หลังจาก Twitter มีปัญหามากมาย ตั้งแต่วันแรกที่ “อีลอน มัสก์” เข้ารับตำแหน่ง CEO จากทั้งไล่ผู้บริหารระดับสูงทั้ง CEO, CFO และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฏหมาย การไล่พนักงานออก ไหนจะรวมพนักงานที่สมัครใจออกเองกว่าอีก 1,000 คน เนื่องจากการปรับนโยบายการทำงานใหม่ที่ฮาร์ดคอร์กว่าเดิม เพื่อลดค่าใช้จ่าย และโฟกัสให้สร้างรายได้ได้มากขึ้น
มัสก์ได้มีนโยบายปรับลดพนักงาน โดยไล่พนักงานออกจากในเดือนกันยายนที่มีพนักงานจำนวน 7,500 คน ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 2,700 คนเท่านั้น ผู้คนสังเกตได้ว่าหลังจากพนักงานออกไปจำนวนมากก็ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง
จนพนักงานเก่าที่ออกไปออกมาเตือนอีกว่าในอนาคต Twitter อาจล่มสลายจากความตึงเครียดที่ทวีคูณมากขึ้น แต่มัสก์เองก็ยังคงยืนยันว่ายอดการใช้งาน Twitter ยังคงเป็น All-time High อยู่ แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าในอนาคตยอดผู้ใช้งานจะลดลงจริงหรือไม่ และการที่จำนวนพนักงานของ Twitter ลดลงจะส่งผลต่อผู้ใช้งานจริงหรือเปล่า ซึ่งเท่าที่เห็นตอนนี้ผลกระทบด้านการใช้งานก็ไม่น้อยเลยทีเดียว
ทั้งระบบการยืนยันตัวตนที่พังไม่เป็นท่า หลังจาก Twitter Blue เปิดให้คนที่เสียค่าสมาชิกได้รับเครื่องหมาย Verified Account ส่งผลให้บัญชีปลอมสวมรอยเป็นคนดังเพียบ จนต้องระงับไปก่อน
ระบบตรวจสอบลิขสิทธิ์ผลงานที่รวนจนมีผู้ใช้อัปโหลดภาพยนตร์ต่อเป็นเธรดกว่า 50 ทวีต จนเต็มเรื่อง ทั้ง Avatar (2009), The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006), Need for Speed และ SpongeBob SquarePants เป็นต้น
แต่ Twitter ก็ใช้เวลากว่า 2-3 วันกว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และลบคลิปดังกล่าว จึงทำให้มีผู้ใช้ละเมิดกฎหลายคนเลยทีเดียวที่นำภาพยนตร์ที่ติดลิขสิทธิ์มาเผยแพร่ ส่งผลให้ฉุกคิดว่านี่อาจเป็นหนึ่งในผลกระทบที่มาจากการไล่พนักงานจำนวนมากออกก็เป็นได้ จึงทำให้ขาดการมอนิเตอร์เนื้อหาอย่างละเอียดอย่างที่แพลตฟอร์มควรจะเป็น
ซึ่งนี่อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นได้อนาคต การที่ Twitter ไม่สามารถควบคุมและคัดกรองเนื้อหาได้อย่างเหมาะสม อาจทำให้มีเนื้อหาความรุนแรง หรือเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ ภาพโป๊เปลือย ที่ไม่เหมาะกับเด็ก เป็นต้น แม้ว่ามัสก์จะย้ำว่าการจัดการเนื้อหาทางเพศกับสำหรับเด็กเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มให้ความสำคัญอันดับแรก ๆ ก็ตาม
นอกจากนี้ ด้านการยิงโฆษณาก็เกิดปัญหาเช่นกัน มีการรายงานว่าแคมเปญที่ทำการโฆษณาขึ้นพร้อมกับข้อความ ‘Hardcore Antisemitism and Adult Spam’ อยู่ข้าง ๆ แถมบางแคมเปญที่ Pause ไว้ยัง Reactivate เองโดยไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ อีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ ทำให้เหล่านักโฆษณา และนักการตลาดรายใหญ่เลือกหยุดลงเงินกับการโฆษณาบน Twitter ชั่วคราว เนื่องจากประสิทธิภาพการแสดงผลการยิงโฆษณาที่ลดลง และคาดว่าหลายคนคงรอให้แพลตฟอร์มจะหาหนทางแก้ไขส่วนนี้ได้ก่อน จึงจะกลับมาลุยลงโฆษณาแบบเต็มที่อีกครั้ง
