สรุปบรรยากาศและเนื้อหาจากงาน iCreator Conference 2019 รวมคนทำคอนเทนต์ในไทย

จบไปแล้วสำหรับงาน iCreator Conference 2019 งานรวมตัวกันของนักทำคอนเทนต์ในไทยที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจัดในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2019 ที่สามย่านมิตรทาวน์ โดยเว็บไซต์ RAiNMAKER เต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกนำมาแชร์จากเหล่าคนทำคอนเทนต์ทั่วฟ้าเมืองไทยที่มาถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ ในแวดวงคอนเทนต์ และผู้ที่อยากจะศึกษาไปจนถึงการทำให้การทำคอนเทนต์กลายมาเป็นอาชีพจริง ๆ

วันนี้ทีมงานรวมรวมบรรยากาศและเรื่องราวที่ถูกนำมาบอกเล่าในงาน iCreator Conference 2019 มาให้ได้ชมกัน

  • ภายในงานแบ่งออกเป็นช่วง Keynote เปิดช่วงเช้า ประกอบไปด้วยการพูดถึงภาพรวมของคอนเทนต์ในเมืองไทย การปรับตัว รวมไปถึงมุมมองของแบรนด์และ Platform เองที่มีต่อวงการคอนเทนต์
  • ช่วงบ่ายเป็นการแยกห้องออกเป็น 3 ห้องได้แก่ Media, Creative และ Geek ซึ่งรวมเนื้อหาเชิงลึกในแต่ละมุมให้เลือกฟังกันโดยมี Speaker ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายนั้น ๆ ครองคลุมกระบวนการตั้งแต่การคิดไอเดียไปจนถึงการทำกราฟฟิกหรือเขียนโปรแกรมเพื่อถ่ายทอดคอนเทนต์ออกมา
  • มีการจัด iCreator Clinic เปิดโอกาสให้ได้มาลงทะเบียนแล้วนั่งคุยกับ Creator ที่เราชื่นชอบหรืออยากได้รับคำปรึกษาเชิงลึกเป็นพิเศษ

สรุปภาพรวมของคอนเทนต์ในเมืองไทย

ปัจจุบัน Content Creator มีโอกาสในการเติบโต เนื่องจากคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือวันละ 5.13 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ย Organic ของ Facebook Post อยู่ที่ 7.9 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภค 78 เปอร์เซนต์สนใจแบรนด์ที่ทำ content มากกว่า และผู้บริโภค 70 เปอร์เซ็นต์ เชื่อถือแบรนด์ที่สร้าง content มากกว่า ads เพียงอย่างเดียว ทำให้ทุกคนมองข้ามเรื่อง content ไม่ได้อีกต่อไป

มีการพบว่าความเชื่อหลายอย่างถูกทำลาย เช่น ในสหรัฐเด็กอยากเป็น YouTuber มากกว่านักบินอวกาศ หรือเด็ก 7 ขวบทำเงินจาก YouTube ได้ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่างจากเมื่อก่อนที่รายได้ของ YouTuber มาจากศิลปิน

ในไทยเองก็มีปรากฎการณ์ด้านคอนเทนต์ใหม่ ๆ หลายกรณี เดิมเชื่อว่า storytelling แล้วบอกชื่อแบรนด์ทีหลังเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ พี่เอ็ด 7 วิ สร้างคลิปที่บอกว่านี่คือโฆษณาโดยตรงแล้วได้รับการตอบรับดี หรือบังฮาซัน live ขายของบน Facebook ทำจากจังหวัดสตูล สะท้อนให้เห็นว่าเราทำ content จากที่ไหนก็ได้ ส่วน Spaceth.co ผลผลิตของคนรุ่นใหม่ ที่ทำเว็บอวกาศชื่อดังออกมาได้ แม้กระทั่งคอนเทนต์แบบ Podcast ที่บูมจนมีมากกว่า 100 รายการ และท้ายที่สุด การจัด Debate การเมืองระดับประเทศก็มาจากสื่อออนไลน์อย่าง The Standard ได้

ภาพรวมของ Platform อย่าง YouTube และ Facebook

เรื่องราวของ Platform ที่เป็นศูนย์รวมคอนเทนต์หลายรูปแบบ ในปีที่ผ่านมาก็มีการปรับปรุง เพิ่มเติม และสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเช่นกัน

คุณมุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย ขึ้นเวทีงาน iCreator Conference 2019 ไม่ใช่แค่เพื่อยืนยันเรื่องนี้ แต่ยังเพื่อบอกเราว่า YouTube อยู่ตรงไหนในโลกออนไลน์ ณ เวลานี้ YouTube ไม่ใช่เพียงแพลตฟอร์มที่ให้คนมาโยนวิดีโอลง แล้วก็รอให้คนมาดู แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากจะเล่าเรื่องของตัวเอง

ละเพราะทุกคนในโลกต่างเข้าถึง YouTube ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ ในทุก ๆ นาทีที่เรากำลังพูดอยู่ มีวิดีโอถูกอัพโหลดขึ้น YouTube 500 ชั่วโมงต่อ 1 นาที พูดง่าย ๆ มีคนอยากนำเสนอเรื่องราวของตัวเองต่อคนทั่วโลกตลอดเวลา สิ่งที่ YouTube ทำมาตลอดก็คือ เขาพยายามเข้าใจ user ว่าใช้ชีวิตยังไงบนแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งก็พบว่า ปัจจุบัน 9 ใน 10 ของคนไทยที่ออนไลน์ได้ ใช้ YouTube กันทั้งวันในทุก ๆ เดือน ที่สำคัญ พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นทั้งคนในกรุงเทพและคนนอกเขตเมือง

คุณป็อปปี้ Strategic Partner Manager, Creators and Public Figures จาก Facebook ได้มาแนะนำ Tips & Tricks สำหรับ Creator โดยเฉพาะในหัวข้อ “Facebook Tools For Content Creator” เจาะลึกเครื่องมือที่ครีเอเตอร์ควรรู้บน Facebook โดย Mission ของ Facebook คือเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลก ซึ่ง Creator เองก็เป็นส่วนสำคัญใน mission นี้ โดยฟีเจอร์เด่นที่กำลังในตอนนี้ของ Facebook ก็คือ VDO Surfaces ได้แก่ Facebook Watch, News Feed, Groups, IGTV, Stories นั่นเอง

สิ่งที่มาแรงใน Facebook และ Instagram ตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้น Story ซึ่งตอนนี้โตมาอยู่ที่ 1 พันล้านสตอรี่ต่อวัน มีคนใช้มากกว่าห้าร้อยล้านคน

และสุดท้ายคือ ตอนนี้ Facebook กำลังดัน Creator studio ฟีเจอร์หลังบ้านที่มีการปรับโฉมรูปแบบใหม่ ที่สามารถดู perfomance ของ IG ได้ด้วย โพสท์คอนเทนต์ลง IG ได้ ไม่ต้องใช้มือถืออีกแล้ว สามารถเข้าไปดูสถิติแฟนของเราได้ว่า ชอบดูคอนเทนต์อะไร มี engange กับอะไรมากที่สุด

ก้าวต่อไปของสื่อออนไลน์จาก The Standard, The MATTER, MangoZero

ปัจจุบัน สื่อออนไลน์ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญต่อสังคมชนิดก้าวกระโดด ว่าแต่…ก้าวต่อไปของพวกเขาคืออะไรล่ะ? เรามีสามหัวเรือใหญ่ของสามสื่อออนไลน์สามสไตล์ มาช่วยเราให้ฟังแบบเข้าใจง่าย และเห็นภาพ คือ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD, หวี-พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The MATTER และเอ็ม-ขจร เจียรนัยพาณิชย์ Managing Director แห่ง Mango Zero

คุณเคนมองว่า ตอนนี้คอนเทนต์ออนไลน์เหมือนมหาสมุทรที่ทุกคนเล่นกันหมด การจะทำยังไงให้แตกต่างคือโจทย์ เช่นเดียวกับการทำสิ่งที่เป็น “original” บิล เกตส์ เคยพูดว่า Content is King ตัวคุณเคนเคยบอกว่า Presentation is Queen แต่ตอนนี้ Content Strategy is ‘Kingdom’

