หากใครเล่นอินสตาแกรม (Instagram) เป็นประจำ น่าจะสังเกตได้ว่าในฟีดของแอปพลิเคชั่นจะมีวิดีโอสั้นหรือ Reels โผล่ขึ้นมาให้เห็นบ่อยขึ้นทั้งจากคนที่เราติดตามและไม่ได้ติดตาม เนื่องจากแพลตฟอร์มเชื่อว่าคอนเทนต์วิดีโอสั้นจะช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้อยู่ในแพลตฟอร์มมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ RAiNMaker มองว่าเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ โดยมีต้นทุนน้อย (ไม่ต้องจ่ายเงินแต่ต้องสร้างสรรค์วิดีโอ) ไปทำความรู้จัก Reels และทริคในการสร้างสรรค์คอนเทนต์กันครับ
Instagram Reels คืออะไร
Reels คือฟีเจอร์วิดีโอสั้นที่ให้ผู้ใช้สร้างสรรค์เนื้อหาวิดีโอที่สนุกสนาน โดยมีความยาวได้สูงสุด 60 วินาที สามารถจัดเรียงคลิป ตัดคลิป ใส่เสียงเพลง เสียงพูด เติมเอฟเฟ็กได้อย่างสร้างสรรค์
โดย Reels จะปรากฎอยู่ในเมนูตรงกลางของแอปพลิเคชั่นอินสตาแกรม และยังสามารถโผล่ในฟีดของผู้ใช้คนอื่นทั้งที่ติดตามเรา และไม่ติดตามเราได้อีกด้วย
ทำไมแบรนด์/ธุรกิจต้องสร้าง Reels
จุดประสงค์การแบรนด์ในการสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียคือเพื่อให้ข้อมูลกับกลุ่มลูกค้า และเพิ่มการรับรู้แบรนด์ไปสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย Reels จึงถือเป็นวิธีที่ประสิทธิภาพอย่างมาก
คอนเทนต์ Reels จะสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมมากกว่าโพสต์ประเภทอื่นๆ จึงสามารถช่วยให้แบรนด์ได้รับความสนใจจากผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย และบัญชีของแบรนด์ก็จะขยายกลุ่มผู้ติดตามได้ยิ่งกว่าเดิม
ทริคในการสร้างสรรค์ Reels ฉบับย่อ
-คอนเทนต์ยอดนิยม
หลักการแรกที่จะทำให้อัลกอริทึมแนะนำวิดีโอให้กับผู้ใช้ในแพลตฟอร์มคือวิดีโอนั้นมีความนิยม กล่าวคือเป็นวิดีโอที่คนดูจนจบ หรือดูซ้ำบ่อย คนกดไลก์เยอะ ตั้งแต่ในช่วงที่อัปโหลดแรกๆ ดังนั้นการสร้างคอนเทนต์ยอดนิยมจะส่งผลต่อการเข้าถึงของวิดีโออย่างมาก
ยกตัวอย่างคอนเทนต์ยอดนิยม เช่น คอนเทนต์เชิงความรู้ นำเสนอการใช้งานของสินค้าและบริการ นำเสนอเบื้องหลังต่างๆ เป็นต้น
-ใช้แฮชแท็กยอดนิยม
การโพสต์ Reels ผู้ใช้สามารถเพิ่มแฮชแท็กได้สูงสุด 30 แฮชแท็กเหมือนกับโพสต์รูปแบบอื่นๆ แต่ Reels จะมีผลลัพธ์มากกว่าเพราะแฮชแท็กที่ใส่จะไปแสดงในฟีดของผู้ชมที่มีความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านั้น
การใช้แฮชแท็กที่ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก วิดีโอสั้นก็จะยิ่งเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากเช่นกัน ทั้งนี้ก็จะมีการแข่งขันแย่งชิงพื้นที่กันในแฮชแท็กยอดนิยมด้วย ดังนั้นจึงต้องใช้ทริคอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
-สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่อัลกอริทึมจะสนับสนุน
คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ อัลกอริทึมจะช่วยให้คอนเทนต์เหล่านี้เข้าถึงผู้ชมในจำนวนที่มากกว่า ‘คุณภาพ’ ในที่นี้หมายถึง การใช้วิดีโอแนวตั้ง, ใช้เอฟเฟ็ก ฟิลเตอร์ ข้อความประกอบ, ใช้เสียงเพลงจากคลังของแพลตฟอร์ม
ตัวอย่างคอนเทนต์ที่คุณภาพต่ำกว่า เช่น วิดีโอความละเอียดต่ำ, วิดีโอเบลอ, วิดีโอไม่เต็ม มีเส้นขอบ, มีข้อความจำนวนมาก, วิดีโอที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของแพลตฟอร์ม (โป๊เปลือย, ภาพความรุนแรง), วิดีโอที่มีลายน้ำจากแพลตฟอร์มอื่น
-สร้าง Challenge
คอนเทนต์ประเภท Challenge เป็นเนื้อหาที่ผู้ชมจะมีส่วนร่วมจำนวนมาก เช่น เทรนด์เอฟเฟ็ก หรือเสียงเพลงที่ท้าทายให้ผู้ใช้คนอื่นๆ มาสร้างสรรค์วิดีโอประเภทเดียวกันได้ หากลองใช้ความเชื่อมโยงระหว่าง challenge กับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ได้ก็จะสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมได้จำนวนมาก
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์ลงในแพลตฟอร์มไหน รูปแบบใดหัวใจสำคัญคือรู้จักกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการ/ชอบรับชมคอนเทนต์แบบไหน รวมไปถึงเทคนิคการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เพิ่มความสนใจแบรนด์และนำไปสู่ยอดขายได้