การเลือกตั้งครั้งนี้ เรียกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง และอินไซต์ใหม่ ๆ ที่น่าจับตามองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การที่ครีเอเตอร์เข้ามามีบทบาทในการนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น ทั้งรายการ Deep Talk ของป๋าเต็ด, Woody FM หรือ Vlog ทัวร์สำนักงานแต่ละพรรคของ Farose เป็นต้น
รวมถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่มาจากหัวคะแนนธรรมชาติ และความตื่นตัวในการเลือกตั้ง ทั้งการที่มีประชาชนไลฟ์ขณะเฝ้าการนับคะแนนเลือกตั้งแต่ละหน่วย และสื่อออนไลน์ที่สร้างเว็บไซต์รายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์
เรียกว่า โลกออนไลน์ช่วงเลือกตั้ง 66 ในครั้งนี้ ฮือฮากว่าครั้งก่อน ๆ ค่อนข้างเยอะ วันนี้ RAiNMaker เลยสรุปภาพรวมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มาฝากทุกคนกัน!
ครีเอเตอร์เข้ามามีบทบาทกับการเมือง
ในยุคที่ประชาชนโหยหาประชาธิปไตย ในตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่สื่อเท่านั้นที่ออกมาเป็นหูเป็นตาในการเลือกตั้ง เพราะครีเอเตอร์ต่างก็มีคอนเทนต์เชิญเหล่าแคนดิเดตนายก และตัวแทนจากพรรคการเมือง มานั่งพูดคุย แชร์มุมมองการบริหาร และวิสัยทัศน์ในอนาคตประเทศไทยเช่นกัน
นี่จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตย และการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งการเมืองไม่ใช่เรื่องต้องห้ามในบทสนทนาอีกต่อไป เช่นเดียวกับครีเอเตอร์ที่ช่วยกันผลิตคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายการเมืองกันในหลาย ๆ มุมมองก่อนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนั่นเอง
รายการสัมภาษณ์ Deep Talk
รายการสัมภาษณ์เหล่าแคนดิเดตนายก และตัวแทนพรรคการเมืองที่มีคำถามเจาะลึกเรื่องนโยบาย และวิสัยทัศน์ รวมถึงประเด็นความขัดแย้งที่ประเทศไทยต้องเจออย่างตรงไปตรงมา โดยมีทั้งสื่อ และครีเอเตอร์นักสัมภาษณ์ช่วยกันลอกเปลือกให้เห็นภายในของแต่ละพรรคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น WOODY, ป๋าเต็ด, เคน THE STANDARD และ FAROSE เป็นต้น
รายการสัมภาษณ์ Deep Talk ภาษาอังกฤษ
การพูดคุย Deep Talk ภาษาอังกฤษ นอกจากจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่จะสามารถโต้ตอบเวทีโลกได้แล้ว เรายังจะได้เห็นไหวพริบในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน โดยเฉพาะกับรายการ ถกถาม และ AIM Hour ที่แม้จะมีชุดคำถามคนละสไตล์ แต่ก็ทำให้ประชาชนที่ดูสามารถรู้ได้ว่าตัวแทนแต่ละพรรคที่มาร่วมรายการนั้นมีวิสัยทัศน์อย่างไรต่อการเป็นผู้นำประเทศในตอนนี้
แบบทดสอบ Quick Test
แบบทดสอบสั้น ๆ ที่แม้ไม่ได้มีการพูดคุยที่ลึกซึ้ง และเจาะประเด็นเท่ากับสัมภาษณ์ Deep Talk แต่ก็สามารถวัดไหวพริบ และเชาวน์ปัญญาในการตอบของแต่ละพรรคการเมืองได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นแบบทดสอบที่แต่ละคำถามไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน จึงสามารถวัดอุดมการณ์ที่แท้จริงของผู้ที่คู่ควรกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เลย เช่น การถามคำถาม YES or NO เป็นต้น
Voxpop สัมภาษณ์ความเห็นเลือกตั้ง