คุณหวีบอกว่า ถ้ามองในมุมคนทำสื่อเอง นี่คือปีที่สาหัสมาก กลับกัน ถ้ามองในมุมคนอ่าน นี่เป็นปีทองเลยนะ มีอะไรเกิดขึ้นเยอะมาก ขนาดที่ถ้ามองกลับไป 2-3 ปีที่ผ่านมาก็อาจจะจินตนาการไม่ออกว่ามันจะเป็นอย่างนี้ หรือเอาง่ายๆ สามปีก่อนคนยังแยกไม่ออกว่าแต่ละเว็บต่างกันยังไง (แต่ปีนี้คนแยกออกแล้ว)

คุณเอ็มเสริมจากความเห็นของทั้งสอง เชื่อว่าตอนนี้สื่อออนไลน์เหมือนช่วงที่นิตยสารเฟื่องฟู เช่น มีนิตยสารผู้หญิง 5 หัวที่ดูเผิน ๆ ก็เหมือนกันในเรื่องเนื้อหา แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดก็จะรู้ว่า คาแรกเตอร์ของแต่ละหัวคืออะไร

เมื่อแบรนด์ใหญ่ ก็ต้องทำคอนเทนต์ How Brand Adopt Content Marketing

สำหรับหัวข้อ How Brand Adopt Content Marketing หรือแบรนด์ต่างๆ นั้นมีแนวทางในการทำคอนเทนต์อย่างไร ก็ได้ 3 แบรนด์ใหญ่อย่างทาง AIS, KBank และ Mitrtown มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการทำ Content Marketing ที่ได้ผล และมีประสิทธิภาพต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน

AIS โดยคุณศิวลี บูรณสงคราม Head of Brand Management ของ AIS บอกว่า เราต้องมีความกล้าที่จะคิด เราไม่กลัวที่จะนำเสนอ ในปัจจุบันผู้บริหารก็ต้องมีการปรับตัว มีการรับรู้ถึงข่าวสารต่างๆ ต้องพูดภาษาเดียวกันกับผู้บริโภค แต่ CI ของแบรนด์ก็ต้องมีอยู่

คุณจิตราวิณี วรรณกร First Senior Vice President ของ Kasikorn Bank บอกว่า ที่สำคัญคือเราต้องมองมองลูกค้าเป็นตัวของตัวเอง เป็นเป้าหมายแบบเดี่ยวๆ ที่แตกต่างกันไปแต่ละคนให้มากขึ้น ก็คือต้องทำแบรนด์ให้ปรับตัวไปกับสิ่งที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

ส่วนคุณจตุรวิธ ฉัตตะละดา Brand Strategy & Innovation ของ Samyan Mitrtown บอกว่าแนวทางที่แบรนด์ต้องปรับตัวคือต้องเร็ว เพื่อรองรับลูกค้าลูกค้าที่เข้ามา และรู้จักลูกค้าว่าต้องไดรฟ์ในเรื่องอะไร ที่สำคัญคือเรื่อง Customer Experience เพราะลูกค้าจะไม่เชื่อ ถ้าเราไม่มีบริการที่ดีจริง จึงต้อง partnership เพื่อสร้างประสบการณ์ดีๆ และให้ลูกค้ากับเรา

เนื้อหาจากห้อง Media รวมเรื่องราวของสื่อสำหรับนักสร้างคอนเทนต์

LINE for Content Creator 44 ล้าน คือตัวเลขของผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสีเขียว Line ในปี 2019 และทุกวันนี้ ชีวิตเราก็แทบจะผูกติดกับไลน์แบบใกล้ชิด 24 ชั่วโมง ทุกวัน (Life on Line 24/7) คนใช้สมาร์ทโฟน 200 นาทีต่อวัน ไลน์ก็กินเวลาไป 30% หรือตกประมาณหกสิบนาทีต่อวันแล้ว มากกว่าการเป็นแอปพูดคุย ตอนนี้ไลน์แตกไลน์เพื่อตอบโจทย์การใช้งานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อบันเทิง การเงิน หรือการขนส่ง ผลที่ตามมาคือ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็สามารถต่อยอดฟังก์ชั่นของไลน์ในการสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ เช่น Line Official Account หรือ Line Ads Platform

