซีเปรียบเสมือนคนกลางที่ต้องคอยประสานงานระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ เพราะฉะนั้นนอกจากจะต้องทำความเข้าใจทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังต้องพร้อมที่จะหาทางเลือกที่ดีที่สุดในทุกกรณีไว้สำหรับทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกเสริมต่าง ๆ Worst Case หรือแผนสำรองเมื่อยามต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น เพื่อให้งานออกมาดี และทุกฝ่ายพึงพอใจมากที่สุด

  • ให้เกียรติแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์

ทำงานอย่างเต็มที่ ดูแลทั้งแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์โดยไม่โอนเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมถึงควรหาทางเลือกที่ดีที่สุดไปเสนอให้กับทั้งสองฝ่าย เปิดโอกาสและให้อิสระในการทำงาน

  • ตระหนักและรับผิดชอบประเด็นสังคม

หากเอเจนซีมีความตระหนักและรอบบรู้ต่อประเด็นสังคมมากพอก็จะสามารถช่วยออกความคิดเห็น เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาในการช่วงตรวจสอบคอนเทนต์ที่จะผลิตออกไปได้

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคอนเทนต์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม ที่สุดท้ายแล้วจะย้อนกลับมาที่แบรนด์ เอเจนซี และตัวอินฟลูเอนเซอร์เอง

อินฟลูเอนเซอร์

  • เข้าใจจุดประสงค์ของแบรนด์

นอกจากจะให้แบรนด์เข้าใจจุดประสงค์ของอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ตัวอินฟลูเอนเซอร์เองก็ควรเข้าใจจุดประสงค์ของแบรนด์เช่นกัน เรียกว่ามาคนละครึ่งทาง เพื่อทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ตามเป้าหมาย

เลือกรับแบรนด์ที่มีความใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ เพื่อความเป็นธรรมชาติ และประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น

  • คุยข้อตกลงให้ชัดเจน

ก่อนเริ่มงานทุกครั้งต้องมีการคุยข้อตกลงร่วมกันให้ชัดเจน ทั้งในเรื่องของแนวทาง สโคปงาน ลิขสิทธิ์ ค่าจ้างต่าง ๆ และควรจดสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักฐาน

เพราะถ้ามีการพูดคุยรายละเอียดต่าง ๆ ที่ชัดเจน จนทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้ว การดำเนินงานก็จะเป็นไปตามข้อตกลงอย่างราบรื่น ถึงให้มีข้อผิดพลาดก็มีหลักฐานที่คุยกันไว้ตั้งแต่ตอนแรก เพื่อป้องกันการเข้าใจที่ไม่ตรงกันและการเสียเปรียบในการทำงานนั่นเอง

  • เป็นตัวของตัวเองและกล้าเสนอไอเดีย

ได้ชื่อว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างสรรค์คอนเทนต์เป็นประจำอยู่แล้ว หากมีสไตล์หรือความคิดในแบบของตัวเอง อย่ากลัวที่จะเสนอไอเดียเหล่านั้น เพียงเพราคิดว่าทำแบบนี้แบรนด์น่าจะไม่ชอบ

เพราะหากลองเสนอไอเดียไปอาจถูกใจแบรนด์ หรืออาจเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งแบรนด์และเอเจนซีได้ช่วยกันโยนไอเดียต่อยอดจากสิ่งที่คิดจนกลายเป็นไอเดียสุดบรรเจิดก็ได้

แต่ที่สำคัญต้องอย่าลืมความเป็นตัวเองเด็ดขาด เพราะการที่อินฟลูเอนเซอร์มีจุดยืนที่ชัดเจนมาจนถึงตรงนี้ได้ก็เพราะความเป็นตัวเอง และคนที่ติดตามก็ชอบความเป็นตัวเองเหล่านั้นของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์

เพราะฉะนั้นจงอย่าสูญเสียความเป็นตัวเองเพื่อใคร ไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาอาจทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ติดตามผิดหวัง แย่ไปกว่านั้นก็อาจรู้สึกไม่ดีทั้งกับตัวอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ไปเลยก็ได้

  • ผลิตคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และมีคุณค่า

ไม่จำเป็นต้องกระโดดไปเล่นกับทุกกระแส เพราะบางอย่างอาจไม่เหมาะสมและนำไปสู่ภาพลักษณ์ หรือกระแสตอบรับที่ไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นจึงควรคำนึงถึงภาพลักษณ์ของทั้งตัวเอง แบรนด์ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายในการสร้างคอนเทนต์

ทางที่ดีควรผลิตแต่คอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และมีคุณค่า เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแฮปปี้

  • จัดการระบบการทำงานอย่างมืออาชีพ

ควรมีการจัดการระบบการทำให้ชัดเจนว่าขั้นตอนการทำงานแต่ละขั้นเป็นอย่างไร และแจ้งให้ทางเอเจนซีทราบตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานร่วมกัน

เมื่อมี Working Timeline ที่แน่นอน ก็ควรแบ่งทีม จัดตารางเวลาให้ชัดเจน จากนั้นปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือข้อผิดพลาดตามมาภายหลัง

  • ให้เกียรติแบรนด์และเอเจนซี

ควรให้เกียรติในการทำงานร่วมกับแบรนด์และเอเจนซี โดยการเข้าใจกัน นำใจเขามาใส่ใจเรา และทำงานให้เต็มที่ให้สมกับที่แบรนด์และเอเจนซีเลือก

รวมถึงควรรับฟังความคิดเห็นจากทางแบรนด์และเอเจนซีด้วยใจที่เปิดรับ มีความตรงต่อเวลา และมีความจริงใจกับทุกฝ่าย เพื่อให้การทำงานราบรื่นและผลงานออกมาดีนั่นเอง

  • ตระหนักและรับผิดชอบประเด็นสังคม

ในฐานะที่เป็นคนสร้างคอนเทนต์ ควรมีความใส่ใจถึงประเด็นสังคม รวมถึงควรรับผิดชอบประเด็นสังคม ไม่ผลิตคอนเทนต์ที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ ดูหมิ่น เหยียด หรืออะไรก็ตามแต่ที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นและสังคม

นอกจากนี้ ยังสามารถนำประด็นทางสังคมมาผสมผสานกับคอนเทนต์ เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนให้ทั้งกับตัวเอง และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save