บางครั้งการสัมภาษณ และพูดคุยก็อาจไม่เพียงพอที่จะเป็นตัวตัดสินใจได้ ทำให้ Voxpop เป็นอีกหนึ่งวิธีในการฟังเสียงของประชาชนว่าเขาคิดกับการเมือง และแคนดิเดตแต่ละพรรคอย่างไร เพื่อเป็นแนวโน้มประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะมีทั้งคนที่เห็นตรง และไม่ตรงกับเรา เลยเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ทำให้สามารถเปรียบเทียบได้นั่นเอง
LIVE นับคะแนนเรียลไทม์ผ่าน Social Media ของประชาชน
ในปีก่อน ๆ การไลฟ์นับคะแนนจะเป็นหน้าที่ของกกต. ที่จัดการเลือกตั้ง แต่มาวันนี้เพราะความที่ไม่ว่าใครก็เป็นสื่อ และเป็นเสียงช่วยจับตาการทำงานที่สุจริตได้ ก็มีทั้งสื่อ และประชาชนร่วมกันไลฟ์ขณะที่ กกต. นับคะแนนการเลือกตั้ง
ซึ่งหากมีตรงไหนผิดแปลกไปหรือน่าสงสัย ก็ร่วมเป็นกระบอกเสียงในการแจ้งความผิดปกติได้ เรียกได้ว่าเป็นอีกยุคที่ได้เปรียบเพราะการใช้ “Social Voice” ที่เป็นประโยชน์มาก ๆ เพราะมีทั้งไลฟ์สถานการณ์สดผ่าน TikTok หรือ Instagram และการรายงานเรียลไทม์บน Twitter ในการไปเฝ้าหีบเลือกตั้งด้วย
Social Media มีนโยบายการเลือกตั้งแบบโปร่งใส
Facebook: เผย Transparancy การยิงแอดทางการเมือง
Facebook เปรียบเสมือนแหล่งยิงแอดการเมือง จึงต้องมีนโยบายอย่าง Ad Library รองรับความถูกต้องในการหาเสียง และโปร่งใสในการซื้อเสียงที่ตรวจสอบได้ เช่น
- เช็กจำนวนแอดที่ยิงได้ทุกพรรคการเมือง เพียงแค่เสิร์ชชื่อพรรคการเมืองที่ต้องการตรวจสอบ ก็จะทราบว่าแต่ละพรรคยิงแอดกันไปเท่าไหร่ และใช้งบแต่ละแอดมากน้อยแค่ไหน โดยไม่ลบประวัติแอดเก่า ๆ แต่จะเลือกช่วงเวลาที่ตรวจสอบได้ รวมถึงใช้แอคเคาท์ไหนในการยิงแอดด้วย
- มีการแสดงงบการยิงแอดจาก Meta Ad Library Report เป็นรายงานที่รวบรวมสถิติ และยอดเงินทั้งหมดที่ทุ่มไปกับการยิงแอดออนไลน์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเทียบการใช้จ่ายจากทุกเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคนั้น ๆ ไปจนถึงแสดงจังหวัดที่มีการยิงแอดเยอะที่สุดด้วย
TikTok: ห้ามยิงแอดการเมือง
TikTok เพิ่มฟีเจอร์ที่ช่วยจัดการความปลอดภัย ดูแลความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งบนแพลตฟอร์ม โดยการเพิ่ม Election Tags, Election Centre และ Election Report Button ที่เป็นเสมือนคลังข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report หรือปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังเพิ่ม GPPPA (Government, Politician, and Political Party Account) หรือการดูแลแอคเคานต์นักการเมือง ที่มาพร้อมข้อจำกัดบัญชีนักการเมือง ดังนี้
- การสร้างรายได้
- การโฆษณา
- การระดมทุนหาเสียง
- การใช้เพลงใน Commercial Music Library
- การให้และรับของขวัญขณะไลฟ์
- การร่วมงานกับกับครีเอเตอร์
เพื่อให้การโปรโมตหาเสียงของพรรคการเมืองบน TikTok เป็นไปอย่างโปร่งใสนั่นเอง
เว็บไซต์นับคะแนน Real-time จากสำนักข่าว
เนื่องจากไม่มีผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์บนเว็บไซต์ของกกต. เหล่าสำนักข่าวและองค์กรจึงอาสาทำเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นตัวแทนในการรายงานผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการก่อน ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ครั้งนี้ถือว่าแทบทุกสำนักข่าวมีเว็บไซต์รายงานผลการเลือกตั้งของตัวเองเลยก็ว่าได้
Visual สวยงาม ดูง่าย
แต่ละเว็บไซต์ก็มาพร้อม Visual ที่โดดเด่นและสวยงาม ที่เห็นได้ชัดเลยคงจะเป็นของ The Standard มาในธีม End Game รายงานคะแนนเรียลไทม์ให้เห็นแถบพลังเหมือน Battle กันอยู่ รวมถึงเว็บไซต์อื่น ๆ ทั้งจาก VoiceTV, workpointTODAY, Vote62, ThaiPBS, Dailynews, The MATTER และอื่น ๆ อีกมากมาย ก็ดีไซน์เว็บไซต์ออกมาสวย ดูง่ายเช่นกัน
เห็นสัดส่วนคะแนนชัดเจน
แต่ละเว็บไซต์ไม่ได้เพียงรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์เท่านั้น แต่มีการทำ Visual แบ่งสัดส่วนคะแนนอย่างชัดเจน ทั้งคะแนนแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ รวมไปถึงคะแนนของแต่ละภูมิภาค จังหวัด เขต และหน่วย
รายละเอียดครบถ้วน
รายละเอียดข้อมูลที่ครบถ้วน นอกจากดูภาพรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนผู้ชนะแต่ละเขต รวมถึงคะแนนของผู้สมัครคนอื่น ๆ ในเขตนั้น ๆ และภาพรวมจำนวนที่นั่งส.ส.แล้ว ยังสามารถดูรายละเอียดได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกดูเฉพาะผลคะแนนที่มั่นใจแล้ว หรือแค่ผลคะแนนคาดการณ์ก็ได้เช่นกัน
Customize พรรคที่อยากให้เป็นรัฐบาลได้
หลายเว็บไซต์มีลูกเล่นให้เลือก Cuztomize จัดตั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ประกอบกับคำนวณผลคะแนนมาให้เสร็จสรรพ เพื่อให้เราได้ลองพิจารณาและดูแนวโน้มความน่าจะเป็นนั่นเอง
เลือกดูตาม Source ของคะแนน
อย่างที่กล่าวไปว่าบางเว็บไซต์สามารถเลือกดูผลคะแนนที่มั่นใจแล้ว หรือแค่ผลคะแนนคาดการณ์ จากการกดเลือกแหล่งที่มาของข้อมูลจากสื่อหรือกกต. เพื่อคอยตรวจสอบความถูกต้อง และคาดการณ์ทิศทางคะแนนได้ด้วย
ร่วมกรอกและคำนวณคะแนนโดยภาคประชาชน
สำหรับเว็บไซต์ของ Vote62 เปิดให้ประชาชนร่วมเป็นอาสาสมัครในการรายงานผลคะแนนจากหน้าหน่วยผ่านเว็บไซต์ โดยการอัปโหลดรูปภาพ กรอกคะแนน เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการนับคะแนนแทนประชาชนทุกคนนั่นเอง
Organic Content จากหัวคะแนนธรรมชาติ
หัวคะแนนธรรมชาติ คือ เหล่าคนที่สนับสนุนพรรคนั้น ๆ และมีการช่วยโปรโมตผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้เอง โดยความสมัครใจ หรือเรียกอีกอย่างว่า UGC (User-generated Content) ซึ่งคนกลุ่มนี้มีพลังอย่างมากที่ช่วยทำให้เกิดการพูดถึง และคอนเทนต์เกี่ยวกับพรรคนั้น ๆ อย่างมากมาย เรียกว่าหลายพรรคได้พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียไปเยอะจากหัวคะแนนธรรมชาติเลยก็ว่าได้
นอกจากคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการเมืองตรง ๆ แล้ว คอนเทนต์ที่ดึงบริบทรายล้อมเกี่ยวกับการเมือง พรรค ตัวบุคคล และการเลือกตั้งในปีนี้ถือว่ามาแรงมาก เป็นจุดสังเกตว่าผู้คนในปัจจุบันให้ความสนใจการเมืองและนำไปผูกกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ตอกย้ำประโยคที่ว่า “ทุกอย่างคือคอนเทนต์” ได้ดีเลยทีเดียว
คอนเทนต์แต่งหน้า / แต่งตัวสีส้มไปเลือกตั้ง
หนึ่งคอนเทนต์ที่หลายคนอาจคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากมายเท่าไหร่นัก แต่สุดท้ายพลังแห่งคอนเทนต์ก็ทำให้เห็นว่าทุกบริบทสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งได้จริง ๆ ซึ่งหนึ่งเทรนด์ที่ว่าก็คือ คอนเทนต์แต่งหน้า และแต่งตัวตามสีพรรคที่ชอบไปเข้าคูหาเลือกตั้ง
บอกเลยว่าแต่ละคอนเทนต์ก็มีทั้งแต่งตัวระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับพร้อมขึ้นเวทีประกวด เรียกว่าครีเอตลุคกันได้อลังการสุด ๆ และสีที่หลายคนเห็นกันมากในวันเลือกตั้งคงจะไม่พ้นคอนเทนต์ชุดสีส้ม
รวมคอนเทนต์เกี่ยวกับเลข 31 และสีส้ม
เขย่าวงการคอนเทนต์การอีกรอบ เมื่อการเมืองกลายเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน จนผู้คนกล้าแสดงความคิดเห็น รวมถึงสอดแทรกเรื่องการเมืองเข้ามาในคอนเทนต์แบบเนียน ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ อย่างที่หลายคนคงเคยเห็นคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเลข 31 และสีส้ม ไม่ว่าจะเป็นการรวมสิ่งของสีส้ม หรือรวมลิสต์รองเท้าผ้าใบ 31 คู่ เป็นต้น
ดูตัวอย่างคอนเทนต์ได้ที่: https://www.facebook.com/rainmakerth/posts/pfbid028jgEj8kUdvAXEhAbDxFj8dVmUAhk6euFFRSiRjgnG7atk6S1URpnqsfur5HVwPGbl
สอดแทรกการโปรโมตผ่านการตลาด
นอกจากหัวคะแนนธรรมชาติจากประชาชนทั่วไปแล้ว ที่เห็นได้ชัดในปีนี้คือ การที่หลายแบรนด์ออกมาแสดงจุดยืนด้านการเมืองอย่างชัดเจน พร้อมกับสอดแทรกคอนเทนต์การเมืองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมตแบรนด์หรือสินค้าของตัวเองอีกด้วย เช่น การใส่ข้อความท้ายใบเสร็จเพื่อช่วยโปรโมตพรรคของร้านค้า หรือการจัดโปรลดราคาเหลือ 310 บาท ซึ่งเป็นเลขของจำนวนที่นั่งของพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั่นเอง
แบรนด์รวมสินค้าคอลเลกชันสินค้าสีส้ม
หรือหลายแบรนด์ก็มีการทำคอนเทนต์โปรโมตแสดงจุดยืนแบบเบา ๆ อย่างการรวมสินค้าที่เกี่ยวกับสีพรรค หรือเบอร์ผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์เครื่องสำอางค์ที่รวมสินค้าโทนส้ม หรือคลินิกเสริมความงามที่ลิสต์บริการ 31 อย่าง
ฟิลเตอร์บน Social Media
ปัจจุบันฟิลเตอร์นับเป็นอีกฟีเจอร์สำคัญบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบน TikTok และ Instagram หลายแบรนด์เองก็ใช้วิธีนี้ เพื่อชวนให้คนมามีส่วนร่วมในแคมเปญ งานนี้หัวคะแนนธรรมชาติก็ไม่น้อยหน้า ฃยันสร้างฟิลเตอร์มาให้ทุกคนเล่นกันสนุกสนาน
ทั้ง ฟิลเตอร์โลโก้พรรคก้าวไกล ที่มีคนเล่น 355K คน และฟิลเตอร์ ใครคือนายกคนที่30ของไทย บน TikTok ที่มีคนร่วมเล่นถึงแสนกว่าคน นอกจากนี้ ยังมีฟิลเตอร์อื่น ๆ มากมาย ทั้งบน TikTok และ Instagram เรียกว่าได้ทั้งความบันเทิงและเป็นการช่วยโปรโมตพรรคไปในตัว
และนี่ก็เป็นภาพรวมความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดบนโซเชียลมีเดียในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ คนให้ความสนใจเรื่องการเมือง และการเลือกตั้งมากขึ้น จนเกิดคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งมหาศาลบนโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
รวมถึงในครั้งนี้ เราได้เห็นบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นของครีเอเตอร์ สื่อออนไลน์ รวมถึงองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เข้ามามีหน้าที่สำคัญในการนำเสนอข้อมูลและคอนเทนต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็น รายการสัมภาษณ์นักการเมือง, Vlog พาทัวร์สำนักงานแต่ละพรรค หรือ Quick Test ที่ดำเนินการโดยครีเอเตอร์ และสื่อ ทั้งที่เมื่อก่อนเราจะเห็นแค่สำนักข่าวใหญ่ ๆ เป็นคนดำเนินการเท่านั้น
นอกจากนี้ เว็บไซต์การรายงานผลแบบเรียลไทม์ พร้อมอาสาสมัครที่ไปติดตามผล และไลฟ์สด สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้น และความใส่ใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ของประชาชนทุกคนเป็นอย่างมาก ในส่วนของโซเชียลมีเดียเอง ก็มีการตั้งนโยบายและขอบเขตในการโปรโมตหาเสียงชัดเจนเช่นกัน
สรุปสั้น ๆ ว่าภาพรวมการเลือกตั้งในครั้งนี้เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