Podcast 101 พลสัน นกน่วม / กตัญญู สว่างศรี GetTalks เล่าว่าเมื่อพอดแคสต์เริ่มแมส คนเลยลองทำพอดแคสต์เองมากขึ้น มองเร็วๆ ทุกวันนี้น่าจะมีเกิน 70 – 80 รายการ สื่อใหญ่เล็กหลายสื่อก็เริ่มทำพอดแคสต์ของตัวเองแล้ว ขณะที่อีกหลายเจ้าก็เล็งที่จะทำในอนาคต หาให้เจอว่า เราจะเล่าเรื่องนั้นๆ ด้วยท่าทีแบบไหน่ายขึ้น ครีเอเตอร์เองก็มีหนทางในการปล่อยผลงาน บวกกับการใช้โซเชียลมีเดียของเรา ๆ ในตอนนี้ไม่ใช่แค่ Tools แต่เป็นพฤติกรรมและเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว

Real-time Content for Brand ความไวไม่ใช่เรื่องของปิศาจเท่านั้น ยังเป็นเรื่องของการผลิตเนื้อหาแบบ Real Time ด้วย Pentel จะทำคอนเทนต์ที่เร็วทันกระแส เพื่อวกกลับมาขายผลิตภัณฑ์เครื่องเขียของตัวเองอย่างสนุก Major Group เริ่มจากว่า โชคดีของเมเจอร์ที่เป็นโรงหนัง และหนังก็เป็นสิ่งที่คนพูดถึงกันมากอยู่แล้ว สิ่งที่เมเจอร์ต้องทำก็คือ หาทางสร้างเอกลักษณ์ในการโปรโมทคอนเทนต์ Grab จะเน้นการตอบสนองที่รวดเร็ว จังหวะในการทำคอนเทนต์ต้องแม่นยำ และอิงไปตามกระแสที่เข้าถึงคนหมู่มาก (วันหยุด เทศกาล อีเวนต์ ละคร หรือสิ่งที่คนส่วนรวมเจอ เช่น ฝุ่น PM 2.5)

How to Create Effective Interview คุณเบลล์ Editor in Chief – a day เชื่อว่าการสัมภาษณ์เป็นมากกว่าการออกไปถามอะไรสักอย่างกับใครสักคน และการออกไปสัมภาษณ์แต่ละครั้ง ก็ให้อะไรเขากลับมามากกว่าแค่ชิ้นงานสัมภาษณ์ 1 ชิ้น พยายามมองให้เห็นความธรรมดาในคนพิเศษ มองให้เห็นความพิเศษในคนธรรมดา

The Art of Storytelling และท่ามกลางเพจท่องเที่ยวร้อยหมื่น กับเพจสัตว์เลี้ยงอีกนับพัน เราเห็นสองเพจที่เล่าเรื่องโดดเด่นเหนือใคร นั่นคือ คุณมิ้นท์ – มณฑล กสานติกุล I Roam Alone บอกว่าการทำคอนเทนต์เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ และ “เราอยากพูดอะไรกับคนดู”  และ คุณยอร์ช – สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ Gluta Story  บอกว่าตัวเองเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ถนัดทำวิดีโอและเล่นกับหมาเก่งมาก เลยถ่ายวิดีโอให้เห็นว่าตัวเองเล่นกับหมาเก่งมาก ให้ภาพเป็นตัวเล่าเรื่อง”

From Brief to Creative Idea ญาณวุฒิ จรรยหาญ หรือพี่เอ็ด (ซึ่งมีชื่อเล่นจริงๆ ว่าเอ็ดดี้) เริ่มเล่าเรื่องตัวเองตั้งแต่วิที่ 1 ว่า ‘พี่เอ็ด 7 วิ’ เกิดขึ้นเพราะเสือร้องไห้มีมูลค่าทางโฆษณาสูงเกินไป เลยสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้น หลายๆ เพจที่มีสปอนเซอร์เข้า ต้องพยายามไทอินสินค้าให้แนบเนียนที่สุด เพื่อไม่ให้เสียอรรถรสของการชมคอนเทนต์ แต่เพจพี่เอ็ดเลือกจะขายตรงๆ ขายให้รู้ว่าขาย ด้วยลีลาท่าทางเฉพาะตัวที่คนจำได้ นั่นคือการแต่งเพลงแรป