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ผู้ใช้บางรายยังรายงานว่ามีผู้ใช้ที่ไม่ใช่ผู้ติดตามของตนเห็นทวีตจากบัญชีส่วนตัวอีกด้วย แต่หลายคนก็ออกมาบอกว่านี่เป็นปัญหาเดิมที่มีอยู่บน Twitter อยู่แล้ว เพียงแค่ดูจะหนักขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น
รวมถึงปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมากมายที่ผู้ใช้งานเริ่มสังเกตเห็นมากขึ้น อย่าง การไม่สามารถดู Reply บนทวีตได้, การเห็นบางทวีตเดิมซ้ำบนหน้าฟีด, การใช้เวลาโหลดนาน, เหล่า Scammer ที่ DM มารบกวน, ทวีต Reply ไปแสดงอยู่เหนือทวีตหลัก และวิดีโอไม่โหลด เป็นต้น
แม้ปัญหาดังกล่าวจะถูกพบเห็นอยู่บ้างบน Twitter แต่ช่วงหลังมานี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ใช้รายงานเกี่ยวกับปัญหายิบย่อยเหล่านั้นเข้ามาเยอะมากขึ้น ถึงจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้แพลตฟอร์มใช้งาน และพบเจอทุกครั้ง ในอนาคตปัญหาต่าง ๆ ก็อาจสะสมกันจนก่อให้เกิดผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน
จนอาจส่งผลให้ผู้ใช้เริ่มมองหาแพลตฟอร์มอื่น ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุนี้เลยทำให้มัสก์พยายามดึงบุคคลดังที่เคยถูกแบนบน Twitter ให้กลับมาบนแพลตฟอร์มหรือไม่ โดยการสร้างโพลสำรวความคิดเห็นอย่างคนแรกที่มัสก์นำกลับมาคือ อดีตประธานาธิบดีสหัรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งทรัปม์ก็ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าจะไม่กลับมาใช้ Twitter และขออยู่บน “Truth Social” แพลตฟอร์มของตัวเองดีกว่า
แต่ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะมัสก์ยังคงเริ่มสร้างPoll สอบถามเพิ่มเติมว่า หากบัญชีที่ถูกระงับไม่ได้ทำผิดกฏหมาย หรือเกี่ยวข้องกับสแปมที่ร้ายแรง ควรจะให้โอกาสบัญชีเหล่านั้นกลับมาบนแพลตฟอร์มดีหรือไม่ ซึ่งผลโพลตอนนี้เห็นด้วย 72.3% (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ย. 65) แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่ามัสก์จะมีแพลนเริ่มปลดแบนบัญชีเหล่านั้นเมื่อไหร่
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มัสก์ไล่พนักงานออกอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ในความจริงแล้วอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้ แต่สิ่งที่แน่นอนคือมัสก์มั่นใจกับการบริหารรูปแบบใหม่ และคิดว่ากำลังนำพา Twitter ไปถูกทางแล้ว
แถมเมื่อเสร็จสิ้นการลดจำนวนพนักงานลงมัสก์ยังเริ่มเปิดรับพนักงานเพิ่ม โดยเน้นไปที่ฝ่ายวิศวกรรม และฝ่ายขาย รวมถึงกระตุ้นให้พนักงานแนะนำคนที่รู้จักให้มาสมัครงานอีกด้วย นอกจากนี้แผนในอนาคตมัสก์ยังกล่าวว่าอาจจะกระจายศูนย์การทำงานให้มีทีมเฉพาะแต่ละประเทศ
แม้การทำงานของมัสก์ในฐานะ CEO ของ Twitter อาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นช่วงเวลาในการลองผิดลองถูกเพื่อปรับโครงสร้างต่าง ๆ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าจับตามองว่ามักส์จะพา Twitter ผ่านความโกลาหลนี้ และไปถึงฝันที่ตั้งไว้ในแบบที่ถูกใจทุกฝ่ายได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง: