เรียกว่าโซเชียลร้อนเป็นไฟ หลังจากที่เมื่อวานนี้ (13 ก.ค. 66) เป็นวันโหวตนายกฯ คนที่ 30 ทำให้ชาวโซเชียลให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเช้าที่เริ่มมีการอภิปราย จนถึงช่วงโหวตและประกาศผล
จนทำให้มีทั้งแฮชแท็ก และข้อความที่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกฯ ครองอันดับติดท็อปเทรนด์ยอดนิยมบน Twitter กันแบบนาทีต่อนาที ไม่ว่าจะเป็น #โหวตนายก, #นายกพิธา, #ประชุมสภา, #เลือกนายกตามผลเลือกตั้ง
รวมถึงข้อความที่พูดถึงประเด็นดังกล่าวที่ไหลไม่ต่ำกว่า 100,000 ข้อความ จนกระทั่งหลังช่วงที่ประกาศผลว่าพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ยิ่งทำให้กระแสบนโซเชียลคุกกรุ่นยิ่งกว่าเดิม และมีการพูดถึงเรื่องนี้ตลอดทั้งคืน!
ซึ่งทาง Wisesight ได้เก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดียทุกช่องทางทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, TikTok, Pantip, และเว็บไซต์ข่าว รวมถึงการเก็บข้อมูลจากคีย์เวิร์ดและแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 12-13 ก.ค. 66 โดยพบว่า
- จากวันที่ 12 ถึง 13 ก.ค. มีข้อความพูดถึงเรื่องการโหวตนายกฯ เพิ่มสูงขึ้น 10 เท่า
- มีข้อความทั้งสิ้น 285,816 ข้อความ คิดรวมเป็น 50 ล้านเอ็นเกจเมนต์ จากผู้ใช้งานมากกว่า 55,000 คน
- Twitter เป็นช่องทางอันดับ 1 ที่มีการพูดถึงเรื่องนี้เยอะที่สุด คิดเป็น 52% รองลงมาคือ Facebook คิดเป็น 42% และช่องทางอื่น ๆ อีก 6%
- โพสต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุดบน Twitter คือโพสต์ที่ชมสำนักข่าว Thai PBS เรื่องการแสดงผลโหวตแบบเรียลไทม์ พร้อมบอกชื่อและพรรคของคนที่ลงคะแนนชัดเจน ซึ่งมีการรีทวิตไปมากกว่า 150,000 ครั้ง
- จากข้อความทั้งหมด เกิน 64% โพสต์ข้อความไปในเชิงลบ ในขณะที่ 32% มีความเห็นไปในเชิงเป็นกลาง มีเพียง 2% เท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นในเชิงบวก
3 บทสรุปภาพรวมความเห็นบนโซเชียล
ถามหาการเคารพเสียงของประชาชน
ตามที่ผลออกมาว่าพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ทั้งที่ชนะเลือกตั้งโดยเสียงของประชาชน ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “แล้วเสียงของประชาชนยังมีความหมายอยู่หรือไม่?” โดยหนึ่งในโพสต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด ซึ่งมีการรีทวิตมากกว่า 100,000 ครั้ง
มาจากคำพูดในช่วงอภิปรายของส.ส.พรรคก้าวไกลที่กล่าวว่า “หากนายกคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลเลือกตั้ง แล้วเราจะมีผลการเลือกตั้งไปทำไม ประชาชนอยู่ที่ไหนของประชาธิปไตยในประเทศนี้”
ตั้งคำถามว่า ‘งดออกเสียง’ กับ ‘ไม่เห็นชอบ’ ต่างกันอย่างไร?
อย่างที่ทุกคนทราบว่าผลโหวตส่วนใหญ่งดออกเสียง ทำให้ประชาชนมีความเห็นว่าไม่ควรเก็บมาคิดเป็นคะแนน เนื่องจากไม่ต่างจากการลงคะแนนไม่เห็นชอบ ซึ่งข้อความเกี่ยวกับประเด็นนี้ส่วนใหญ่เป็นเชิงลบ และแสดงความไม่พอใจกับผลโหวต
#กกตมีไว้ทำไม
อีกหนึ่งแฮชแท็กที่มาแรงไม่แพ้กัน และมักจะพ่วงติดมาทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องการเมือง โดยเฉพาะล่าสุดที่มีประเด็นเกี่ยวกับการทำงานของกกต. จากกรณีกกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยปมหุ้น ITV
ในประเด็นนี้ มีคนให้ความสนใจโพสต์ของ คุณพอล ภัทรพล ที่กวาดไปมากกว่า 260,000 เอ็นเกจเมนต์ และโพสต์จากคุณติ๊ก เจษฎาภรณ์ ที่ทวีตถามว่า #กกตมีไว้ทำไมคะ ซึ่งมียอดคนดูเกิน 1 ล้านบน Twitter
ขอบคุณข้อมูลจาก Wisesight