เนื้อหาจากห้อง Creative วิธี เทคนิค เคล็ดลับในการคิดงาน

Twitter for content creator How to Be on twitter เราจะอยู่ในทวิตเตอร์ได้อย่างไร? สิ่งสำคัญคือการใช้แฮชแท็ก (#) เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่นิยมใช้ see what’s happening และ follow interest เมื่อเห็นข้อมูลที่สนใจ ก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคอนเวอเซชันนั้น ๆ และติดตามโดยใช้แฮชแท็ก โซลูชันอื่นๆ ที่ทำให้เรา get going on twitter ได้ไวขึ้นก็เช่นการติดเทรนด์นั้นขึ้นกับจำนวนคนโพสต์ ความถี่ และความสำคัญของวันนั้นๆ แต่แบรนด์สามารถซื้อได้หนึ่งแบรนด์ต่อหนึ่งวัน

How to be Effective Customer ในทุกวันนี้ใครๆ ก็ทำวิดีโอได้ และลูกค้าบางคนนั้นยังไม่รู้ว่าต้องคอมเมนต์งานอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ เทคนิคจาก Salmon House บอกว่า Objective ยิ่งลึก ยิ่งเฉพาะเจาะจง ยิ่งได้ผล เพราะคนทำงานจะได้ทราบปัญหา และจะได้รู้ว่าเราควรจะเข้าไปในช่องไหน จนในที่สุดในหนังโฆษณาที่ตรงเป้าหมาย ซึ่งไม่ได้ทำนานมาก แต่ผ่านการปรึกษากับลูกค้ามาแล้ว ถ้า Objective ที่ตั้งใจมันออกมาในหนังแล้ว จะไม่มีการมาถกเถียงกันต่อ

สร้างคาแรคเตอร์เด่นให้คนจำบนโลกออนไลน์ โดย Wongnai เริ่มจากหากลุ่มเป้าหมาย ดูว่าแพลตฟอร์มที่จะเราต้องการโฟกัสคืออะไร แล้วดูว่ากลุ่มคนในแพลตฟอร์มนั้นต้องการอะไร ทำคอนเท้นต์ที่มีประโยชน์ ซึ่งจะยังคงอยู่เสมอ โดยการจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์นั้น ต้องสามารถช่วยคนแก้ปัญหา เข้าถึงง่าย ทำตามได้ และเซอไพรซ์ให้คนคาดไม่ถึง หลังจากนั้นก็ติดตามอย่างใกล้ชิดและละเอียดลึกซึ้งด้วยการเก็บฟีดแบคอย่างคอมเม้นต์ retention rate, complete view เป็นต้น

How to Make Video That’s Engage Online Audience โดย เทพลีลา ลองผิดลองถูกกันจนเจอจริตตัวเอง และ กอล์ฟมาเยือนที่เคยฝืนตัวเอง เลยเหนื่อย จากนั้นก็เปลี่ยนมาถ่ายวิดีโอจนเจอทาง แล้วทำมาเรื่อยๆ

Creative Idea วิธีการคิดนอกกรอบแบบแมส ๆ โดย เต๋อ นวพล  แน่นอนว่าก่อนจะประสบความสำเร็จ หลายคนมักจะเจอ 4 ไลค์ 1 แชร์ หรือการคอมเม้นท์ของเพื่อนว่าอะไรของแก เราต้องผ่านส่วนนี้ออกไปให้ได้ ถ้าทำไปเรื่อยๆ จนดีพอในระดับนึง ก็จะทำให้เรามีความถนัดในด้านนี้เอง

Video That’s Make It Fun For All กฤษณ์ บุญญะรัง หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ Bie The Ska เราจะทำคอนเทนต์อย่างไรให้ดีสำหรับคนดูและลูกค้า โดยใช้ Data Analytic Tools และเรามีเทคนิคที่ใช้ทำคอนเทนต์หลายๆ อย่างที่รวมกันมาจนตั้งชื่อว่า ‘เทคนิค T-Rex’ Brand, Collaboration, Community, Trends, Team, Real, Experience

เนื้อหาจากห้อง Geek เทคนิค เจาะลึก เครื่องมือในการทำคอนเทนต์

การ Live คือรูปแบบการทำคอนเทนต์ที่น่าจับตามอง โดยคุณปิยนันต์ ชวเลขยางกูล Board of Director Frog Digital Group และคุณชวิศ หินเงิน Chief Executive Officer ของ LiveTube ยุคนี้เป็นยุคทองของการทำไลฟ์ โดยไลฟ์มีสามกลุ่มหลัก ๆ คือเกมเมอร์ ขายของออนไลน์ และการศึกษา รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ เช่น งานอีเว้นท์

Web Optimize 4.0 For Mobile สำหรับเจ้าของเว็บไซต์ในยุคปัจจุบัน ที่ต้องออกสู่ตลาดผ่านแพลตฟอร์ม Mobile เป็นหลัก คุณจักรกฤษณ์ ตาฬวัตน์ จาก Seed Themes บอกว่า คนกว่า 80% เข้าเว็บผ่านมือถือ แต่คนทำเว็บส่วนใหญ่เริ่มจากคอมพิวเตอร์ เราจึงควรทำเว็บให้เร็ว

Traditional Media Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านจากสื่อเก่าที่จับต้องได้ เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ กลายมาเป็นเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์ออนไลน์น่าสนใจมากมาย คุณภัทรีพันธ์ Editor in Chief ของ Praew.com เราไม่ได้ทำนิตยสารออนไลน์ monthly แต่เราทำ daily ให้ทันชาวบ้าน และคุณญัฐกร เวียงอินทร์ Editor in Chief ของ The People  เราจะสร้าง branding เพื่อให้คนติดตามมากกว่าการเป็นสื่อ เป็นพอดแคสต์, พอคเกตบุ๊ค หรืออีเว้นท์ อยากทำให้เป็น community ที่คนมาคุยกันในเรื่องราวของ The People

SEO Trend for 2020 โดยพรเทพ เขตร์รัมย์ Founder ของ GAT Consultancy SEO มันไม่ใช่การ Optimize ด้วยการใส่ keyword แต่สิ่งที่ Google พยายามบอกคือ การเขียนเป็นภาษาธรรมชาติและเป็นประโยชน์ เพราะ A.I. นับวันยิ่งฉลาด ถ้าไปเขียนล่อบอทจะยิ่งสร้างความสับสน เพราะฉะนั้นแล้ว Good & Clear writing ในยุคนี้และยุคถัดๆไป SEO = Searcher Experience Optimization เพราะ Google รักคนอ่าน ไม่ได้รักคนทำ SEO อย่างผิดธรรมชาติ

UX/UI For Modern Mobile Web กับการออกแบบเว็บไซต์บนมือถืออย่างไรให้สวยงามและเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากที่สุด โดยอินทนนท์ ปัญญาโสภา Co-Founder ของ Grappik เหตุผลที่ต้องมีเว็บคือ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างๆ รวบรวมข้อมูลเราไว้เสมอ ไม่ไหลหายเหมือนกับ Social Media และดีต่อ SEO เว็บไซต์ที่ดีต้องสวย และใช้ดีกับ User

WordPress for Content Creator โดยพรรณทิพย์ ตรีรัตนาพิทักษ์ และ วิทยา สันติวิทยวงศ์ WordCamp Asia Local Lead Organizer บอกว่า Gutenberg (ระบบการเขียนใหม่ของ WordPress) มองทุกอย่างเป็นก้อน เหมือนใช้ Power Point เขียน WordPress ผ่านมา 1 ปีมีคนใช้เขียนไปแล้ว 50 ล้านโพสต์ มีฟีเจอร์เพิ่มขึ้น ใช้ง่ายขึ้น คืออนาคตของ WordPress แทนที่การเขียนด้วย Classic editor

สรุปภาพรวมของงาน iCreator Conference 2019

นอกเหนือจากเวทีแล้ว ยังมีกิจกรรม iCreator Clinic ที่เปิดให้ได้มานั่งปรึกษากับ Creator ที่เราชื่นชอบ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี จากที่พูดคุยกับผู้ร่วมงานและวิทยากร ทุกคนมองว่างาน iCreator Conference 2019 นั้นมุ่งเน้นไปที่การเป็น Community ของกลุ่มคนทำคอนเทนต์จริง ๆ

สุดท้ายแล้วเราก็หวังว่างาน iCreator Conference 2019 นั้นจะมีส่วนช่วยให้หลาย ๆ คนลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์อย่างจริงจัง และเชื่อว่าคนทำคอนเทนต์เป็นกลุ่มคนที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง และพร้อมจะสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคมต่อไป

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save